นักวิชาการแนะจัดการการเงินการคลังเพื่อสุขภาพ ลดเหลื่อมล้ำ ๓ กองทุน | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   สช. จับมือมหาวิทยาลัยนเรศวรและมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ จัดเวทีวิชาการปฎิรูปการเงินการคลังเพื่อสุขภาพคนไทย ชี้โจทย์ใหญ่ที่ท้าทายคือภาระงบประมาณและการยกระดับหลักประกันสุขภาพทั้ง ๓ ระบบให้เท่าเทียมกัน พร้อมรับมือสังคมผู้สูงวัยซึ่งรัฐจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหลายเท่า ขณะที่นักวิชาการจากออสเตรเลียย้ำต้องกระจายอำนาจสู่เขตพื้นที่จะช่วยตอบสนองความต้องการประชาชนได้ตรงจุด พร้อมชื่นชมประเทศไทยในการพัฒนาระบบสุขภาพแบบมีส่วนร่วมโดยใช้ทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา
 
   เมื่อ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๙ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ วิทยาลัยการจัดการระบบสุขภาพ มหาวิทยาลัยนเรศวร และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ จัดงานสัมมนาวิชาการการจัดการระบบสุขภาพ “การจัดการการเงินการคลังระบบสุขภาพเพื่อบรรลุเป้าหมายการสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพ” ณ ห้องประชุมสานใจ ๑/๒ อาคารสุขภาพแห่งชาติ จังหวัดนนทบุรี โดยมีผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมกว่า ๖๐ คน
 
   นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า การสัมมนาครั้งนี้เป็นการริเริ่มจาก ๓ หน่วยงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเชิงวิชาการเกี่ยวกับระบบการจัดการด้านสุขภาพทั้งในและต่างประเทศที่เป็นประโยชน์ สามารถพัฒนาไปสู่นโยบายสาธารณะผ่านกลไกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ หรือคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้ต่อไป
 
   โดยเวทีนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของแนวทางเชิงรุกสู่ การปฏิรูปสังคมสุขภาวะ ซึ่งจะมีการจัดสัมมนาอย่างต่อเนื่อง โดยจะดึงเครือข่ายสถานศึกษาต่างๆ และผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมากขึ้นอีก เพื่อนำไปใช้เป็นทิศทางของการกำหนดนโยบายสุขภาพในอนาคต
 
   นพ.พลเดช ยังกล่าวถึง นโยบายหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย ว่า ปัจจุบันมีการใช้งบประมาณต่อหัวประชากรเมื่อเทียบกับในอดีตเพิ่มขึ้นประมาณ ๓ เท่า มาจากเหตุผลหลายประการ อาทิ โครงสร้างประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น อัตราการเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรังสูงขึ้น เทคโนโลยีด้านการแพทย์มีราคาที่แพงขึ้น และแพ็กเกจสวัสดิการรักษาโรคมีเพิ่มขึ้น เป็นต้น ทั้งหมดเป็นงบประมาณที่ใช้เพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนให้ดีขึ้น ดังนั้น สิ่งที่ประชาชนต้องตระหนักคือ ความจำเป็นต่อการเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสมเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่องบประมาณของรัฐบาลมากเกินไป จนอาจมีผลต่อการพิจารณาปรับปรุงนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับเงินสบทบค่าใช้จ่ายด้านหลักประกันสุขภาพในอนาคตได้
 
   ด้าน ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.กระแส ชนะวงศ์ นายกสภามหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ประเทศไทยมีการปฏิรูประบบสุขภาพมาหลายทศวรรษโดยใช้หลักการสาธารณสุขมูลฐาน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งทั่วโลกได้มีพันธะสัญญาร่วมกันว่าจะบรรลุผลในอีก 15 ปีข้างหน้า และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
 
   “หากประเทศไทยเดินตามแนวทางนี้จะก้าวไปสู่การพัฒนาสุขภาวะได้อย่างยั่งยืน ประชาชนได้รับความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพ มีโอกาสที่เท่าเทียมกัน ชุมชนเข้มแข็ง มีแนวทางในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพื่อให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นในทุกๆ มิติ”
 
   ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.กระแส กล่าวอีกว่า ในส่วนของมหาวิทยาลัยนเรศวรได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงจัดตั้ง วิทยาลัยการจัดการระบบสุขภาพ (College of Health Systems Management) หลักสูตรสำหรับปริญญาโทและปริญญาเอก เพื่อผลิตบุคลาการและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการจัดการระบบสุขภาพของประเทศไทยกับนานาชาติ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน เพื่อมุ่งสู่การมีระบบสุขภาพที่เข้มแข็ง และเป็นกลไกสำคัญในการบรรลุเป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยความร่วมมือกับ สช. และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ครั้งนี้ จะช่วยขับเคลื่อนองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยในการวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศที่ดีขึ้นต่อไป
 
   นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร เลขาธิการมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวถึงความสำเร็จและความท้าทายของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ของไทยที่เริ่มมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ ว่า สามารถลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงสถานบริการระดับปฐมภูมิได้มากขึ้น และลดภาวะที่ครัวเรือนล้มละลายหรือยากจนจากภาระค่าใช้จ่ายลงได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยมีปัจจัยสำคัญที่เอื้อให้ระบบบัตรทองคงอยู่ถึงปัจจุบัน คือ การมีนโยบายรัฐบาลที่ให้การสนับสนุน จนได้รับยกย่องจาก นายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ ให้เป็นตัวอย่างของประเทศกำลังพัฒนาที่จัดให้คนเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ทุกคนจากการมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
 
   อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยมีระบบประกันสุขภาพภาครัฐหลายระบบ ได้แก่ บัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ แต่สิทธิประโยชน์ที่ผู้ป่วยได้รับจากทั้ง ๓ ระบบยังไม่เท่าเทียมกัน นับเป็นความท้าทายของประเทศไทยที่มีมานานแล้วว่าจะทำอย่างไรให้ลดความเหลื่อมล้ำตรงนี้ลงได้ นอกจากนี้ อุบัติการณ์โรคเรื้อรังและแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของโรคติดต่ออุบัติใหม่ ก็เป็นความท้าทายของระบบบริการสาธารณสุขว่าจะบริหารงบประมาณอย่างไรให้คุ้มค่า ภายใต้หลักการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการของประชาชน
 
   “อีกความท้าทายของระบบบริการสาธารณสุขไทยในอนาคตอันใกล้นี้คือ การที่ประเทศไทยกำลังก้าวสู่ สังคมผู้สูงอายุในอีก ๑๕ ปีข้างหน้า คำถามคือจะเกิดอะไรขึ้นกับระบบสาธารณสุขไทย หากผู้สูงอายุมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ ๒๕ ของประชากร และมีอัตราการใช้บริการสาธารณสุขสูงกว่าคนทั่วๆ ไปถึง ๒.๓ เท่า”
 
   ด้าน ศ.วุฒิคุณ ดร.เดวิด บริกกส์ ประธานองค์กรประกันคุณภาพการศึกษาด้านการจัดการระบบสุขภาพของประเทศออสเตรเลีย กล่าวในหัวข้อ “Moving the Mountain in Health System Reform?: Perspectives from Australia and Elsewhere” โดยระบุว่า การปฏิรูประบบสุขภาพจะประสบความสำเร็จได้ ต้องให้ความสำคัญกับการจัดการระบบที่มีประสิทธิภาพ มีรูปแบบการกระจายอำนาจที่เหมาะสม ตอบสนองต่อประชากรในเขตพื้นที่ ชุมชน ทั้งด้านจำนวน ภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม และความจำเป็นด้านสุขภาพที่แตกต่างกันออกไป โดยมาตรการต่างๆ จะต้องมีความหลากหลายและเหมาะสมกับบริบทของท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่ไม่สามารถใช้กลไกทางการตลาดในการขับเคลื่อนได้ และต้องมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ให้เพิ่มมากขึ้น โดยไม่ละเลยต่อนโยบายใหญ่ของประเทศ
 
   “การพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศไทยขณะนี้ ถือว่ามีความสำเร็จที่น่าชื่นชมในทุกๆ ด้าน และทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ที่มุ่งเน้น ๓ ด้าน คือ องค์ความรู้ ควบคู่การเคลื่อนไหวทางสังคม และเชื่อมโยงนโยบายทางการเมือง ถือเป็นทฤษฎีที่เป็นประโยชน์อย่างมากในการช่วยให้บรรลุเป้าหมายของการปฏิรูประบบสุขภาพในอนาคต”
 
   ขณะที่ออสเตรเลียมีการปฏิรูประบบสุขภาพมาหลายครั้ง จนถึงปัจจุบัน ประชาชนมีสถานะสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยเมื่อปี ๒๕๕๒ อัตราการตายของชาวออสเตรเลียโดยรวมถือว่าต่ำที่สุดเป็นอันดับสองในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) โดยมีอัตราการตาย ๖๘๗ คนต่อประชากรแสนคน เป็นรองเพียงญี่ปุ่นที่มีอัตราการตาย ๖๑๓ คนต่อประชากรแสนคน ขณะที่สถิติทางสุขภาพด้านอื่นๆ ก็ได้รับการยกระดับดีขึ้นอย่างชัดเจน ยกเว้นอัตราการตายจากโรคเบาหวานและอุบัติเหตุทางท้องถนนที่ยังสูงอยู่ “ล่าสุดออสเตรเลียกำลังปฏิรูประบบสุขภาพรอบใหม่ โดยมีความท้าทาย คือ การควบคุมงบประมาณ การพัฒนาบทบาทของผู้ให้บริการ ความเข้มแข็งของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมุ่งกระจายอำนาจสู่ระดับเขต สร้างความเข้มแข็งของระบบบริการปฐมภูมิที่ตอบสนองผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยผู้สูงอายุ และส่งเสริมการใช้สื่อสาธารณะ สร้างนวัตกรรมการบริการสุขภาพที่มีค่าใช้จ่ายที่ถูกลงแต่ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิม” ศ.วุฒิคุณ ดร.เดวิด บริกกส์ กล่าว
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