HIA | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ

     การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะต้องศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน ตามนัยมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ประกอบกับมาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง (๕) แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติที่จะกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการติดตามและประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ ทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ  คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจึงได้มีประกาศคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ พ.ศ. ๒๕๕๒ หลักเกณฑ์ฉบับดังกล่าวเอื้อให้เกิดพัฒนาการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในหลายลักษณะ แต่การดำเนินการตามหลักเกณฑ์ยังเป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น ขาดการนำไปประยุกต์ใช้ในรูปแบบอื่นๆ ให้เหมาะสมตามบริบทของนโยบายสาธารณะและพื้นที่ปฏิบัติการที่หลากหลาย อีกทั้ง นโยบาย โครงการ กิจกรรมการพัฒนา และกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จึงทบทวนและปรับปรุงหลักเกณฑ์ฉบับดังกล่าว และออกประกาศคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๙ ให้มีลักษณะที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมได้กว้างขวางมากขึ้น โดยมุ่งเน้นในเชิงหลักการ แนวคิดของการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพเป็นสำคัญ

     ปัจจุบันประกาศใช้หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ ฉบับที่ ๓ เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ หลักเกณฑ์ฯ ฉบับนี้ได้กำหนดแนวทางการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ เพื่อเป็นแนวทางดำเนินการสำหรับหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ใน ๕ กรณีที่สำคัญ คือ

     (๑) กรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้มีการประเมินผลกระทบในด้านสุขภาพ ก่อนการดำเนินการอยู่แล้ว ก็ให้ดำเนินการตามกฎหมายนั้น แต่ต้องไม่กระทบต่อสิทธิของบุคคลหรือคณะบุคคล ที่จะร้องขอให้มีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ตามมาตรา ๑๑ แห่ง พรบ.สุขภาพฯ

     (๒) กรณีไม่มีกฎหมายกำหนดให้มีการประเมินผลกระทบในด้านสุขภาพก่อนที่จะดำเนินการ ให้หน่วยงานเจ้าของนโยบายดำเนินการกลั่นกรองความจำเป็นในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ  หากกลั่นกรองแล้วพบว่าต้องดำเนินการ ก็ต้องจัดให้มีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ 

     (๓) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่ 

     (๔) กรณีบุคคลและคณะบุคคลขอใช้สิทธิ์ให้มีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพตามมาตรา ๑๑ แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ 

     และ (๕) การประยุกต์ใช้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพเป็นเครื่องมือสนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพในลักษณะต่างๆ

บทบาทของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

     ๑) เป็นกลไกประสานงานและติดตามประเมินผลตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ

     ๒) สนับสนุนเครือข่ายวิชาการด้านการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ให้มีการพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่าย การพัฒนาองค์ความรู้ที่จำเป็นในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ และเป็นกลไกการให้คำปรึกษาในระดับภาคได้

     ๓) สนับสนุนกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของภาคีเครือข่ายด้านการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ได้แก่ เวทีวิชาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Forum) การจัดทำเว็บไซด์รวบรวมข้อมูลด้านการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพและกลไกการให้คำปรึกษา