- 788 views
สช. จับมือภาคีเครือข่าย เปิดเวทีออนไลน์ ‘ป้องกันและเฝ้าระวังโรคโควิด-19 โดยชุมชน’ ถอดบทเรียน “วังทองหลาง-คลองเตย” พบฐานข้อมูลชุมชนที่เป็นปัจจุบันมีส่วนสำคัญในการกู้วิกฤตการณ์-การสื่อสารช่วยให้คนมองเห็นความเดือดร้อน “รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ” ระบุ ชุมชนแออัดอื่นๆ สามารถศึกษาต้นแบบการจัดการ เพื่อออกแบบมาตรการรับมือในแบบฉบับของตัวเอง
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การป้องกันโรคและเฝ้าระวังการแพร่ระบาด COVID-19 โดยชุมชน” ผ่านระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2564 เพื่อระดมความเห็นต่อการสร้างกลไกการป้องกันและเฝ้าระวังโควิด-19 โดยชุมชนอย่างเป็นระบบ
นางนุชจรี พันธ์โสม ตัวแทนชุมชนวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ในปี 2563 ชุมชนวังทองหลางได้ดำเนินมาตรการป้องกันโควิด-19 พร้อมทั้งจัดทำฐานข้อมูลชุมชนขึ้นอย่างเป็นระบบ และมีการอัพเดทอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อเกิดการระบาดในระลอก 3 ชุมชนวังทองหลางจึงมีฐานข้อมูลที่ค่อนข้างละเอียดและสอดคล้องกับความเป็นจริง โดยฐานข้อมูลดังกล่าวจะเป็นรากฐานสำคัญที่จะต่อยอดไปสู่การจัดทำมาตรการต่างๆ และการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกเพื่อให้เกิดความช่วยเหลืออย่างตรงจุด
“ฐานข้อมูลคือสิ่งสำคัญที่สร้างความเชื่อมั่นให้คนภายนอกสามารถเข้ามาสนับสนุนชุมชนได้ ซึ่งวังทองหลางได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรภายนอกเยอะ เพราะมีฐานข้อมูลชัดเจน และมีอัพเดทอยู่ตลอดเวลา เราจึงแก้ปัญหาได้ถูกจุด และสามารถจัดสรรงานให้กับจิตอาสาได้ตรงตามความชำนาญ ฉะนั้นคิดว่าชุมชนแออัดควรจัดทำฐานข้อมูลเอาไว้ และควรอัพเดทให้เป็นปัจจุบันด้วย” นางนุชจรี กล่าว
อย่างไรก็ตาม ชุมชนวังทองหลางมองว่า การรอความช่วยเหลือแต่เพียงอย่างเดียวจะไม่ทำให้เกิดความยั่งยืน จึงมีแนวคิดในการจัดทำแปลงปลูกผัก ขนาดพื้นที่กว่า 400 ตารางวา รวมถึงการทำบ่อปลาดุก เพื่อสร้างเป็นธนาคารอาหารในเมือง มาตั้งแต่ปี 2563 เมื่อมาถึงปัจจุบันพื้นที่เหล่านี้ก็ยังสามารถใช้ในการช่วยเหลือพี่น้องชุมชนได้
นางนิตยา พร้อมพอชื่นบุญ ตัวแทนชุมชนคลองเตย กทม. กล่าวว่า พื้นที่คลองเตยนับเป็นคลัสเตอร์แรกๆ ของการระบาดในชุมชนแออัด เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่ทองหล่อ โดยในช่วงแรกชุมชนยังไม่มีประสบการณ์เรื่องการจัดการ จึงอาศัยช่องทางสื่อเพื่อสื่อสารเรื่องราวของตัวเองออกไปสู่ภายนอก ว่าสถานการณ์คลองเตยเป็นอย่างไร ต้องการความช่วยเหลือด้านใดบ้าง จนเมื่อเสียงของชุมชนดังขึ้นก็ได้ทำให้มีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาช่วยจัดการ
