คมส. เคลียร์ยุทธศาสตร์ฯ เขตเมือง บูรณาการแผนดูแลสุขภาพคนเมือง | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   คมส. ให้ความเห็นยุทธศาสตร์สุขภาพเขตเมือง บูรณาการการทำงานของรัฐ ภาคเอกชน และท้องถิ่น ลดซ้ำซ้อน เพิ่มประสิทธิภาพ เน้นระบบดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิและการส่งต่อ เพิ่มอัตรากำลังหมอครอบครัวแก้ปัญหาสุขภาพคนเมือง พร้อมสรุป ๘ แนวทางปรับการทำงาน คมส. พลิกโฉมหน้าการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติให้เป็นรูปธรรม
 
   เมื่อวันที่ ๑๙ มี.ค. ๒๕๖๑ มี การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ครั้งที่ ๑/๒๕๖๑ โดยมี ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการฯ เป็นประธานการประชุม ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ
 
   ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง (พ.ศ.๒๕๖๑-๒๕๗๐) ที่เกิดจากการทำงานของคณะกรรมการระดับชาติจัดทำยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง ที่มีองค์ประกอบจากหลายภาคส่วน อาทิ กระทรวงสาธารณสุข ภาคเอกชน และกรุงเทพมหานคร (กทม.) รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) โดยยุทธศาสตร์ฉบับนี้จะเป็นการบูรณาการการทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการจัดบริการสุขภาพของประชาชนเขตเมืองที่มีความซับซ้อนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสอดคล้องกับบริบทและความต้องการของประชาชน
 
   โดย คมส. เสนอให้คณะกรรมการระดับชาติจัดทำยุทธศาสตร์ฯ นำข้อสังเกตจากที่ประชุมไปปรับเพิ่มเติมร่างยุทธศาสตร์และสกัดเนื้อหาสาระให้สมบูรณ์มากขึ้น โดยให้ทำความเข้าใจยุทธศาสตร์กับหน่วยงาน ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันให้ชัดเจนก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ในเดือน เม.ย. เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป
 
   “ยุทธศาสตร์ฉบับนี้ต้องไม่เอากระทรวงสาธารณสุขเป็นตัวตั้ง เพราะการดูแลสุขภาพเขตเมืองจะมีประสิทธิภาพและสำเร็จตามเป้าหมาย ทุกภาคส่วนต้องมาร่วมมือและช่วยกันทำ”
 
   นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการระดับชาติจัดทำยุทธศาสตร์ฯ กล่าวถึงเนื้อหาของยุทธศาสตร์ฯ ว่า การขยายตัวของเมืองเกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้ประชาชนอาศัยในเขตเมืองและใช้ชีวิตแบบคนเมืองมากขึ้นเป็นสัดส่วนกว่า ๕๐% ของประชากรทั้งหมดในปัจจุบัน ประเทศไทยก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยในปี ๒๕๕๔ มีสัดส่วน ๓๖.๑% ก่อนจะเพิ่มมาเป็น ๔๕.๙% ในปี ๒๕๕๖ และอนาคตจะเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนมากกว่า ๕๐% ขณะที่การจัดการบริการสุขภาพในเขตเมืองมีความหลากหลาย ดำเนินงานโดยหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงสาธารณสุข ท้องถิ่น เช่น กทม. และภาคเอกชน จึงเป็นที่มาให้เกิดการบูรณาการเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ฯ ฉบับนี้ขึ้น
 
   ทั้งนี้ หัวใจสำคัญของการจัดบริการสุขภาพเขตเมืองคือการสร้างความเข้มแข็งของระบบบริการปฐมภูมิ โดยมีหมอเวชศาสตร์ครอบครัวเป็นกลไกในการทำงานที่สำคัญ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างผลิตหมอด้านนี้รองรับการทำงาน คาดว่าหมอจบใหม่ประมาณ ๓,๐๐๐ คนต่อปี จะเข้าสู่หมอเวชศาสตร์ครอบครัวได้ ๕๐% อีก ๕๐% เป็นหมอเฉพาะทาง อย่างไรก็ตาม จะมีการหารือในเรื่องการผลิตบุคลากรรองรับกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อให้การผลิตและความต้องการตรงกัน และจะให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบการเก็บข้อมูลมาใช้ในการจัดทำระบบข้อมูลสุขภาพเขตเมือง ให้สามารถแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงกันได้อย่างมีเอกภาพ และมีระบบข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคลเชื่อมโยงการให้บริการในสถานพยาบาลทุกระดับ รวมถึงมีการปรับโครงสร้างการทำงานให้มีสำนักงานปฐมภูมิเพื่อการขับเคลื่อนงานเวชศาสตร์ครอบครัวและระบบการส่งต่อผู้ป่วยอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย
 
   ผศ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างยุทธศาสตร์ฯ เป็นเรื่องการกระจายอำนาจ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขต้องลดบทบาทลง และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทมากขึ้น
 
   ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า ที่ประชุม คมส. ยังได้รับทราบข้อสรุปแนวทางการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจากการประชุมเชิงปฏิบัติการทบทวนกระบวนการดำเนินงาน (Retreat) ของ คมส. ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๑๖-๑๗ ก.พ.ที่ ผ่านมา ในเรื่องการลำดับความสำคัญของการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ ด้วยการเลือกเรื่องที่จะเดินหน้าให้เป็นรูปธรรม เป็นเรื่องที่สร้างการเปลี่ยนแปลง และเกิดผลดีต่อสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง โดยจะต้องมีการนำเสนอในรูปแบบที่เข้าใจง่ายสู่คณะรัฐมนตรีบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ที่เป็นจริงและจับต้องได้ เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจ เห็นความสำคัญ และสร้างการขับเคลื่อนจากทุกหน่วยงานไปพร้อมๆ กัน
 
   ด้าน นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จากการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ มีข้อสรุป ๘ ด้านดังนี้ ๑.สร้างความเข้มแข็งของกระบวนการทำงานของทั้งกรรมการและอนุกรรมการ คมส. รวมถึงการสนับสนุนกลไกขับเคลื่อนมติต่างๆ ๒.ให้คณะกรรมการ คมส. จัดลำดับความสำคัญมติเพื่อเลือกมติที่จะขับเคลื่อนแบบเร่งด่วนและให้เห็นผลเป็นรูปธรรมระยะสั้น (Quick Win) ภายใน ๑ ปี ๓.สรุปและถอดบทเรียนการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเพื่อให้เห็นเส้นทางและช่องทางการขับเคลื่อน ๔.พัฒนาระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับความก้าวหน้ามติสมัชชาสุขภาพฯ เพื่อใช้สำหรับวางแนวทางการขับเคลื่อนมติ ๕.พัฒนาการขับเคลื่อนระดับโครงสร้าง นโยบาย โดยใช้บทบาทของ คสช. เสนอต่อคณะรัฐมนตรีประสานในระดับกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนมติสมัชชาฯ เป็นรูปธรรม
 
   ๖.สร้างรูปธรรมการขับเคลื่อนระดับพื้นที่ ๗.การขับเคลื่อนลงพื้นที่ผ่านกลไกคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) หรือกลไกอื่น เช่น คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิต (พชอ.) สมัชชาสุขภาพจังหวัด เป็นต้น และ ๘.สื่อสารสาธารณะโดยใช้ช่องทางและรูปแบบการสื่อสารที่หลากหลาย เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนมติและทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคม โดยแนวทางการทำงานทั้ง ๘ ข้อดังกล่าว จะนำไปสู่การปรับปรุงและพลิกโฉมกระบวนการทำงานของ คมส. หลังจากนี้
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