นักกระบวนกร ผู้สานพลังสร้างนโยบาย | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   สช. เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการพัฒนาและขับเคลื่อนกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม โดยให้มีมิติความห่วงใยต่อสุขภาพเป็นวัตถุประสงค์สำคัญ
 
   เป้าหมายที่เราอยากเห็น คือ นโยบายสาธารณะทุกประเภทและทุกนโยบาย ในทุกกระทรวง ทบวง กรม และองค์กรรัฐต่างๆ ตลอดจนองค์กรปกครองท้องถิ่นทุกแห่ง ล้วนเป็นนโยบายที่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมที่มีคุณภาพ และ มีความห่วงใยต่อสุขภาวะของผู้คนในสังคม โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อย
 
   แม้จะมีหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบดำเนินการพัฒนาและแก้ปัญหาให้กับประชาชนโดยตรงอยู่แล้ว สช.ก็ยังคงมีบทบาทหนุนเสริมให้กับการทำงานของหน่วยงานเหล่านั้น ในด้านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ มีความพึงพอใจและช่วยกันดูแลรักษากันต่อไปอย่างยั่งยืน
 
   เกือบหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา สช. ของเราได้ประดิษฐ์คิดค้นและสร้างเครื่องมือสำคัญสำหรับส่งเสริม-สนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วม อย่างน้อย 3 ชิ้น ได้แก่ 1. ธรรมนูญสุขภาพ(Health Charter) 2. สมัชชาสุขภาพ (Health Assembly) 3. การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (Health Impact Assessment) ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมและมีการนำไปประยุกต์ใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็วมาก
 
   ด้านหนึ่งเป็นที่น่าดีใจอย่างยิ่ง เพราะ อบต. นับพันแห่งกำลังนำรูปแบบและแนวคิดธรรมนูญสุขภาพไปสร้างเป็นธรรมนูญการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตน ในขณะที่เครือข่ายประชาคมจังหวัดและภาคีการพัฒนาในพื้นที่ทั่วประเทศก็ได้นำเอารูปแบบสมัชชาสุขภาพจังหวัดไปใช้ในการขับเคลื่อนประเด็นสาธารณะที่เป็นจุดคานงัดของจังหวัดร่วมกัน ส่วนชุมชนและประชาคมท้องถิ่นที่เกรงว่าโครงการขนาดใหญ่จะไปกระทบต่อสุขภาพของตน ต่างสนใจนำแนวคิดและเครื่องมือการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพไปใช้ปกป้องสิทธิของตนเช่นกัน
 
   ส่วนอีกด้านหนึ่งก็มีเรื่องที่น่าห่วงกังวลอยู่ไม่น้อยเช่นกัน กล่าวคือผลลัพธ์และผลผลิตจากการนำเครื่องมือแต่ละชิ้นไปใช้กันอย่างอิสระเสรี ย่อมมีคุณภาพของผลงานที่แตกต่างหลากลายกันอยู่มาก เพราะมันขึ้นอยู่กับความเข้าใจและการยึดกุมปรัชญาแนวคิดหรือเจตนารมณ์ของแต่ละเครื่องมือ ของผู้ที่นำไปใช้งาน ที่อาจเบี่ยงเบนออกไปบ้างตามเป้าหมายแอบแฝงหรืออคติส่วนตัว จนอาจทำให้เกิดผลอันไม่พึงประสงค์ตามมา
 
   เพื่อวิ่งไล่ทันกระแสความตื่นตัวของพี่น้องประชาชนและชุมชนท้องถิ่น และสามารถสร้างสมดุลระหว่างปริมาณและคุณภาพในเรื่องดังกล่าว สช. ในฐานะสถาบันที่เป็นต้นกำเนิดและมีหน้าที่ส่งเสริมการใช้เครื่องมือ ได้เล็งเห็นบทบาทของวิทยากรชุมชนที่มีทักษะประสบการณ์ ระดับนักจัดกระบวนการที่สามารถ หรือที่เรียกกันว่านักกระบวนกร ว่าจะเป็นผู้เชื่อมโยง สานพลังและช่วยปิดช่องว่างเหล่านี้ได้
 
   ดังนั้น ตลอดระยะ 5 ปีของแผนงานหลักฉบับปัจจุบัน สช. จึงมีเป้าหมายที่จะพัฒนาศักยภาพและสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายนักกระบวนกรที่สามารถในการใช้เครื่องมือ 4PW ทั้งสามชนิด จำนวน 10,000 คน เพื่อไปหนุนเสริมชุมชนท้องถิ่นและพหุภาคีในพื้นที่ นักกระบวนกร 4PW เหล่านี้ จะผ่านกระบวนการคัดสรรมาจากเครือข่ายวิทยากรชุมชนโดยใช้อำเภอเป็นฐานในการค้นหา พัฒนาและสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจ ทั้งนี้ก็เพื่อให้มีหลักประกันด้านการกระจายตัว ครอบคลุมพื้นที่ 878 อำเภอและ 50 เขตของ กทม.
 
   คุณสมบัติสำคัญที่ต้องการสำหรับบุคลากรของเครือข่ายเหล่านี้ คือ เป็นผู้มีจิตอาสา พึ่งตนเองได้ มีภาวะผู้นำ เป็นนักเปลี่ยนแปลง และเชื่อในสันติวิธี ไม่สุดโต่ง
 
   นอกจากจะมีหลักสูตรการฝึกอบรมทางด้านเทคนิควิชาการและการปลูกฝังค่านิยมอย่างเป็นระบบแล้ว สช. จะจัดให้มีคณะที่ปรึกษาอาวุโสของ สช. และเครือข่ายนักสานพลังอีกเกือบ 1,000 คน ที่กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงและโค้ชอย่างใกล้ชิดอีกด้วย
 
   ฝากท่านสมาชิก คอยติดตามผลงานและช่วยให้กำลังใจการทำงานของพวกเขากันนะครับ.
 

รูปภาพ