ลดความเหลื่อมล้ำ-สร้างความเป็นธรรม เปิดเวทีสร้างนโยบายสาธารณะฯ บริหาร ‘ทรัพยากรน้ำ’ ด้วยกลไกระดับพื้นที่ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สช. ชักชวนภาคีเครือข่ายร่วมให้ความคิดเห็นนโยบายสาธารณะ ประเด็น “การส่งเสริมความเข้มแข็งกลไกการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่” หนึ่งในมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 เตรียมเข้าสู่การรับรองร่วมกันปลายปีนี้ มุ่งเป้าลดความเหลื่อมล้ำ-สร้างความเป็นธรรมการใช้น้ำ หนุนเสริมความเข้มแข็งกลไกการจัดการในระดับพื้นที่

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2566 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ประเด็น “การส่งเสริมความเข้มแข็งกลไกการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ ซึ่งเป็นเวทีการสื่อสาร รับฟัง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่จะนำไปพัฒนาเป็นระเบียบวาระภายในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 โดยมีองค์กร หน่วยงาน ภาคีเครือข่าย เข้าร่วมทั้งในห้องประชุมและผ่านระบบออนไลน์
 

การบริหารจัดการน้ำ


รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน ประธานคณะทำงานพัฒนาประเด็นการส่งเสริมความเข้มแข็งกลไกการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ เปิดเผยว่า ‘น้ำ’ คือทรัพยากรที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อประชาชนทุกคน ทั้งในแง่ของการอุปโภคบริโภคเพื่อดำรงชีวิต ไปจนถึงประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ การเพาะปลูก การเกษตร ฯลฯ แต่ทุกคนกลับไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรน้ำได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะกลุ่มคนยากจน กลุ่มคนเปราะบางในสังคม หรือชุมชนนอกเขตชลประทาน จึงนำมาสู่ความเหลื่อมล้ำและปัญหาเกิดขึ้นในหลากหลายมิติ ทั้งมิติทางสังคม เศรษฐกิจ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ
 

บัญชา ขวัญยืน


รศ.ดร.บัญชา กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำจำนวนมาก ซึ่งแต่ละหน่วยงานต่างรับผิดชอบการดำเนินงานตามแผนงานของตนเอง ความท้าทายจึงเป็นเรื่องการจัดสรรและประสานหน่วยงานต่างๆ เพื่อเข้ามาร่วมกันบริหารจัดการน้ำให้ครอบคลุมทุกมิติ โดยเฉพาะการหนุนเสริมให้เกิดการบริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่ ชุมชน ท้องถิ่น ก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อยกระดับการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำให้เกิดความยั่งยืน

ทั้งนี้ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ คืออีกหนึ่งกลไกสำคัญของการพัฒนานโยบายสาธารณะ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชน สามารถช่วยผลักดันข้อเสนอหรือประเด็นสำคัญของสังคม สู่การกำหนดนโยบายในระดับชาติที่ตอบสนองพื้นที่ได้ ภายใต้การใช้ความรู้เป็นฐานและการแสวงหาทางออกร่วมกันอย่างสมานฉันท์ ดังนั้นจึงได้มีการบรรจุเรื่องนี้ให้เป็นหนึ่งในระเบียบวาระเพื่อหาฉันทมติร่วมกัน ในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี 2566 นี้

“การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยเฉพาะการส่งเสริมความเข้มแข็งในกลไกเชิงพื้นที่ สนับสนุนให้องค์กรผู้ใช้น้ำสามารถร่วมบริหารจัดการน้ำได้อย่างเข้มแข็ง จะเป็นส่วนที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคมได้ ซึ่งการขับเคลื่อนกระบวนการนโยบายสาธารณะผ่านสมัชชาสุขภาพ จะเป็นพื้นที่กลางการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อหนุนเสริมการพัฒนากลไกและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ” รศ.ดร.บัญชา กล่าว

ขณะที่ ดร.พงศกร กาวิชัย คณะทำงานและผู้ช่วยเลขานุการคณะทำงานพัฒนาประเด็นการส่งเสริมความเข้มแข็งกลไกการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ กล่าวว่า ภาพรวมปัญหาทรัพยากรน้ำของประเทศไทย มีทั้งการขาดแคลนน้ำ น้ำท่วม น้ำเสีย น้ำเค็ม การแย่งใช้น้ำ ฯลฯ ซึ่งเกิดขึ้นจากสาเหตุต่างๆ ทั้งโดยธรรมชาติและการบริหารจัดการที่ขาดประสิทธิภาพ ขณะที่โจทย์ของการลดความเหลื่อมล้ำ คือทำอย่างไรให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งในการบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรท้องถิ่น และสามารถขยายผลกลไกการมีส่วนร่วมจากระดับท้องถิ่น ตำบล ขึ้นไปสู่ระดับจังหวัด เชื่อมโยงกับกลไกบริหารจัดการจากบนลงล่างที่เป็นไปตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561
 

