- 159 views
คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หนุนกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงต่างประเทศจับมือทุกฝ่ายเดินหน้าแผนยุทธศาสตร์สุขภาพโลกของประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๘-๒๕๖๓ รับมือโรคระบาดและภัยคุกคามสุขภาวะประชาชนจากยุคโลกไร้พรมแดน
เมื่อวันที่ ๒๐ ก.พ. ๒๕๕๘ ในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๘ ที่มี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ณ ห้องประชุมสานใจ ๑ ชั้น ๖ อาคารสุขภาพแห่งชาติ ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์สุขภาพโลกของประเทศไทย พ.ศ.๒๕๕๘–๒๕๖๓ (Thailand Global Health Strategies 2015–2020) ซึ่งเป็นหนึ่งในมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๗ ที่จัดไปเมื่อวันที่ ๒๔-๒๖ ธ.ค. ๒๕๕๗ โดยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข (ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน) รับเป็นเจ้าภาพหลักเสนอแผนยุทธศาสตร์สุขภาพโลกฯ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบ และเตรียมจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ให้เสร็จภายใน ๑ ปีเพื่อเร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ
เมื่อวันที่ ๒๐ ก.พ. ๒๕๕๘ ในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๘ ที่มี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ณ ห้องประชุมสานใจ ๑ ชั้น ๖ อาคารสุขภาพแห่งชาติ ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์สุขภาพโลกของประเทศไทย พ.ศ.๒๕๕๘–๒๕๖๓ (Thailand Global Health Strategies 2015–2020) ซึ่งเป็นหนึ่งในมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๗ ที่จัดไปเมื่อวันที่ ๒๔-๒๖ ธ.ค. ๒๕๕๗ โดยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข (ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน) รับเป็นเจ้าภาพหลักเสนอแผนยุทธศาสตร์สุขภาพโลกฯ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบ และเตรียมจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ให้เสร็จภายใน ๑ ปีเพื่อเร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ
รองนายกรัฐมนตรี (ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์) กล่าวถึงสถานะของประเทศไทยในเวทีโลกว่า “ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เปลี่ยนบทบาทจากการเป็นประเทศ ‘ผู้รับ’ การช่วยเหลือจากนานาชาติ ไปเป็น ‘หุ้นส่วน’ ในการร่วมจัดการปัญหาระหว่างประเทศ และในบางครั้งประเทศไทยยังต้องแสดงบทบาทเป็น ‘ผู้ให้’ มากขึ้น การแสดงบทบาทในเวทีโลกของไทยเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือจัดการกับโรคภัยต่างๆ นั้นสอดคล้องกับแนวทางขององค์การสหประชาชาติที่ให้ทุกประเทศตระหนักถึงภัยคุกคามในเรื่องนี้ และกำหนดเป็นวาระสำคัญเร่งด่วน สุขภาพโลกในปัจจุบันต้องเป็น One Health คือ เป็นสุขภาพหนึ่งเดียวของคนทั้งโลก”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน) ในฐานะรองประธานกรรมการฯ เน้นว่า ความสำเร็จของการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์สุขภาพโลกฉบับนี้ไปสู่การปฏิบัติ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายในสังคม เพราะสุขภาพเป็นเรื่องกว้างไปแล้ว กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการต่างประเทศที่เป็นสองหน่วยงานที่เริ่มต้นทำงานมาต้องแสวงหาความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นๆ เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ดูแลคนตั้งแต่เกิดจนตาย รวมถึงภาคส่วนอื่นๆ ทั้งภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ภาควิชาการด้วย การจัดทำแผนยุทธศาสตร์สุขภาพโลกของประเทศไทยฉบับนี้นับเป็นฉบับแรกของประเทศกลุ่มกำลังพัฒนา และต้องเร่งขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติให้ได้
หลังจากกรรมสุขภาพแห่งชาติเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง แผนยุทธศาสตร์สุขภาพโลกในวันนี้แล้ว กระทรวงสาธารณสุขรับเป็นหน่วยงานเสนอแผนยุทธศาสตร์ฯ เข้าสู่การพิจารณาให้ความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพโลก โดยมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขและปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานร่วมกัน องค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ชุดนี้จะมาจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม มีภารกิจเฉพาะในการจัดทำแผนปฏิบัติการกำหนดกลไกการดำเนินการสนับสนุน ติดตามความก้าวหน้า ประเมินผล รวมถึงสื่อสารการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ฯ อย่างเป็นรูปธรรมให้แล้วเสร็จภายใน ๑ ปี และเร่งดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการทันที โดยจะมีการรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ฯ ในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๙ พ.ศ.๒๕๕๙ ด้วย
แผนยุทธศาสตร์สุขภาพโลกของประเทศไทย พ.ศ.๒๕๕๘–๒๕๖๓ ประกอบด้วย ๕ ประเด็นยุทธศาสตร์ คือ ๑.ส่งเสริมความมั่นคงด้านสุขภาพ ๒.เสริมสร้างระบบสุขภาพให้เข้มแข็ง ยุติธรรม และเป็นธรรม ๓.ส่งเสริมบทบาทนำและความรับผิดชอบของไทยในประชาคมโลก ๔.เสริมสร้างความสอดคล้องระหว่างนโยบายสุขภาพภายในประเทศและระหว่างประเทศ และ ๕.เสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรและองค์กรในด้านสุขภาพโลกอย่างยั่งยืนและพัฒนากลไกการประสานงาน
วัตถุประสงค์ของแผนดังกล่าว จะมุ่งสนับสนุนความเข้มแข็งของระบบการจัดการกับปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ ภัยที่เกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ ภัยธรรมชาติ และภัยทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะที่มีแนวโน้มแพร่ระบาดไปทั่วโลก และปัญหาสุขภาพที่มีความสำคัญระดับโลกตามที่องค์การสหประชาชาติจะกำหนดเป็นวาระเพื่อการพัฒนาภายหลังปี ๒๕๕๘ พร้อมกับสนับสนุนให้เกิดนโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อการพัฒนาสุขภาพโดยกลไกที่มีส่วนร่วม สนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพและหลักประกันสุขภาพให้มีความเข้มแข็งและเป็นธรรม สร้างเสริมบทบาท ภาพลักษณ์ และความรับผิดชอบของประเทศไทยต่อประชาคมโลก เช่น การเป็นศูนย์กลางการผลิตและพัฒนาบุคลากรสุขภาพ และพัฒนาขีดความสามารถอย่างยั่งยืนในสุขภาพโลก ทั้งในด้านบุคคล องค์กร กลไกทำงาน และเครือข่าย ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายให้ประชาชนไทยมีสุขภาวะดี ประเทศมีความมั่งคงปลอดภัยด้านสุขภาพ รวมทั้งสามารถแสดงบทบาทและความร่วมมือระดับสากลเพื่อแสดงความรับผิดชอบอย่างสร้างสรรค์ด้านสุขภาพโลกในเวทีระหว่างประเทศ
สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9144