ระบบสุขภาพเมืองใหญ่ กับ ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๓ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file
ธรรมนูญระบบสุขภาพฯ ฉบับ 3


... รัตนา เอิบกิ่ง

คอลัมน์ให้ระบบสุขภาพเล่าเรื่องฉบับนี้  ขอเล่าถึงเหตุการณ์สำคัญที่ผู้คนให้ความสนใจและพูดถึงกันอย่างมาก คือการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาและสมาชิกสภาเมืองพัทยา เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๕  โดยทั้ง ๒ เมืองที่ว่านี้ ถือเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ หรือเขตปกครองพิเศษ ซึ่งประกอบด้วย สภา ผู้ว่าราชการ หรือนายก ซึ่งปัจจุบัน กทม. และเมืองพัทยา เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ที่นับได้ว่า เป็นเมืองใหญ่และมีความสำคัญลำดับต้นๆ ของประเทศไทย

กล่าวสำหรับ กทม. ที่ขณะนี้ คุณชัชชาติ  สิทธิพันธุ์ ในฐานะผู้บริหารเมืองคนใหม่ พร้อมกับสโลแกนที่ว่า “มาร่วมทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” และพร้อมที่จะลงมือทำทันที ทั้ง ๒๑๔ นโยบาย[1]  ซึ่งได้ผ่านการกลั่นกรองจากการลงพื้นที่และรับฟังปัญหาจริง ๆ จากทุกพื้นที่ของ กทม. โดยแบ่งเป็น ๙ ด้าน ได้แก่ ปลอดภัยดี (๓๔ เรื่อง) สร้างสรรค์ดี (๒๐ เรื่อง) สิ่งแวดล้อมดี (๓๔ เรื่อง) เศรษฐกิจดี (๓๐ เรื่อง) เดินทางดี (๔๒ เรื่อง) สุขภาพดี (๓๔ เรื่อง) โครงสร้างดี (๓๔ เรื่อง) เรียนดี (๒๙ เรื่อง) และบริหารจัดการดี (๓๑ เรื่อง) ซึ่งเป็นนโยบายที่ชนะใจชาว กทม. อย่างท่วมท้น และส่งผลให้คุณชัชชาติ ได้รับความไว้วางใจให้เข้ามาบริหารเมืองใหญ่อย่าง กทม. แบบถล่มทลาย

หากเชื่อมโยงกับธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๓ (ที่ขณะนี้ได้ยกร่างและผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หรือ คสช. เสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป) ซึ่งมีสถานะเป็น “กรอบและแนวทางในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และการดำเนินงานด้านสุขภาพของไทย” ก็ได้มีการระบุเรื่องของความเป็นเมือง[2] ไว้ด้วย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นเมืองเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ส่งผลต่อระบบสุขภาพ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นเมือง แม้ว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมในหลายมิติ แต่สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นเป็นเมืองมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่ยังมีการกระจุกตัวสูง อีกทั้งลักษณะของความเป็นเมืองได้ดึงดูดกลุ่มคนต่างๆ ทั้งคนจนและคนรวยให้มาอยู่ในพื้นที่เดียวกันอย่างหนาแน่น และเกิดการแย่งชิงเพื่อเข้าถึงทรัพยากรที่จำกัดด้วยกัน

จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตด้านอื่น ๆ[3] ได้แก่  ๑) การเพิ่มขึ้นของอุบัติการณ์โรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ๒) ระบบบริการสุขภาพชุมชนเมืองที่ไม่ตอบสนองกับความต้องการที่หลากหลายและบริบทของสังคมที่ซับซ้อนของวิถีชีวิตคนในชุมชนเมือง ๓) ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ขยะ และมลพิษ และ ๔) การขาดการมีส่วนร่วมและความเป็นเจ้าของร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่

ดังนั้น ในการพัฒนาความเป็นเมือง จำเป็นต้องผนวกประเด็นของระบบสุขภาพชุมชนเมืองเข้าไปด้วย เช่น การเป็นเมืองน่าอยู่ที่คงรักษาอัตลักษณ์ของพื้นที่ไว้ การมีพื้นที่สาธารณะรองรับวิถีชีวิตของคนทุกกลุ่ม ซึ่งความท้าทายหลักของการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นเมือง คือการตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของประชาชนทุกกลุ่ม การออกแบบระบบสุขภาพให้สามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสของความเป็นเมือง เช่น การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี การกระจุกตัวของทรัพยากรด้านต่างๆ ที่จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วนในพื้นที่ รวมทั้งหน่วยงานองค์กรทั้งภายในและภายนอกพื้นที่ด้วย

ในโอกาสที่ทั้ง กทม. มีผู้ว่าราชการคนใหม่ และเมืองพัทยา มีนายกเมืองพัทยาคนใหม่ จึงนับเป็นโอกาสอันดี ที่จะมีการสานพลังและบูรณาการการทำงานร่วมกันจากทุกภาคส่วนทั้งในส่วนกลางและระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้นโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคม สามารถแก้ไขปัญหาปากท้อง และสร้างความมั่นคง ปลอดภัยของคนเมือง รวมถึงนโยบายด้านสุขภาพชุมชนเมือง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อยู่ในสภาวะเปราะบางของชุมชนเมืองใหญ่ ซึ่งหากเกิดสัมฤทธิ์ผลได้จริง ก็หวังได้ว่า เป้าหมายสำคัญของ ร่าง ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ในระยะ 5 ปีต่อจากนี้ คือ “ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม” ก็จะถึงฝั่งฝันด้วยเช่นกัน

[1] นโยบาย ชัชชาติ สิทธิพันธ์. สืบค้นจาก https://www.chadchart.com/policy/.

[2] ร่าง ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3, ฉบับปรับปรุง 6 พฤษภาคม 2565.

[3] ร่าง สาระหมวดระบบสุขภาพชุมชนเมือง ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3, 2565.

 

หมวดหมู่เนื้อหา