ฐานความสำเร็จจาก ‘ล่างขึ้นบน’ ‘สุพรรณบุรี’ ชู “ธรรมนูญสุขภาพ” สู้โควิด-19 | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   “หลักใหญ่ใจความคือ การที่คนในชุมชนมาร่วมคิดร่วมทำบางอย่างด้วยกันบนโจทย์ที่ว่า อยากมีวิถีชีวิตอย่างไรในชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่ “พอเขาทำให้เกิดธรรมนูญหรือข้อตกลงของพวกเขาร่วมกันได้ ความยั่งยืนก็จะเกิดขึ้น”นายนพฤทธิ์ ศิริโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เปิดประเด็นพูดคุย
 
   ในแง่ของการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จังหวัดสุพรรณบุรีทำงานเชิงรุกด้วยการตั้งทีมสาธารณสุข-ปกครอง-อสม. เข้าตรวจค้นทุกหมู่บ้านตั้งแต่ช่วงแรกของการแพร่ระบาด เพื่อค้นหา ‘กลุ่มเสี่ยง’ ที่มาจากต่างพื้นที่หรือต่างประเทศแล้วทำการดูแลกักตัว พร้อมมาตรการป้องกันอื่นๆ รวมถึงการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
 
   แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ภายใต้มาตรการภาครัฐ ยังมีความเคลื่อนไหวอื่นที่มีลักษณะ ‘ล่างขึ้นบน’ นั่นคือ การทำงานร่วมกันของภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคเอกชน รวมถึงชุมชนต้นแบบพลัง ‘บวร’ (บ้าน-วัด-โรงเรียน) ที่ในจังหวัดสุพรรณบุรีมีอยู่ถึง 137 ชุมชน เรามุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันคือ ป้องกันไม่ให้โควิด-19 แพร่ระบาดในพื้นที่ การรับรู้ของประชาชน ณ วันนี้ไม่มีปัญหาแล้ว แต่ทำอย่างไรเมื่อรู้แล้วจะปฏิบัติจริง ตรงนี้ทำให้ธรรมนูญสุขภาพเป็นเครื่องมือที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะการออกกฎหมายบ้านเมืองหรือคำสั่งต่างๆ นั้น ออกมาจากข้างบนลงมาบังคับใช้ข้างล่าง แต่ธรรมนูญทำจากข้างล่างขึ้นไปข้างบน” รองผู้ว่าฯ สุพรรณบุรีกล่าว
 
   

โจทย์สำคัญ-อยากมีวิถีชีวิตอย่างไร?

 
   รองผู้ว่าฯ สุพรรณบุรีอธิบายลักษณะของ “ธรรมนูญสุขภาพ” ว่า หลักใหญ่ใจความคือ การที่คนในชุมชนมาร่วมคิดร่วมทำบางอย่างด้วยกันบนโจทย์ที่ว่า อยากมีวิถีชีวิตอย่างไรในชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่ “พอเขาทำให้เกิดธรรมนูญหรือข้อตกลงของพวกเขาร่วมกันได้ ความยั่งยืนก็จะเกิดขึ้นเพราะ 1.ตัวเขาต้องทำเอง 2.คนในชุมชนต้องร่วมกันทำ เพราะคุณคิดกันขึ้นมาเองว่าจะใช้กฎกติกานี้ในการอยู่ร่วมกัน 3.ใครก็ตามที่เข้ามาทำโน่นทำนี่ในพื้นที่ ต้องถามว่าประชาชนในพื้นที่ต้องการไหม ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะทำอะไรต้องถามเขาก่อน บ้านนี้เขาจะกินแบบนี้ จะอยู่แบบนี้ จะใช้ชีวิตแบบนี้ จะปลูกต้นไม้แบบนี้ จะปลูกข้าวแบบนี้ จะจัดการขยะแบบนี้ ต้องฟังเขาและทำให้สอดคล้องกับที่เขากำหนดกติกาของเขาไว้”
 
   

“ธรรมนูญสุขภาพเทศบาลตำบลโคกคราม”

 
   ต้นแบบหนึ่งของความสำเร็จคือ “ธรรมนูญสุขภาพเทศบาลตำบลโคกคราม ว่าด้วยมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พ.ศ.2563” เพราะผู้คนในชุมชนเห็นร่วมกันว่า โควิด-19 คือ ปัญหาของพวกเขาทุกคน ดังนั้น คนในชุมชนก็จะตระหนักว่าต้องสวมหน้ากาก ต้องล้างมือ ต้องคัดกรองวัดไข้ การจัดกิจกรรมต่างๆ หากทำให้เกิดความเสี่ยงพวกเขาก็จะไม่ทำ หรือหากจำเป็นต้องทำก็แจ้งหน่วยงานในพื้นที่และมีมาตรการต่างๆ ที่เหมาะสม เช่น บัตรเชิญต้องระบุให้คนร่วมงานสวมหน้ากาก มีการคัดกรองวัดไข้ในงาน จัดเก้าอี้ห่างระยะ 1-2 เมตร รวมถึงเรื่องสุขอนามัยต่างๆ ที่จะเข้มงวดขึ้น
 
