สช.เปิดหลักฐาน ยันทั้งกฤษฎีกาและสช.ฟังทุกฝ่ายมาโดยตลอด แนะแพทยสภาให้ทำหน้าที่ของตัวเองที่ควรทำ หยุดป่วนล้มกฎกระทรวงมาตรา 12 | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

    หมออำพลยันกระบวนการจัดทำกฎกระทรวงตามมาตรา 12 ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการรับฟังข้อเสนอแนะจากแพทยสภา ข้องใจแพทยสภาให้ความเห็นชอบร่างกฎกระทรวงฯ ที่กฤษฎีกาตรวจแก้ไขแล้วก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการ แต่กลับสร้างความสับสนให้กับสังคมด้วยการนำเอาข้อกฏหมายมาตีความตามจินตนาการ และไม่ทำตามสิ่งที่เสนอไว้ในกรณีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการวินิจฉัย “วาระสุดท้ายของชีวิต” พร้อมระบุด้วยว่าหากมีการฟ้องร้องล้มกฎกระทรวงจริง สช.ยินดีชี้แจงต่อศาล แต่อยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เน้นผลประโยชน์ของประชาชนและสังคมเป็นสำคัญ
 
   วันที่ 14 กรกฎาคม 2554 ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ แถลงชี้แจงถึงข้อเท็จจริงในกระบวนการจัดทำกฎกระทรวงมาตรา 12 ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 หลังจากมีกลุ่มแพทย์บางกลุ่มระบุว่า กระบวนการจัดทำกฎหมายดังกล่าวไม่ได้รับฟังความคิดเห็นจากแพทยสภา จึงทำให้เกิดข้อกังวัลต่อการถูกฟ้องร้องหากบุคลากรวิชาชีพด้านสาธารณสุขทำตามกฎกระทรวง
 
   นายแพทย์อำพลกล่าวว่า กระบวนการจัดทำกฎกระทรวงว่าด้วย การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ. 2553 มีคณะกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายภาคส่วน และผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำ นอกจากนี้ ยังมีการจัดเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลและหน่วยงานอย่างกว้างขวางในหลายช่องทาง สำหรับแพทยสภาก็มีผู้แทนมาเข้าร่วมในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่ร่างกฎกระทรวงฯ เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) หรือเมื่อกฎกระทรวงผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปสู่การพิจารณาตรวจแก้ไขโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานกฤษฎีกาก็ได้เชิญผู้แทนแพทยสภาร่วมชี้แจงด้วย
 
   “ในช่วงที่กฤษฎีกาเชิญผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ร่วมพิจารณาร่างกฎกระทรวงนั้น แพทยสภามีหนังสือลงวันที่ 12 มกราคม 2553 ถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา เสนอข้อคิดเห็นรวม 6 ข้อ โดยหนึ่งในนั้นเสนอว่า การวินิจฉัยวาระสุดท้ายของชีวิต ควรกำหนดให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการวินิจฉัยตามประกาศที่แพทยสภากำหนด โดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้เป็นแนวทางที่ชัดเจนในการปฏิบัติ เช่นเดียวกับการวินิจฉัยสมองตาย แต่จนถึงวันนี้แพทยสภายังไม่ดำเนินการในเรื่องนี้แต่อย่างใด ในขณะที่กรรมการแพทยสภาบางคนกลับเปิดประเด็นใหม่ ๆ เช่นว่าแพทย์ไม่สามารถวินิจฉัยวาระสุดท้ายของชีวิตได้ ทั้งๆ ที่ทุกวันนี้ก็ทำกันเป็นปกติธรรมดาอยู่แล้ว” เลขาธิการ สช.กล่าว
 
   นายแพทย์อำพลกล่าวต่อว่า ในการพิจารณาร่างกฎกระทรวงฯ คณะกรรมการกฤษฎีกามีการประชุมพิจารณาทั้งสิ้น 7 ครั้ง และมีการเชิญผู้แทนหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมให้ความเห็นรวม 8 หน่วยงาน ได้แก่ แพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด กรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ สช. เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาร่างกฎกระทรวงเสร็จเรียบร้อย ก็ส่งร่างกฎหมายให้หน่วยงานต่างๆ ยืนยันให้ความเห็นชอบ และแพทยสภาได้มีหนังสือยืนยันให้ความเห็นชอบกับร่างที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยเสนอปรับปรุงเพิ่มเติมเฉพาะ 3 ประเด็น ในขณะเดียวกันแพทยสภาได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ให้ชะลอการออกกฎกระทรวงฯ และนายกรัฐมนตรีได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเรื่องดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้นำข้อเสนอของแพทยสภามาพิจารณา และแก้ไขตามข้อเสนอของแพทยสภาดังนี้
 
   1.ขอให้นิยามคำว่า “วาระสุดท้ายของชีวิต” ในร่างกฎกระทรวงข้อ 1 ว่าหมายถึง “ภาวะของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนา อันเกิดจากการบาดเจ็บหรือโรคที่ไม่อาจรักษาให้หายได้ และแพทย์ผู้ทำการตรวจรักษาวินิจฉัยแล้วว่า จากการพยากรณ์โรคตามมาตรฐานทางการแพทย์เห็นว่าภาวะนั้นนำไปสู่การตายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในระยะเวลาอันใกล้จะถึง และให้หมายรวมถึงภาวะของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาที่ได้รับการแพทย์ผู้ทำการตรวจรักษาวินิจฉัยตามมาตรฐานทางการแพทย์ว่ามีการสูญเสียหน้าที่อย่างถาวรของเปลือกสมองใหญ่ ที่ทำให้ขาดความสามารถในการรับรู้และติดต่อสื่อสารอย่างถาวร โดยปราศจากพฤติกรรมการตอบสนองใดๆที่แสดงถึงการรับรู้ได้ จะมีเพียงปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติเท่านั้น”
 
