- 126 views
เลขาธิการ สช. นำบุคลากรสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ปฏิญาณตนขอเป็นองค์กรแห่งความโปร่งใส วางกฎเหล็ก ๙ ข้อต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น พร้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต ผนึกภาคีสรพ., สวรส., ปปช., ก.พ.ร., ศูนย์คุณธรรม และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ขับเคลื่อนสังคมไทยและระบบราชการให้ใสสะอาด
เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ คณะกรรมการ ผู้บริหาร และบุคลากรทุกฝ่ายของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดพิธีประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตในองค์กร ภายใต้แนวคิด “สช. ร่วมขับเคลื่อนองค์กรธรรมาภิบาลตามรอยพ่อ” พร้อมเสวนา “เราจะร่วมสร้างองค์กรธรรมาภิบาลในหน่วยงานภาครัฐได้อย่างไร” โดยมี สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์กรมหาชน), สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.), สำนักคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.), องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) และศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) เข้าร่วม ณ ห้องประชุมสานใจ ๑/๑ อาคารสุขภาพแห่งชาติ จ.นนทบุรี
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ผู้บริหารและบุคลากรของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติทุกคน มีความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์อย่างชัดเจนในการไม่ยอมรับการทุจริตคอร์รัปชั่น ร่วมกันยึดแนวปฏิบัติสร้างวัฒนธรรมความซื่อสัตย์ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ทั้งภายในองค์กรและการทำงานกับภาคีเครือข่ายทางสังคมทั่วประเทศ พร้อมจะมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ สร้างความสุขให้ประชาชนควบคู่กับการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการสร้างค่านิยมซื่อสัตย์สุจริต และน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ มาใช้ในการดำเนินชีวิต
“สช. มุ่งมั่นดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ให้เกิดระบบสุขภาพที่ดี พัฒนาและขับเคลื่อนด้วยกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมบนพื้นฐานทางปัญญา เราจะยึดมั่นในหลักคุณธรรม จริยธรรมตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี รับผิดชอบต่อสังคม ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น เสริมสร้างสังคมใช้เข้มแข็ง ไม่ทอดทิ้งกัน ยึดแนวปฏิบัตินำพาให้เป็นองค์กรธรรมาภิบาลให้ได้ตามเจตนารมณ์”
ทั้งนี้ สช. ได้ออก ๙ แนวปฏิบัติขับเคลื่อนองค์กรธรรมาภิบาลสู่สังคมสุขภาวะ เพื่อใช้เป็นเครื่องเตือนใจในการทำงาน อาทิ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรไม่ยอมรับการทุจริต การกำกับดูแลกิจการที่ดี ไม่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และการสร้างช่องทางรับเรื่องร้องเรียนทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร เป็นต้น
นางศิริรัตน์ วสุวัต ผู้เชี่ยวชาญสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) กล่าวว่า ตามที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ได้ประกาศค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตประจำปี ๒๕๕๙ ปรากฏว่า ประเทศไทยได้คะแนนน้อยลงจาก ๓๘ เป็น ๓๕ และลำดับทุจริตเพิ่มขึ้นจากอันดับที่ ๗๖ เป็นอันดับที่ ๑๐๑ สะท้อนปัญหาการคอร์รัปชั่นภายในประเทศที่ยังไม่ลดลง ยังคงมีการทุจริตอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานภาครัฐยังไม่มีธรรมาภิบาลเพียงพอ
