ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ ๒๗ ธ.ค. ปีที่แล้ว (๒๕๖๕) เป็นวันที่ชุมชนเกาะล้าน เมืองพัทยา จ.ชลบุรี เต็มไปด้วยความคึกคักและความตื่นตัว ภายใต้บรรยากาศการรวมตัวของ active citizen ในฐานะการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา
ในวันนั้น มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างธรรมนูญสุขภาพชุมชนเกาะล้าน เป็นครั้งแรก ด้วยความคาดหวังที่จะใช้เครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบายสาธารณะ
พูดให้ชัดก็คือ การสร้างกติกาหรือข้อตกลงร่วมกัน โดยมี ‘คนเกาะล้าน’ และ ‘ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ทุกภาคส่วน’ ให้ความเห็นชอบร่วมกัน
วันดังกล่าว มีตัวแทนประชาชนชุมชนเกาะล้าน ผู้ประกอบการ-ห้างร้าน ภาคเอกชน เยาวชนคนรุ่นใหม่ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ กว่า ๑๐๐ ชีวิต เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น
พื้นที่เกาะล้าน เมืองพัทยา ตั้งอยู่ ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของเมืองพัทยา ในอดีต เกาะล้านเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ ที่มีคนอาศัยเพียง ๓๐๐-๔๐๐ คน มีธรรมชาติที่สวยงาม
แต่ในปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก เฉลี่ยวันละ ๑-๒ หมื่นคน แต่ละคนมีความแตกต่างกันทั้งอุปนิสัย ความมุ่งหมาย ประเพณีและวัฒนธรรม
ในมุมหนึ่ง นี่คือโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และของชุมชน
ทว่าในอีกมุมหนึ่ง เกิดผลกระทบเชิงลบจากการท่องเที่ยวที่ไม่เป็นมิตร ซึ่งนำไปสู่การใช้พื้นที่สาธารณะอย่างไม่เป็นระเบียบ การปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล ขยะ-สิ่งปฏิกูล ความเคารพต่อสถานที่ ฐานทรัพยากรเดิม ฯลฯ
การรับฟังความคิดเห็นในวันนั้น ชาวชุมชนและภาคส่วนต่างๆ ที่ร่วมกันแสดงความคิดเห็นและพิจารณา (ร่าง) ธรรมนูญสุขภาพชุมชนเกาะล้าน ซึ่งเบื้องต้นได้มีการยกร่างเนื้อหาใน ๙ หมวด รวม ๕๖ ข้อ บนจุดหมายปลายทางคือ “เกาะล้าน สร้างสุขบนฐานที่สมดุล”
พร้อมกันนี้ ยังมีการสะท้อนมุมมองและข้อเสนอต่างๆ เพิ่มเติม อาทิ ประเด็นปัญหาเรื่องที่ดิน การใช้ไฟฟ้า น้ำประปา การจัดการขยะ สุนัขและแมวจรจัด การจัดระเบียบการจราจร ป้ายบอกทาง ไฟส่องสว่าง การลดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ สวัสดิการผู้สูงอายุ ไปจนถึงการส่งเสริมทักษะทางภาษาให้กับคนบนเกาะ ฯลฯ
นับจากวันนั้น ผ่านมาเป็นเวลาราว ๙ เดือน ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ทำงานร่วมกับคนชุมชนเกาะล้านอย่างเข้มข้น และได้รับความร่วมมือจากผู้บริหารระดับสูงของเมืองพัทยา จนกระทั่งสามารถพัฒนาและจัดทำ ธรรมนูญสุขภาพชุมชนเกาะล้าน ได้สำเร็จ
เมื่อวันที่ ๖ ก.ย. 2566 สช. จึงได้ร่วมกับ เมืองพัทยา ชาวชุมชนเกาะล้าน และหน่วยงานภาคีเครือข่าย จัดเวที “สมัชชาสุขภาพเกาะล้าน ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๖๖” พร้อมการประกาศใช้ “ธรรมนูญสุขภาพชุมชนเกาะล้าน” เป็นครั้งแรกในพื้นที่
ธรรมนูญฯ ฉบับนี้ เป็นการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการกำหนดทิศทางการมีส่วนร่วม เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสุขภาวะและความเป็นอยู่ของชุมชน
ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา และกรรมการสุขภาพแห่งชาติ บอกว่า เกาะล้านถือเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญกับเมืองพัทยา โดยเฉพาะภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเกาะล้านได้กลายเป็นหนึ่งหมุดหมายที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากเดิมมาก โดยตัวเลขของปีนี้นับถึงเพียง ก.ค. ๒๕๖๖ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใน จ.ชลบุรี แล้ว ๑๓.๕ ล้านคน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่มากใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 ที่จะมีนักท่องเที่ยวเฉลี่ยปีละ ๑๘ ล้านคน โดยพบว่าปัจจุบันเป็นสัดส่วนของนักท่องเที่ยวชาวไทยเพิ่มมากขึ้น
ด้วยการท่องเที่ยวที่กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่เกาะล้าน ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวข้ามเรือมาเที่ยวเฉลี่ยวันละหลายพัน กระทั่งถึงหลักหมื่นคนในวันหยุด ทำให้การบังคับใช้ระเบียบต่างๆ ของเมืองพัทยาที่ดำเนินการอยู่ อาจไม่เพียงพอที่จะรับมือกับนักท่องเที่ยวทั้งหมดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
