ก้าวข้ามวิกฤตซ้อนวิกฤต | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file

         สวัสดีครับพี่น้องภาคีเครือข่ายทุกท่าน ผลพวงจากการตัดสินใจของผู้นำรัสเซียที่ใช้กำลังบุกเข้าประเทศยูเครนและการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของกลุ่มพันธมิตรตะวันตก ตอกย้ำให้เราเห็นถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลกและผลกระทบอย่างรวดเร็วในวงกว้าง ทำให้ภาพของคำกล่าวที่ว่า “One World, One Destiny” หรือ “โลกที่มีชะตากรรมเดียวกัน” ชัดเจนยิ่งขึ้น

         ทันทีที่ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เลือกที่จะส่งกองกำลังทหารทางบกและทางอากาศบุกเข้าโจมตีประเทศยูเครนโดยอ้างว่าเพื่อป้องกันความปลอดภัยของประชาชนตัวเอง เหมือนที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรนาโต้ได้ทำเป็นตัวอย่างมาก่อน ตั้งแต่การนำกำลังทหารเข้าล้มล้างเปลี่ยนรัฐบาลและใช้อาวุธร้ายแรงเข้าถล่มใจกลางเมืองของประเทศอิรัก ลิเบีย และซีเรีย เพียงอ้างว่าเพื่อกำจัดผู้ก่อการร้าย ส่งผลให้นานาประเทศทั้งที่อยู่ใกล้และไกลจากพื้นที่สงครามต่างได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง ตลาดหุ้นทั่วทั้งโลกปรับตัวต่ำลงถึงขีดสุด ตลาดการซื้อขายสกุลเงินดิจิตอล (คริปโตเคอร์เรนซี) ผันผวนดิ่งลงในเวลาอันรวดเร็ว และราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เหล่านี้สะท้อนถึงความกังวลต่ออนาคตที่มองไม่เห็น ซึ่งแม้แต่ในประเทศไทยเองก็ได้รับความเสียหายจากวิกฤตครั้งนี้ไม่น้อย

         มากไปกว่านั้น สงครามที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ได้ทำให้เห็นรูปธรรมของคลื่นความเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจและการจัดระเบียบโลกได้ชัดเจนมากขึ้น เพราะนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมา โลกใบนี้ถูกกำหนดกติกาหรือระเบียบโลกโดยชาติมหาอำนาจและพันธมิตรตะวันตกเพียงหนึ่งเดียวที่ผูกขาดกำหนดอนาคตของผู้คนบนโลกใบนี้ แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไป ข้อเท็จจริงกลับยืนยันว่าโลกไม่ได้มีแค่ขั้วอำนาจเดียวต่อไปอีกแล้ว แต่ค่อยๆ ปรากฎตัวและบทบาทของมหาอำนาจหลายขั้วที่มีทั้งการแข่งขันและการถ่วงดุลกัน

         เช่นเดียวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่มีจุดเริ่มต้นจากประเทศหนึ่ง ก่อนจะพัฒนาการและลุกลามไปทั่วทั้งโลกในเวลาอันสั้น ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของผู้คนทุกเพศทุกวัย ต่างพากันถูก disruption ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงมากไปกว่าแค่เรื่องสุขภาพ หรือมดหมอหยูกยา

         พี่น้องภาคีเครือข่ายทุกท่านครับ เพียง ๒ เหตุการณ์นี้ก็บ่งชี้กับเราอย่างตรงไปตรงมาแล้วว่า โลกใบเก่าที่เราคุ้นชินอยู่ในขณะนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และในอนาคตอันใกล้ก็อาจเกิดวิกฤตการณ์ครั้งใหม่ขึ้นได้ทุกเมื่อ ซึ่งประเทศไทยก็ไม่อาจยืนอยู่เหนือ ๒ วิกฤตโลกข้างต้นนี้หรือวิกฤตใหม่ๆ ไปได้ จึงจำเป็นต้องเร่งเรียนรู้และเร่งแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ตกค้างเรื้อรังมายาวนาน

         และถ้ามองลึกไปกว่านั้น นับตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ ที่เกิดการรัฐประหารของทหารล้มรัฐบาลพลเรือน เรื่อยมาจนถึงปี ๒๕๕๗ ที่ทหารก่อการรัฐประหารล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งอีกครั้ง ยังผลให้ไทยถูกสังคมโลกตัดขาด ทำให้ประเทศต้องตกอยู่ในวังวนความขัดแย้ง ความไม่สงบและการเผชิญหน้าของประชาชน ๒ ฝ่ายที่มีความเห็นและผลประโยชน์เฉพาะหน้าที่ต่างกันต่อเนื่องกว่า ๑๖ ปี ได้เติมเชื้อไฟให้เศรษฐกิจและวิกฤตปากท้องสาหัสยิ่งขึ้นอีก

         พูดได้ว่าประเทศไทยเราตกอยู่ในสภาพที่เรียกว่า “วิกฤตซ้อนวิกฤต” ครั้งรุนแรงและยาวนานกว่าที่เคยเป็นมา และยังไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่าภาวะอันขมึงเกลียวครั้งนี้จะสิ้นสุดหรือถูกคลี่ออกเมื่อใด ท่านอาจารย์ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ได้ให้ข้อคิดและชี้แนะในโอกาสครบ ๑๕ ปีคล้ายวันสถาปนา สช. ว่า ประเทศไทยเรากำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า “ลิงติดแห” อีรุงตุงนังจับต้นชนปลายไม่ได้ ติดอยู่ในร่างแหวิกฤตการณ์ทุกด้านที่พันกันยุ่ง ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม การศึกษา ระบบรัฐรวมศูนย์ ฯลฯ และอาจารย์ เสนอว่า สิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดหรือจุดคานงัดที่จะช่วยให้ประเทศไทยหลุดออกจาก “วิกฤตซ้อนวิกฤต” ได้ นั่นก็คือ P4 หรือกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม หรือ Participatory Public Policy Process” ซึ่งเป็นปัญญาสูงสุดของชาติใดชาติหนึ่ง เพราะมีผลกระทบต่อทุกองคาพยพของสังคมทั้งทางบวกหรือทางลบ ถ้านโยบายสาธารณะดี ประเทศก็สุขสงบเจริญรุ่งเรือง แต่ถ้าไม่ดีหรือทำอะไรไม่สำเร็จประเทศก็ปั่นป่วน วุ่นวาย รุนแรง

        พี่น้องภาคีเครือข่ายทุกท่านครับ จะเห็นได้ว่าภารกิจของพวกเราในการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะจึงเป็นเรื่องที่ใหญ่และสำคัญต่อประเทศชาติเป็นอย่างมาก กระบวนการและเครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นหนึ่งในคำตอบที่ใช้ได้จริงในสถานการณ์วิกฤตซ้อนวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ หรือแม้แต่การจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๓ ที่ทุกภาคส่วนกำลังช่วยกันทำอยู่ และจะมีการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๓  ในวันที่ ๒๕ เมษายน นี้ แบบออนไซต์ที่ห้องประชุมใหญ่กรมประชาสัมพันธ์ กรุงเทพฯ  และเปิดกว้างออนไลน์ให้เพื่อนภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนและประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมอย่างกว้างขวางครับ

         ผมจึงขอใช้พื้นที่แห่งนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญในภารกิจของพวกเรา และขอส่งกำลังใจให้พี่น้องภาคีเครือข่ายทุกท่าน ในฐานะกำลังสำคัญที่จะช่วยชาติและประชาชนให้ฝันฝ่าและรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปด้วยกัน

 

รูปภาพ