นางนิตยา กล่าวอีกว่า การลุกขึ้นมาช่วยกันอย่างพร้อมเพรียงกันของคนในชุมชน และการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก ทำให้ชุมชนคลองเตยสามารถรับมือกับโควิด-19 ทั้งในแง่ของการตัดวงจรการระบาด ป้องกันผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม การคัดกรอง การส่งต่อไปรักษา ตลอดจนการตั้งศูนย์พักคอยใกล้บ้านใกล้ใจ รวมไปถึงการช่วยเหลือด้านปากท้องและเศรษฐกิจ ทั้งหมดนี้สามารถนำไปถอดเป็นบทเรียนเพื่อใช้เป็นตัวอย่างให้ชุมชนแออัดอื่นๆ นำไปประยุกต์ใช้ได้
น.ส.วรรณา แก้วชาติ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางมูลนิธิฯ และเครือข่าย ได้แรงบันดาลใจจากพื้นที่คลองเตย ในการทำจุดพักคอยฯ ขึ้นในชุมชนและศูนย์คนไร้บ้านรวม 12 จุด เพื่อรองรับในช่วงสถานการณ์ระบาด ขณะเดียวกันได้นำประสบการณ์จากคลองเตยไปเติมความรู้ให้กับแกนนำชุมชน หรืออาสาสมัคร โดยเฉพาะเรื่องการจัดการ ซึ่งมีหน่วยงานที่เข้ามาร่วมช่วยออกแบบกระบวนการอบรมให้
นอกจากนี้ ยังได้มีการริเริ่มจัดทำครัวราคาถูกของชุมชนขึ้นเพื่อดูแลปากท้องกันในระยะยาว โดยจะมีทั้งการขายอาหารในราคาถูกที่จะทำให้เงินหมุนเวียน และแจกฟรีให้กับคนด้อยโอกาส โดยครัวแห่งนี้ยังทำหน้าที่จัดส่งอาหารให้แก่ศูนย์พักคอยฯ กลุ่มเปราะบาง หรือผู้ที่ต้องกักตัวด้วย ขณะเดียวกันยังมีการพูดถึงการพัฒนาอาชีพคนในชุมชน การส่งเสริมการตลาด การค้าขายออนไลน์ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากบทเรียนของชาวคลองเตย
นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า แม้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 จะมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาหนุนเสริมชุมชน แต่พระเอกที่แท้จริงก็คือคนในชุมชนซึ่งเป็นกำลังหลักในพื้นที่ โดยสามารถเรียนรู้ศึกษาประสบการณ์จากพื้นที่อื่นๆ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการวางแผนและเตรียมตัวตามบริบทของตัวเองได้ โดยไม่ต้องรอจนกว่าจะเกิดเหตุการณ์เอง
นพ.ปรีดา กล่าวว่า เมื่อโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ เป็นความรู้ใหม่ที่ยังไม่มีใครเคยประสบการณ์ ชุมชนจึงจำเป็นต้องเรียนรู้และสังเคราะห์ ทั้งจากข้อมูลทางวิชาการและประสบการณ์จากพื้นที่อื่น เพื่อที่จะให้การควบคุมโรคทำได้สำเร็จ อย่างไรก็ตามจุดชี้ขาดนั้นจะมาจากปัจจัยภายใน คือการเสริมความเข้มแข็งของชุมชน หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นวัคซีนทางสังคมที่หลายฝ่ายกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เพราะสุดท้ายแล้ววิธีการจัดการกับพื้นที่จะไม่มีใครรู้ดีเท่ากับตัวชุมชนเอง
“องค์ประกอบสำคัญ 4 อย่างที่ชุมชนจะต้องมี อันดับแรกคือจะต้องมีใจก่อน ถัดมาคือมีทีม ไม่ว่าจะอาสาสมัคร หรือแกนนำต่างๆ นอกจากนี้ยังจะต้องมีทุน ไม่ว่าทุนความรู้ หรือทุนทางทรัพยากร เพื่อช่วยในการทำงาน และสุดท้ายจึงเป็นการจัดการ ที่จะต้องทำควบคู่กันไปทั้งในด้านการแพทย์ สุขภาพ รวมถึงด้านเศรษฐกิจและสังคม” นพ.ปรีดา กล่าว
รายละเอียดเพิ่มเติม:
คุณยุวลักษณ์ เหมะวิบูลย์ กลุ่มงานสื่อสารสังคม โทร.086-373-5413