“ประเด็นที่ทำให้คะแนนความโปร่งใสของไทยลดลง หลักๆ มาจากการที่นักธุรกิจลงทุนภายในประเทศ เกิดการแทรกแซงโดยรัฐ ทำให้กระบวนการไม่โปร่งใสเพียงพอ มีการให้สินบนในการทำสัญญา จัดซื้อจัดจ้าง สะท้อนให้เห็นว่า การดำเนินการของรัฐยังยึดในระบบอุปถัมภ์ ไม่มีธรรมาภิบาล ทั้งๆ ที่รัฐบาลได้พยายามออกมาตรการ ระเบียบ กฎหมาย ควบคุมการคอร์รัปชั่น มีกิจกรรมรณรงค์ต่อเนื่อง แต่สิ่งสำคัญคือ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ขจัดสิ่งเป็นต้นเหตุของการคอร์รัปชั่น เปลี่ยนทัศนคติของการยอมรับทุจริตถ้าได้ประโยชน์ แยกให้ออกว่าอะไรคือประโยชน์ของตนเอง และประโยชน์ขององค์กร”
นางวิภาดา ตริตระการ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กล่าวว่า ก.พ.ร. มีวิสัยทัศน์ ในการขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดินให้มีธรรมภิบาลอยู่แล้ว โดยไม่ได้เน้นแค่เรื่องความโปร่งใส แต่เน้นการปฏิรูปงานระบบราชการให้เกิดประสิทธิภาพและ ประสิทธิผลของการทำงาน จัดระบบงานให้เกิดประโยชน์สุขต่อประชาชน ให้ความสำคัญของประชาชนมากขึ้น
“คะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตที่ลดลง ๓๘ มาอยู่ที่ ๓๕ ส่วนหนึ่งมาจากจำนวนประเทศที่สำรวจมากขึ้น จาก ๑๖๘ เป็น ๑๗๖ ประเทศ ซึ่งประเทศที่ได้คะแนนสูง ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การจะทำให้ประเทศไทยมีคะแนนสูงขึ้น ต้องเคารพกฎหมาย บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และอาศัยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน และภาครัฐในการดำเนินการป้องกันเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการคอร์รัปชั่น”
นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ ประธานกรรมการ คณะกรรมการบริหารศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ต้องยอมรับภาพลักษณ์ของไทยด้านคอร์รัปชั่นในมุมมองของต่างประเทศถือว่าแย่ลง ดังนั้นต้องเร่งการแก้ไข ความหวังของประเทศไทยในเรื่องคอร์รัปชั่นอยู่ที่ภาคประชาชนต้องมีความเข้มแข็ง เริ่มจากตนเองไม่ทุจริต และช่วยกันเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวัง และแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานควบคุมปราบปราม จัดทำระบบให้ชัดเจน เพราะราชการไม่สามารถเลือกนาย หรือเลือกผู้นำทางการเมือง
“เราต้องมีระบบการศึกษาที่ให้ความรู้ นำธรรมภิบาลเป็นมาตรฐาน ปฎิบัติยึดมั่นเป็นคนดี ส่งต่อเป็นลูกคลื่นให้คนรอบข้างดีด้วย พึงให้เป็นหน้าที่ของความเป็นคนไทย ตั้งแต่วันนี้จนกว่าจะหมดลมหายใจ”
นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวว่า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้พยายามชักชวนองค์กรต่างๆ เข้ามาร่วมดำเนินการต่อต้านคอร์รัปชั่นจากจุดเริ่มต้น ๒๐ องค์กร ขณะนี้ได้ขยายเป็น ๕๐ องค์กรแล้ว มีการดำเนินยุทธศาสตร์มากขึ้น เน้น ยุทธศาสตร์ ๓ ป. คือ ปลูกฝัง ป้องกัน และเปิดโปง ร่วมกับรัฐบาลในการทำข้อตกลงคุณธรรม ๓๕ โครงการ งบประมาณรวมประมาณ ๘๐,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งจากการดำเนินการสามารถลดการใช้งบประมาณในโครงการต่างๆ ได้มากพอสมควร
“การแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นไม่ใช่เรื่องของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของประชาชนทุกคน รัฐบาลต้องจริงจังที่จะดำเนินการ ไม่ใช่เพียงแค่สัญลักษณ์ และประชาชนต้องร่วมกันลุกขึ้นมาต่อต้าน เพราะประเทศที่ทำสำเร็จ ประชาชนเขาตื่นตัวและเอาจริงเอาจัง ส่วนหนึ่งของการทุจริตไม่ใช่เพียงภาครัฐ เอกชนนั่นเองที่เป็นผู้เสนอ ในทุกองค์มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ฉะนั้น ต้องรวบรวมคนดี ลดพื้นที่ของกลุ่มคนไม่ดีให้น้อยลง และออกไปจากสังคม ใครจะมองประเทศไทยอย่างไร ก็ไม่เป็นไร แต่เราอย่าดูถูกตัวเอง ลุกขึ้นมาทำให้วันพรุ่งนี้ดีขึ้น แม้จะใช้เวลานานก็ต้องทำ ผู้นำองค์กรสำคัญที่สุด กำหนดรูปแบบที่ชัดเจน ให้ฝ่ายปฏิบัติการรับรู้ และมีส่วนร่วม บทลงโทษต่อการทุจริตต้องถูกปฏิบัติเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร หรือฝ่ายปฏิบัติการ”
๙ แนวปฏิบัติ สช. ขับเคลื่อนองค์กรธรรมาภิบาล สู่สังคมสุขภาวะ
๑. สช. มุ่งมั่นสร้างและรักษาวัฒนธรรมองค์กรที่ยึดมั่นว่าจะไม่ยอมรับการทุจริตคอร์รัปชั่น รวมถึงไม่ละเลยหรือเพิกเฉยเมื่อพบเห็นหรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการกระทำที่เข้าข่ายคอร์รัปชั่น
๒. กลไกวิธีการทำงานของ สช. อันได้แก่ ข้อปฏิบัติในการกำกับดูแลกิจการที่ดี การควบคุมภายใน การบริหารความเสี่ยง และการตรวจสอบภายใน ให้มีเจตนารมณ์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นตามวัตถุประสงค์อย่างชัดเจน
๓. การป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้บริหารและพนักงานของ สช. ทุกคน โดยจะต้องให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามกระบวนการและแนวปฏิบัติที่มีผลบังคับใช้อย่างเคร่งครัด
๔. ผู้บริหารและพนักงานของ สช. ต้องไม่ปฏิบัติงานหรือยอมรับการทุจริตคอร์รัปชั่นตามที่ได้นิยามและกำหนดเป็นแนวปฏิบัติในงานด้านต่างๆ
๕. ผู้บริหารและพนักงานของ สช. ที่กระทำการคอร์รัปชั่นถือเป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณของสำนักงานจะต้องได้รับการพิจารณาโทษทางวินัยตามระเบียบที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ หากพบว่าการกระทำนั้นผิดกฎหมายจะต้องได้รับการพิจารณาโทษตามกฎหมาย
๖. สช. จะกำหนดให้มีและดำเนินการพัฒนาช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน ข้อคิดเห็น หรือการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริต และคอร์รัปชั่น รวมทั้งมีมาตรการให้ความเห็นและคุ้มครองผู้ร้องเรียน หรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการรายงานการทุจริตคอร์รัปชั่นตามนโยบายการแจ้งเบาะแสการกระทำผิด
๗. สช. จะมีการเปิดเผยข่าวสารข้อมูลตามมาตรฐานที่ดี และเปิดให้มีช่องทางการสื่อสารด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งภายในและภายนอกองค์กร
๘. สช. จะจัดให้มีการพัฒนาพนักงานในด้านความรู้ความเข้าใจ จิตสำนึก ค่านิยม ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น
๙. การดำเนินการตามนโยบายนี้ ให้ใช้แนวปฏิบัติตามที่ สช. กำหนดไว้ในคู่มือการกำกับดูแลกิจการที่ดีในเรื่องจรรยาบรรณ ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ รวมทั้งระเบียบ ข้อบังคับ และคู่มือการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143
กลุ่มงานส่งเสริมอัตลักษณ์องค์กร สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9123