   ซึ่ง คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาว่า ในเมื่อแพทยสภาซึ่งมีหน้าที่ในการกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาวาระสุดท้ายของชีวิต เสนอให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้รับผิดชอบการรักษาเป็นผู้วินิจฉัยวาระสุดท้ายของชีวิต จึงได้แก้ไขตามข้อเสนอของแพทยสภา โดยให้ใช้คำว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้รับผิดชอบการรักษา” แทนคำว่า “แพทย์ผู้ทำการตรวจรักษา”
 
   2.ขอให้เพิ่มเติมถ้อยคำในร่างกฎกระทรวงข้อที่ 5 “ให้ถือฉบับที่ทำหลังสุดที่มายื่นกับแพทย์ผู้ทำการตรวจรักษาเป็นฉบับที่มีผลบังคับ” ในกรณีที่ผู้แสดงเจตนาทำหนังสือไว้หลายฉบับ โดย คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า การเพิ่มเติมถ้อยคำดังกล่าวเป็นไปเพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้นและไม่กระทบต่อสาระสำคัญ จึงได้แก้ไขตามที่แพทยสภาเสนอ
 
   3.เสนอให้แก้ไขร่างกฎกระทรวงเรื่องสถานที่ในการทำหนังสือแสดงเจตนาฯ แพทยสภาเสนอว่าต้องกำหนดให้ทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ที่สำนักงานเขต สำนักงานอำเภอ หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเท่านั้น ยกเว้นในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาลแล้ว หรือในกรณีที่ผู้ป่วยมีเหตุไม่สามารถเดินทางไปทำหนังสือแสดงเจตนาฯในสถานที่ดังกล่าวได้ ให้แพทย์ผู้รักษาเป็นผู้พิจารณาว่าควรทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ที่ใดได้นั้น
 
   คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า การกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องทำหน้าที่รับรองหนังสือแสดงเจตนาฯ เป็นการสร้างขั้นตอนยุ่งยากให้แก่ประชาชนเกินสมควร ไม่เหมาะสมกับสภาพสังคม และการกำหนดสถานที่ในการทำหนังสือแสดงเจตนาฯตามที่แพทยสภาเสนอมานั้น เกิดความยุ่งยากในทางปฏิบัติ ประชาชนทั่วไปไม่อาจใช้สิทธิดังกล่าวได้เลย จึงไม่สมควรแก้ไขตามที่แพทยสภาเสนอ
 
    “ถ้าแพทยสภาจะฟ้องศาลปกครองในเรื่องกฎกระทรวงตามที่เป็นข่าวมาตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ผมขอถามว่าแล้วแพทยสภาจะตอบคำถามประชาชนและสังคมอย่างไร เมื่อในเอกสารที่นำมาชี้แจงในวันนี้ระบุไว้ชัดเจนว่าแพทยสภามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำกฎกระทรวงนี้ และการทำก็เป็นไปตามขั้นตอนอย่างถูกต้องชอบธรรม แต่คำถามที่เกิดขึ้นใหม่หลังจากกฎกระทรวงประกาศใช้ เป็นไปได้ว่าตัวกฎหมายที่ออกมาไม่เป็นไปตามใจของแพทยสภาทุกประเด็น และหากมีการฟ้องจริง สช.ก็มีหน้าที่ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อศาล แล้วผลจะเป็นอย่างไรก็เคารพในการตัดสินใจของศาล แต่ห่วงอย่างเดียวว่าการฟ้องศาลจะไปกระทบหรือทำให้สิทธิของประชาชนที่ใช้เวลากว่า 11 ปี กว่าจะได้มาสะดุดหรือไม่” นายแพทย์อำพลกล่าว
 
   สำหรับผู้ที่สนใจและยังมีข้อข้องใจเกี่ยวกับกฎกระทรวงสิทธิไม่ยื้อตาย สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและคำตอบ ได้ในเวทีแลกแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินการตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ : การปฏิเสธการรักษา พยาบาลในวาระสุดท้ายของชีวิต ครั้งที่ 1 ที่ สช. จะจัดขึ้นในวันที่ 2 สิงหาคม 2554 ระหว่างเวลา 13.30 – 16.30 น. ทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์สุขภาพแห่งชาติ www.healthstation.in.th ซึ่งผู้สนใจสามารถร่วมแลกเปลี่ยนได้ทางหมายเลขโทรศัพท์ 02-832-9100
 
   โดยมี ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส ที่ปรึกษาศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) นพ.รุ่งนิรันดร์ ประดิษฐ์สุวรรณ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล นพ.สุรชัย โชคครรชิตไชย รอง ผอ.ด้านคุณภาพและพัฒนาบุคลากร รพ.พระนครศรีอยุธยา นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ศ.เกียรติคุณ ดร.วิจิตร ศรีสุพรรณ นายกสภาการพยาบาลคุณกานดาวศรี ตุลาธรรมกิจ พยาบาล รพ.สงขลานครินทร์ ร่วมแลกเปลี่ยน และดำเนินรายการโดย ประพจน์ ภู่ทองคำ นอกจากนี้ ยังมีการเปิดตัวการทำหนังสือแสดงเจตนาของคนดังอย่าง นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ด้วย.
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9140

รูปภาพ