   นอกจากจะเป็นวิธีคิดเกี่ยวกับอำนาจที่กลับตัวกลับหางแล้ว รองผู้ว่าฯ ยังเห็นว่า วิธีการเช่นนี้เป็นพื้นฐานการมีส่วนร่วมที่สำคัญที่จะขยายผลไปสู่การแก้ปัญหาเรื่องอื่นๆ ในชุมชน หรือกระทั่งสามารถกำหนดการออกแบบนโยบายระดับอื่น
 
   “เวลาที่ตกลงกันแต่แรกแบบนี้ จะไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น เป็นหลักการเหมือนประชาคมในหมู่บ้าน แต่ประชาคมบางทีราชการไปสั่งให้ทำก็มี แต่ธรรมนูญชุมชนไม่มีใครสั่ง เป็นกลุ่มคนผู้ก่อการดีกลุ่มเล็กๆ ริเริ่มขึ้นมาก่อน อยากเห็นบ้านที่เขาอยู่เป็นอย่างไร เขาก็ชวนกันคิดแล้วก็ค่อยๆ ขยายไปเรื่อยๆ ที่สำคัญภาคราชการ เช่น เทศบาลตำบลโคกครามก็เอาด้วย ผู้นำเอาด้วย ชาวบ้านเอาด้วย มันก็สำเร็จกลายเป็นธรรมนูญตำบล พอระดับตำบลเข้มแข็ง ฝ่ายอำเภอ จังหวัด เวลาจะลงมาในพื้นที่ก็ต้องฟังชาวบ้าน ว่าเขาต้องการอะไร จึงเป็นอีกกลไกในการพัฒนา ถ้าทุกชุมชนมีธรรมนูญทั้งหมด อำเภอ จังหวัด เทศบาล อบต. ก็จะต้องนำธรรมนูญนี้ไปกำหนดเป็นแผน เป็นข้อบัญญัติ เป็นการทำโครงการต่างๆ ท้ายที่สุด จะทำให้เกิดความยั่งยืนและตอบโจทย์ประชาชนได้” รองผู้ว่าฯ สุพรรณบุรีกล่าว
 
   

‘ตอบโจทย์’ เรื่องอื่นนอกเหนือโควิด-19

 
   เมื่อความสำเร็จเกิดขึ้นที่โคกคราม กลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการผลักดันให้พื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศใช้ธรรมนูญสุขภาพเป็นเครื่องมือสู้ภัยโควิด-19 พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัด คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขต 5 และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี นายนิมิต วันไชยธนวงศ์ เพื่อหารือการขยายผล
 
   “ตอนนี้ เรากำลังส่งเสริมให้ทุกตำบลมีสภาองค์กรชุมชน ซึ่งเป็นสภาภาคประชาชน ไม่ใช่กลไกของรัฐ แล้วสภาองค์กรชุมชนก็จะชวนชาวบ้านคิด ชวนชาวบ้านทำ เราอยากให้มีธรรมนูญตำบลในทุกตำบล แล้วใช้ขยายผลไปเรื่องแผนพัฒนาตำบล อำเภอ จังหวัด ต่อไป ที่สำคัญ หลักการของธรรมนูญจะเป็นพื้นฐานในการแก้ปัญหาให้กับหมู่บ้านหรือตำบลนั้น เพราะมันตอบโจทย์เรื่องอื่นนอกเหนือจากโควิดด้วย ไม่ว่ายาเสพติด ขยะ หรืออะไรก็ตาม” รองผู้ว่าฯ สุพรรณบุรีกล่าว
 
   

ทบทวน-เพิ่มเติม-พัฒนา

 
   ด้าน อาจารย์รัตนา สมบูรณ์วิทย์ อดีตกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า สถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีเคยพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แต่เป็นคนที่เดินทางมาจากที่อื่น และการระบาดในพื้นที่ไม่มีปรากฏจนถึงตอนนี้ อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังคงมีความตื่นตัวในการป้องกันตนเองอย่างดียิ่ง ที่สำคัญจังหวัดสุพรรณนั้นมีถึง 20 ตำบล ที่มีการทำธรรมนูญสุขภาพตำบลหรือข้อตกลงร่วมของชุมชนก่อนมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
 