‘ธรรมนูญสุขภาพชุมชนเกาะล้าน’ จะมีส่วนในการเข้ามาช่วยพัฒนาให้เกาะล้านกลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีความยั่งยืน ควบคู่ไปกับการสร้างสมดุลในคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนได้
“หวังว่าธรรมนูญฯ ฉบับนี้จะเป็นเจตนารมณ์ร่วมของคนเกาะล้าน เป็นภูมิคุ้มกันอันศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยรักษาแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศแห่งนี้ ให้อยู่กับทุกคนได้อย่างยั่งยืนต่อไป” ปรเมศวร์ ระบุ
ทางด้าน ธนกร สุขขี ประธานคณะทำงานยกร่างธรรมนูญสุขภาพชุมชนเกาะล้าน เล่าว่า เนื้อหาของธรรมนูญฯ ฉบับนี้ ได้มีการกำหนดข้อตกลงหรือแนวทางต่างๆ อาทิ การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน การส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น การป้องกันยาเสพติด การพัฒนาบริการสาธารณสุข การสร้างเสริมสุขภาพ การส่งเสริมกลุ่มอาชีพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การส่งเสริมศักยภาพเยาวชน การควบคุมขยะ รักษาทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการใช้น้ำ ฯลฯ
“ชาวชุมชนเราอยู่ร่วมกันบนเกาะนี้มาเป็นร้อยปี มาวันนี้กำลังจะมีกฎกติกาหรือธรรมนูญฯ ขึ้นมาเป็นฉบับแรก ที่เกิดจากการร่วมกันคิด ร่วมกันสะท้อนปัญหาและความต้องการออกมา ซึ่งธรรมนูญฯ ฉบับนี้ก็คือพิมพ์เขียว หรือแบบแปลนที่พวกเรามาร่วมกันออกแบบว่าต้องการให้เกาะล้านเป็นอย่างไร โดยเป้าหมายที่เราวางไว้ของเนื้อหาทุกอย่างในนี้คือการนำไปสู่ เกาะล้านน่าอยู่ น้ำทะเลใส หาดทรายขาว ปะการังสวย ชุมชนสามัคคี รักษาประเพณี ท่องเที่ยวยั่งยืน” นายธนกร กล่าว
ขณะที่ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า นับเป็นความยินดีที่พี่น้องชุมชนชาวเกาะล้านได้นำเอาธรรมนูญฯ มาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อสร้างให้เกิดการกินดี อยู่ดี และนำไปสู่อนาคตที่ดีของประชาชน โดยกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะในลักษณะนี้สามารถดำเนินการได้ในหลายระดับ ตั้งแต่ในระดับชาติมาจนถึงในระดับพื้นที่ โดยเริ่มต้นจากการช่วยกันระดมปัญหาและความต้องการของผู้คน ก่อนนำมาสู่การร่างเนื้อหาหรือนโยบาย ซึ่งเป็นการรวบรวมทางเลือกต่างๆ ในการรับมือกับปัญหาเหล่านั้น
อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดหลังการประกาศใช้ธรรมนูญฯ ที่ได้ออกมาเป็นนโยบาย ข้อตกลง หรือกติการ่วมกันแล้ว คือการนำเนื้อหาของตัวธรรมนูญฯ นี้ไปร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดความบรรลุผล พร้อมทั้งการประมวลผล และยกระดับพัฒนาข้อตกลงนี้ให้สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างเช่นในพื้นที่เกาะล้านแห่งนี้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่มีความสำคัญของประเทศ อันเต็มไปด้วยความหลากหลายและสภาพปัญหาที่มีความซับซ้อน จึงต้องมีการออกแบบกระบวนการหรือเครื่องมือเพื่อรับมือ
“แม้เครื่องมือสำคัญจะยังเป็นกฎกติกาหรือระเบียบของทางราชการ ซึ่งในที่นี้คือเมืองพัทยา หากแต่มาตรการของทางการอย่างเดียวก็อาจยังไม่เพียงพอ แต่ต้องมีมาตรการของภาคประชาชน ที่ใช้ความร่วมแรงร่วมใจจากหลายภาคส่วนเข้ามาหนุนเสริม ช่วยให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ นั้นมีพลัง จึงคาดหวังว่านอกจากธรรมนูญฯ ที่ประกาศในวันนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวเกาะล้านแล้ว จะยังเป็นตัวอย่างให้เกิดกระบวนการธรรมนูญต่างๆ ขึ้นมาในทุกพื้นที่ของเมืองพัทยา และเป็นตัวอย่างของจังหวัดอื่นๆ ได้ต่อไป” นพ.ประทีป ระบุ
สำหรับเวทีสมัชชาสุขภาพเกาะล้านในครั้งนี้ ยังได้มีการเสวนา “สร้างสุขวิถีชีวิตคนเกาะล้านที่ยั่งยืน” โดย นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), น.ส.รษิดา เรืองศิริ ผู้แทน สำนักสนับสนุนระบบสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ นายธนกร สุขขี ที่ได้ร่วมกันให้มุมมองของภาคส่วนต่างๆ ในการหนุนเสริมความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมเพื่อสุขภาวะของคนในชุมชนอีกด้วย
- 173 views