พงศกร กาวิชัย


ทั้งนี้ จากการประมวลผลช่องว่างและความท้าทายในสถานการณ์น้ำของประเทศ ที่จะลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมให้ประชาชนทุกกลุ่ม พบว่ามีช่องว่างต่างๆ เช่น ขาดการสนับสนุนให้เกิดองค์กรจัดการน้ำระดับพื้นที่ที่ชุมชนมีบทบาทเป็นเจ้าของน้ำและบริหารจัดการน้ำร่วมกับท้องถิ่น ขาดการส่งเสริมศักยภาพองค์กรผู้ใช้น้ำ ขาดความพยายามกระจายอำนาจการจัดการน้ำ ตลอดจนขาดโครงสร้างองค์กรบริหารจัดการน้ำระดับชุมชนหรือตำบล เป็นต้น

ดร.พงศกร กล่าวว่า ในเบื้องต้นทางคณะทำงานจึงได้วางกรอบทิศทางนโยบายของมติสมัชชาฯ นี้ โดยมีสาระสำคัญของข้อเสนอที่ประกอบด้วย 1. หนุนเสริมกระบวนการสร้างความเข้มแข็งต่อกลไกการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ 2. ผลักดันให้เกิดการบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามความต้องการของพื้นที่ 3. ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบองค์รวมเพื่อโอกาสการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน/ท้องถิ่น 4. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมบริหารจัดการน้ำเสียและสิ่งแวดล้อมระดับพื้นที่ 5. ส่งเสริม ฟื้นฟู ปรับปรุง อนุรักษ์ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ระบบเส้นทางน้ำชุมชน
 

การบริหารจัดการน้ำ


ด้าน นพ.สมชาย พีระปกรณ์ ประธานคณะอนุกรรมการกำกับ สนับสนุน และเชื่อมโยงกระบวนการสมัชชาสุขภาพ กล่าวว่า เรื่องของการจัดการทรัพยากรน้ำในระดับประเทศถือเป็นเรื่องที่ใหญ่ และมีความยากซับซ้อน ทั้งยังเป็นประเด็นที่มีแนวโน้มอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงได้ ดังนั้นเวทีสมัชชาสุขภาพจึงจะเป็นพื้นที่กลางให้ฝ่ายผู้กำหนดนโยบายและภาคประชาชนได้เข้ามาร่วมพูดคุยกัน เพื่อสร้างนโยบายสาธารณะที่มีความคมชัดและครบถ้วน เป็นข้อเสนอที่จะส่งตรงถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติได้ต่อไป
 

สมชาย พีระปกรณ์


นพ.สมชาย กล่าวว่า ในส่วนของความคิดเห็นและข้อเสนอต่างๆ ที่รวบรวมได้จากการประชุมครั้งนี้ จะยังคงเปิดรับเพิ่มเติมต่อไปจนถึงวันที่ 25 ต.ค. 2566 โดยทางคณะทำงานจะนำมารวบรวมและปรับปรุงจนได้ร่างมติที่มีความชัดเจนและครบถ้วน หลังจากนั้นจะนำเอกสารร่างมติที่สมบูรณ์เข้าสู่การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ประเด็นการส่งเสริมความเข้มแข็งกลไกการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ วันที่ 13 พ.ย. 2566 เพื่อรับฟังความเห็นขั้นสุดท้าย ก่อนที่จะนำเข้าสู่เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 พ.ศ. 2566 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 ธ.ค. 2566 ที่ภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ จะให้การรับรองร่วมกัน ควบคู่กับอีกสองระเบียบวาระ คือ ‘ระบบสุขภาวะทางจิตเพื่อสังคมไทยไร้ความรุนแรง’ การส่งเสริมการพัฒนาประชากรให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ
 

การบริหารจัดการน้ำ

 

การบริหารจัดการน้ำ

 

การบริหารจัดการน้ำ

 

การบริหารจัดการน้ำ

 

การบริหารจัดการน้ำ



สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.

โทร. 02-8329141

 

รูปภาพ
การบริหารจัดการน้ำ