   “เราก็ไปดูว่าที่ประกาศใช้กันแล้ว มีมาตรการไหนที่จะหยิบมาสักหนึ่งประเด็น มาส่งเสริมสุขภาวะชุมชนเข้มแข็ง แต่ละแห่งก็มีจุดเน้นต่างกัน เช่น ส่งเสริมความเข้มแข็งของผู้สูงอายุ ส่งเสริมกิจกรรมทางกายด้วยศิลปะท้องถิ่น การจัดการขยะครบวงจร การปลูกผักปลอดสารพิษ เป็นต้น และที่กำลังขยับกันอยู่คือ แผนเฝ้าระวังรับมือกับโควิด-19 สร้างพื้นที่นำร่อง 10 ตำบล เพื่อให้มาทบทวนธรรมนูญสุขภาพตำบลแล้วเพิ่มเติมเรื่องการรับมือโควิด-19 รวมถึงนำมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปี 2552 เรื่องโรคอุบัติใหม่มาประกอบใช้ เพราะเหมาะกับสถานการณ์ในปัจจุบันอย่างยิ่ง มีกระทั่งการควบคุมการเลี้ยงสัตว์ การบริโภคสัตว์ป่า” อดีตกรรมการสุขภาพแห่งชาติกล่าว
 
   

บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง

 
   ด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้น อาจารย์รัตนา ตั้งข้อสังเกตว่า ประชาชนในพื้นที่มีการปรับตัวไปใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น ธุรกิจโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น แทบทุกบ้านทำอาหารกินเอง กลุ่มเกษตรกรที่ไม่สามารถส่งผลผลิตออกขายได้ก็นำมาขายริมถนน ตลาดนัดเร่มีมากขึ้น ประชาชนออกมาจับจ่ายซื้อหาได้ในราคาไม่แพง อุดหนุนกันเอง ทำให้เกษตรกรอยู่รอดได้และผู้บริโภคก็ได้ของดี นอกจากนี้ ยังมีการออกแคมเปญ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ประกอบกับการที่เครือข่ายในพื้นที่ทำงานสนับสนุนให้ทุกครัวเรือนปลูกผักไร้สารเคมีมา 2 - 3 ปีแล้ว
 
   “การใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงจะมีมากขึ้นและเป็นรูปธรรมมากขึ้นหลังจากนี้ อันที่จริงเราส่งเสริมเรื่องนี้กันอยู่แล้ว มีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์เยอะเลยในพื้นที่ และมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปีที่แล้ว พวกเราก็เห็นพ้องร่วมกันว่าอยากจะพัฒนามาตรฐานและสัญลักษณ์อาหารปลอดภัยของจังหวัดสุพรรณ” อาจารย์รัตนากล่าว
 
   

‘สุพรรณบุรีเซฟตี้ฟู้ด’ ฟื้นฟูเศรษฐกิจยุคโควิด-19

 
   อดีตกรรมการสุขภาพแห่งชาติเล่าต่อว่า เริ่มมาจากการที่คนพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์กันมานับ 20 ปี มีศูนย์การเรียนรู้หลายแห่ง จึงยกระดับเกษตรปลอดภัยเป็นเกษตรอินทรีย์แบบชุมชนมีส่วนร่วม โดยใช้ระบบ Participatory Guarantee Systems (PGS) หรือการรับรองกันเอง โดยชุมชนจะบันทึกข้อมูลต่างๆ อย่างละเอียดมาก ตัวอย่างเช่น ชุมชนบ้านดอนศาลเจ้า อำเภอสองพี่น้อง ที่สามารถทำเกษตรอินทรีย์จนได้ใบรับรองจำนวนมากและไม่ต้องออกแรงหาตลาดเอง มีบริษัทมารับซื้อถึงในพื้นที่ และยังมีกลุ่ม Young Smart Farmer ทำศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC) “เราหนุนให้เขาไปพัฒนามาตรฐานว่า อาหารปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคหน้าตาเป็นยังไง แล้วก็ได้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิมาสนับสนุน มีแอพลิเคชั่นฟอร์มไปเก็บข้อมูล พอได้แนวทางมาตรฐานที่แน่ชัด ก็ควรต้องมีแบรนด์ ‘สุพรรณบุรีเซฟตี้ฟู้ด’ แบบที่ผู้บริโภคเห็นปุ๊บจะเชื่อมั่นได้ทันที เรื่องนี้เขากำลังทำกันอยู่”
 
   ปัจจุบันกลุ่มเกษตรอินทรีย์มีการออกจำหน่ายผลิตภัณฑ์อินทรีย์แทบทุกวัน โดยทุกวันจันทร์และพฤหัสบดีจะมีตลาดหน้าโรงพยาบาลศรีประจันต์ วันพุธมีตลาดที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด วันศุกร์มีตลาดที่ศูนย์ราชการสุพรรณบุรี วันอาทิตย์มีตลาดที่สหกรณ์การเกษตรศรีประจันต์ “ตอนนี้กำลังขยายไปเรื่อยๆ พวกเขาสามารถดูแลตัวเองได้ แล้วยังได้เจอกลุ่มคนใหม่ๆ คือ พวกคนตกงาน ถูกเลิกจ้างกลับมาอยู่บ้านพ่อแม่ที่สุพรรณบุรี เราก็ไปชวนกันมาทำร่วมกัน โดยมีตัวอย่างของกลุ่ม Young Smart Farmer ที่อยู่รอดได้ แล้วก็มีความสุขด้วย” อาจารย์รัตนากล่าวทิ้งท้าย
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

รูปภาพ (เพิ่มเติม)