- 82 views
สช. ชวน สปสช. สสส. จับมือ ยกระดับการทำงานปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิ หารือกับผู้ว่ากรุงเทพมหานคร เป้าหมายหลักคือยกระดับและจัดระบบสุขภาพของคนกรุงเทพให้ดีขึ้น
เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2565 คณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีฯ เดินทางไปร่วมประชุมยกระดับการทำงานปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิ หารือกับผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ณ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ โดยมี นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวต้อนรับ ผู้เข้าร่วมประชุม และกล่าวแสดงความยินดี กับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร โดยประเด็นสำคัญในวันนี้คือเรื่องของระบบสุขภาพปฐมภูมิและการมีส่วนร่วมของกลไกต่างๆ ด้านสุขภาพในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายที่ผู้ว่า ได้หาเสียง ถือโอกาสนี้ในการต่อจิ๊กซอว์การทำงานเพื่อยกระดับและจัดระบบสุขภาพของคนกรุงเทพให้ดีขึ้น
โดยเน้น 2 เป้าหมายหลักคือ 1.การสนับสนุนกลไกต่อยอดนโยบาย 214 ข้อผู้ว่าชัชชาติ ด้านสุขภาพดี ในทุกมิติ ทั้งกายภาพ และระบบสร้างเสริมสุขภาพของคนทุกคนในกรุงเทพมหานคร 2.สร้างการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ผ่านเครื่องมือ สมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร เป็นเวทีกลางพัฒนาประเด็นสาธารณะสู่การปฏิบัติเป็นกระบวนการวิเคราะห์ช่องว่างหาความร่วมมือที่สร้างสรรค์ ธรรมนูญสุขภาพในระดับเขต หรือกติกาชุมชน บางพื้นที่กำหนดเป็นทิศทาง เพื่อเป็นกรอบในการอยู่ร่วมกัน โดยมุ่งโจทย์ร่วมจะทำอย่างไรให้กองทุนสุขภาพเขต กว่าพันล้าน สนับสนุนกลไกระดับชุมชนให้ขับเคลื่อนการทำงานในประเด็นของชุมชนเอง
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวย้ำถึงโอกาสที่จะสร้างการมีส่วนร่วมเริ่มต้นจากมิติด้านสุขภาพ มีกลไกและเครือข่ายทำงานอยู่แล้วในระดับพื้นที่ แต่จะทำอย่างไรให้เกิดความเข้มข้น และขยายคำว่าสุขภาพดี ออกไปให้ครอบคลุมทั้งกรุงเทพมหานคร ต้องอาศัยความรู้ กระบวนการ เครื่องมือ และทุนที่พวกเรามีอยู
นพ.จเด็จ ธรรมรัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ให้ข้อมูลที่ไม่สามารถเติมเงินอุดหนุน กองทุนหลักประกันสุขภาพกว่า 500 ล้านบาทให้ กทม. ได้ เนื่องจาก การเขียนโครงการของภาคประชาชนต่อกองทุนสุขภาพยังน้อย และยังไม่มีแผนที่ชัดเจนในการสร้างประโยชน์ให้กับสาธารณะในวงกว้าง จึงมีเงินมากกว่า 1,140 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินของกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร ควรจะถือโอกาสนี้สร้างการมีส่วนร่วม และร่วมกันกำหนดทิศทางให้กลไกภาคสังคม เขียนเสนอโครงการต่อกองทุนเพื่อใช้ประโยชน์ในระดับพื้นที่ต่อไป
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวเสริมในเรื่องปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพที่ สสส. มีการทำงานอยู่แล้วในระดับพื้นที่ อาจสร้างอาคารหรือสถานที่ไม่ได้ แต่สามารถสนับสนุนกิจกรรมและรณรงค์ ให้ประชาชนในกรุงเทพมีสุขภาพที่ดีและสร้างภูมิคุ้มกันได้ โดยสนับสนุยนโยบายของผู้ว่าที่มีความครอบคลุม และมองว่าสามารถเริ่มทำงานได้เลย
เครืองข่ายปลุกกรุงเทพกว่า 80 องค์กร เป็นกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม รูปแบบหนึ่ง ที่ถือเป็นนวัตกรรมการเมืองภาคประชาชน ที่เกิดจากความหลากหลาย หน่วยงานหลักๆ ทั้งไทยพีบีเอส สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เล็งเห็นความสำคัญ และกำลังพัฒนาจุดเชื่อมโยงเพื่อให้เครือข่ายดังกล่าวสามารถมีรูปแบบการทำงานเสริมหนุน ติดตาม และร่วมผลักดันนโยบายของผู้ว่ากรุงเทพมหานคร เพื่อทำให้กรุงเทพเป็นเมืองที่น่าอยู่ของทุกคน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กล่าวถึงการเดินสำรวจพื้นที่และการหาเสียงตลอดระยะเวลา 2 ปีครึ่ง พบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาสะสมซ้ำซาก เหมือนเดิม คล้ายๆ กัน แนวทางการแก้ปัญใช้เพียงนโยบายของผู้ว่าฯ อย่างเดียวไม่ได้ ต้องสร้างพลังร่วมของประชาชนทุกคน ร่วมคิดร่วมตัดสินใจร่วมทำงาน ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผู้ว่าฯมีอำนาจเชิงบริหารก็จริง แต่ประชาชนมีหน้าที่ร่วมติดตามและขับเคลื่อนการทำงานที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพ ครั้งนี้เป็นโอกาสดี ที่จะได้สร้างการมีส่วนร่วม ในกรุงเทพมหานคร และนโยบายที่มีอยู่เดิม 214 ข้อ อาจยืดหยุ่นเป็น 300-400 ข้อก็ได้ถ้าประชาชนเสนอมา เราคงต้องมาทำให้กรุงเทพเป็นเมืองที่น่าอยู่ของทุกคน นายชัชชาติ กล่าวเสริมว่า ให้เร่งหารือกันในวันศุกร์ที่จะถึงนี้เลย และกำหนดเป้าหมาย 100 วันเห็นอะไร ระยะสั้น ระยะกลางระยะยาว 4 ปี ต้องมีรูปธรรมเชิงระบบ ไม่ทำเป็นนโยบายโปรเจค แล้วหายไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.
โทร. 02-8329141