กรรมการสุขภาพแห่งชาติห่วงบุคลากรสุขภาพ ต้อง ‘คิดก่อนคลิก’ ไม่ละเมิดสิทธิสุขภาพ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเห็นชอบแนวทางใช้สื่อออนไลน์ของผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพ ตามมาตรา ๗ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ หนุนสภาวิชาชีพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปรับใช้ต่อ หลังพบโพสต์-แชร์ ละเมิดสิทธิผู้ป่วยและจรรยาบรรณวิชาชีพ พร้อมผลักดันนโยบายสาธารณะลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อเป็น “วาระแห่งชาติ” เตรียมเสนอ ครม. เร็วๆ นี้
 
   การประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๕/๒๕๕๙ วันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๙ ณ ห้องประชุมสานใจ ๑ ชั้น ๖ อาคารสุขภาพแห่งชาติ มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียงกัน
 
   พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปัจจุบันการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ทั้ง Facebook Line Instagram ฯลฯ ได้ความนิยมอย่างแพร่หลาย แม้มีประโยชน์ด้านการสื่อสาร แต่ก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง เนื่องจากพบการละเมิดสิทธิและข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลเป็นจำนวนมาก ทั้งโดยบุคคลทั่วไปและผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพเอง ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จึงได้เห็นชอบ “แนวทางปฏิบัติในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพ” เพื่อให้เป็นมาตรฐานกลางสำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพและทุกภาคส่วนในสังคมในการใช้โซเชียลมีเดียโพสต์ข้อความ แชร์ข้อมูล หรือภาพถ่ายต่างๆ ให้เกิดความเหมาะสม เป็นประโยชน์ และไม่กระทบต่อสิทธิของผู้ป่วยหรือญาติต่อไป
 
   พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า แนวทางปฏิบัติในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพ มีหลักการสำคัญด้วยกัน ๗ หมวด รวม ๒๗ ข้อ ถือว่าเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับหลักการตามมาตรา ๗ แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ที่กำหนดให้ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลเป็น ความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยในประการที่น่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้นโดยตรง หรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องเปิดเผย
 
   “แนวทางฯ นี้ไม่ได้เป็นการห้ามหรือบังคับผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพในการใช้โซเชียลมีเดีย แต่จะเป็นแนวปฏิบัติหรือแนวทางที่ช่วยทำให้ทุกคน ไม่เฉพาะแต่ในวิชาชีพด้านสุขภาพ ได้ตระหนักถึงการใช้ระบบสื่อสารออนไลน์ด้วยการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างเช่น สภาวิชาชีพ สถานพยาบาล และหน่วยงานต่างๆ ในระบบสุขภาพ สามารถนำแนวทางนี้ไปปรับใช้ได้ตามบริบทของแต่ละองค์กรต่อไป”
 
   ด้าน นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึง แนวทางปฏิบัติในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพว่า ทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้สนับสนุนคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาขึ้น โดยได้ผ่านการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในสังคมอย่างรอบด้าน ทั้งองค์กรวิชาชีพ สถาบันการศึกษา สถาบันวิชาการ และภาคีที่เกี่ยวข้องจากทั่วประเทศ และยังมีการทำหนังสือขอความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ กว่า ๓๐๐ องค์กร และพร้อมจะรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายต่อไป จึงมั่นใจว่าจะได้รับความร่วมมือในการนำไปปฏิบัติอย่างถูกต้องและแพร่หลาย อย่างไรก็ตาม สช. จะยังคงเปิดเวทีเพื่อสื่อสารกับองค์กรต่างๆ เช่น สภาวิชาชีพ ซึ่งจะเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรงเพื่อการนำแนวทางดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติต่อไปด้วย
 
   สำหรับแนวทางปฏิบัติฯ มีหลักสำคัญทั้งสิ้น ๗ ด้าน ซึ่งจะสร้างความชัดเจนในการคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพของประชาชนและผู้ป่วยที่รับบริการทางสุขภาพในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ประกอบไปด้วย หลักทั่วไป หลักจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับสื่อสังคมออนไลน์ ความเป็นวิชาชีพ การคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วย การยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรมและจริยธรรม และการให้คำปรึกษาออนไลน์
 
   นอกจากนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ยังมีมติเห็นชอบ “ยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย พ.ศ.๒๕๕๙-๒๕๖๘” เพื่อเป็นการดำเนินตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๘ เรื่อง นโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) เนื่องจากปัจจุบัน คนไทยมีการบริโภคเกลือเกินกว่า ๔ กรัม/คน/วัน เกินกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) นำมาสู่โรคที่ทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และเบาหวาน ซึ่งอัตราการเสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นำไปสู่ความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึงปีละเกือบ ๘ หมื่นล้านบาท
 
   “คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเห็นความสำคัญเรื่องนี้มาก จึงจะได้ประสานให้กระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นหน่วยงานหลัก นำแผนยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทยเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อผลักดันให้เรื่องนี้เป็น วาระแห่งชาติ มีคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมาขับเคลื่อน ระดมทุกฝ่ายมาร่วมมือกันแก้ปัญหาและสร้างความตระหนัก ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน สอดคล้องกับแนวทางประชารัฐของรัฐบาลชุดนี้ โดยมั่นใจว่าจะช่วยลดปัญหาโรคไม่ติดต่อร้ายแรงที่สร้างความสูญเสียชีวิตคนไทยในแต่ละปีเป็นจำนวนมากได้”
 

ท่านสามารถดูภาพที่เหลือโดยกดที่นี่

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