- 62 views
สช. ชักชวน “เครือข่ายด้านสุขภาพ 9 ประเทศภูมิภาคเอเชีย” แลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาระบบสุขภาพ ผ่านกระบวนการ “การมีส่วนร่วม” สู่การพัฒนานโยบายสาธารณะที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชน
ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยถึงการเป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “Health and Well-Being in All Policies: Thailand Experience” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-25 พ.ย. 2565 ตอนหนึ่งว่า สช.ได้นำเสนอโมเดลกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ให้กับผู้เข้าร่วมประชุมจากนานาประเทศ และชี้ให้เห็นว่าเรื่องสุขภาพไม่ใช่เพียงมิติทางร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงสุขภาพจิต สุขภาพของสังคม และสุขภาพทางปัญญา มิติสุขภาพที่เป็นสุขภาวะเช่นนี้ ทำให้ภาคส่วนอื่นที่ไม่ใช่ด้านสุขภาพมีบทบาทในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพได้อย่างมีศักดิ์ศรี
“เราได้ยกตัวอย่าง โมเดลกระบวนการการมีส่วนร่วมในการสร้างนโยบายสาธารณะ ซึ่งสามารถชวนกระทรวงต่างๆ รวมทั้งผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมและเชื่อมโยงบทบาทซึ่งกันและกันได้ เมื่อเห็นเป้าใหญ่ร่วมกัน ก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนต่อ และออกแบบการทำงานร่วมกัน จนเกิดเป็นนโยบายที่ห่วงใยสุขภาพและสุขภาวะอย่างแท้จริง” ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ กล่าว
ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ กล่าวด้วยว่า สช. อยากได้เครือข่ายระดับสากลในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาระบบสุขภาพที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และปีนี้เอง สช ได้ผลักดันให้เรื่องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบสุขภาพเป็นมติของคณะกรรมการบริหารองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้เกิดการลงทุนและขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจังในภูมิภาคนี้
นายเชอร์ริง แวงดี เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายนโยบายและแผน กระทรวงสาธารณสุขจากภูฏาน กล่าวว่า ประเทศไทยมีเครื่องมือในการจัดการระบบบริการสุขภาพให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง ขณะเดียวกันภาคประชาชนก็มีความรอบรู้ในการใช้ช่องทาง เครื่องมือ สำหรับการออกความคิดเห็น เสนอสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นในเชิงนโยบาย ไปสู่ผู้มีหน้าที่กำหนดนโยบายหรือรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม แนวคิดการจัดการระบบบริการสุขภาพให้ประชาชนอย่างเท่าเทียม เป็นแนวคิดของรัฐบาลภูฏานด้วยเช่นกัน แต่ยังขาดกุญแจสำคัญที่ทำให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม คือการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งจากการได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงได้เรียนรู้ถึงแนวทางการสร้างเครื่องมือ และการใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของประเทศไทย พบว่ามีหลายประเด็นที่ควรนำไปปรับใช้กับการจัดการในภูฏาน
“เครื่องมือที่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนมีความสำคัญ เพราะนโยบายสาธารณะมีผลในทุกมิติของสังคม ซึ่งทุกมิติดังกล่าวก็มีผลต่อสุขภาพทั้งสิ้น ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ รายได้ และสุขภาพที่ดี จะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีตามมาด้วย” นายเชอร์ริง กล่าว
ดร.จฑุรา วิชซันดารา (Dr.Chatura Wijesundara) ตัวแทนจากองค์การอนามัยโลก ประเทศศรีลังกา กล่าวว่า ได้เห็นภาพกระบวนการ เครื่องมือในการจัดการระบบสุขภาพของประเทศไทย โดยเฉพาะเครื่องมือที่ช่วยให้เกิดการมีส่วนร่วมจาก 3 ภาคส่วนในสังคมที่เกี่ยวข้องกับการนโยบายด้านสุขภาพ คือ ภาครัฐ ภาควิชาการและภาคประชาชน ซึ่งประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนให้เกิดการมีส่วนร่วมได้เป็นอย่างดี
ดร.จฑุรา กล่าวว่า ขณะเดียวกันการจัดระบบสุขภาพของประเทศไทย ยังสามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่สำหรับนโยบายด้านสุขภาพ รวมไปถึงระบบหลักประกันสุขภาพก็ยังคงมีทิศทางการพัฒนาที่ต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีในหมู่ประชาชน และการทำงานเชื่อมโยงกันระหว่างองค์กรด้านสุขภาพของประเทศไทย เพื่อทำให้สุขภาวะของคนไทยไปสู่ทิศทางที่ดีและถูกต้อง
“มองว่าองค์กรภาครัฐด้านสุขภาพของประเทศไทยค่อนข้างมีความยืดหยุ่นและอิสระ เป็นกุญแจสำคัญสำหรับการทำนโยบายที่นำไปสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างรอบด้านให้กับประชาชน " ดร.จุฑารา กล่าว
ขณะที่ นายราล์ฟ เอเมอร์สัน เดโกแลกชอน ผู้จัดการโครงการสุขภาพเพื่อความเป็นธรรม ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้่ทำให้ได้เห็นถึงแนวคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับการจัดการระบบสุขภาพทั้งระบบ โดยเฉพาะรูปแบบการจัดการของประเทศไทย ที่ใช้กลไกและเครื่องมือสร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการระบบสุขภาพให้มีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ประเทศฟิลิปปินส์กำลังเดินหน้าให้เกิดการทำนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม โดยใช้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาล และตัวแทนภาคประชาชน เพื่อให้เกิดการนำโยบายไปสู่การปฏิบัติในวงกว้าง ซึ่งที่ผ่านมาฟิลิปปินส์มีทั้งกฎหมาย และงานวิจัยรองรับ ในการพัฒนาและจัดการระบบบริการสุขภาพให้ประชาชน แต่ยังขาดความต่อเนื่องของการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคม
“อีกหนึ่งกลไกที่เราได้ไอเดียจากการร่วมอบรม คือการมอนิเตอร์ หรือการติดตามการทำงานของภาคประชาชน ที่จะมีช่องทางได้ตรวจสอบและมีข้อเสนอแนะ ซึ่งการมอนิเตอร์นโยบาย จะช่วยให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบ ได้ขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพอย่างจริงจังและมีความต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่เป้าหมายคุณภาพชีวิตของคนฟิลิปปินส์ให้ดีขึ้นภายในปี ค.ศ.2040” นายราล์ฟ กล่าว
อนึ่ง การประชุมดังกล่าวเป็นความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กับสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจาก องค์กรระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข อาจารย์มหาวิทยาลัย รวมถึงภาคประชาสังคม รวมทั้งหมด 18 คน จาก 9 ประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ ภูฏาน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ติมอร์-เลสเตและประเทศไทย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.
โทร. 02-8329141