การออมเพื่อการเกษียณอายุ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   ประเทศในอาเซียนกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยเฉพาะประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉลี่ย 65 ปีหรือแก่กว่า มีจำนวนมากถึงร้อยละ 10 หรือมากกว่า 7 ล้านคน และภายในปี 2583 ประชากรในกลุ่มนี้จะเพิ่มจำนวนขึ้นถึง 17 ล้านคน ซึ่งมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด ทั้งนี้ประเทศไทยยังมีส่วนแบ่งของจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุดในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เช่นเดียวกับประเทศจีน และจะกลายเป็นประเทศที่มีส่วนแบ่งของจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุดในภูมิภาคภายในปี 2583
 
   การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยในการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ส่งผลกระทบในหลายด้าน โดยเฉพาะข้อมูลวิชาการระบุว่า ประเทศไทยยังมีช่องว่างด้านการเตรียมความพร้อมและการพัฒนาระบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัย เช่น ด้านสุขภาพ พบว่าผู้สูงอายุร้อยละ 95 มีโรคประจำตัว แต่ยังคงดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ด้านเศรษฐกิจ ผู้สูงอายุร้อยละ 34.3 มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ด้านสังคม พบว่าผู้สูงอายุต้องอยู่ลำพังคนเดียวหรืออยู่ตามลำพังกับคู่สมรส
 
   รัฐบาลที่ผ่านมา ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง มีนโยบายที่สำคัญและมาตรการต่างๆ ทั้งการพัฒนาฝีมือแรงงาน การเพิ่มเบี้ยยังชีพ รวมถึงสิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาวะที่ดี เป็นต้น เน้นการบูรณาการการทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับสังคมสูงวัย โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน (Area Based Approach) แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2545 – 2564) มีวิสัยทัศน์คือ ผู้สูงอายุเป็นหลักชัยของสังคม” โดยกำหนดยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนด้านผู้สูงอายุ มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูประบบรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อให้คนทุกวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี และเตรียมตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย
 
   คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้มีมติเห็นชอบต่อข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่อง “การพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง” โดยกำหนดให้ประเด็นสุขภาวะผู้สูงอายุ เป็น 1 ใน 4 ประเด็นสุขภาพสำคัญ สำหรับการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ในการรองรับสังคมสูงวัยที่ครอบคลุม 4 มิติ ได้แก่ มิติด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ สภาพแวดล้อม และสังคม อย่างมีประสิทธิภาพ และได้มีการจัดการประชุมสมัชชาเฉพาะประเด็น ว่าด้วยนโยบายรองรับสังคมสูงวัย ครั้งที่ 1 พ.ศ.2562 เมื่อวันที่ 4 กรกฏาคม ที่ผ่านมา โดยความร่วมมือของ 7 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักประสานงานสนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะรองรับสังคมสูงวัย (สปสว.) จุฬาอารี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีวัตถุประสงค์เน้นการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนของสังคม ด้วยกระบวนการที่มีระบบและมีส่วนร่วม บนพื้นฐานขององค์ความรู้และความสมานฉันท์ รวมถึงให้ผู้แทนกลุ่มเครือข่ายตามประเด็นเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับระเบียบวาระ มีส่วนร่วมในการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อรองรับสังคมสูงวัยที่ครอบคลุม 4 มิติดังกล่าว เพื่อเสนอต่อหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนสู่การนำไปปฏิบัติ
 
   ผลการประชุมได้มีการรับรองมติสังคมสูงวัยรวม 4 มติ ได้แก่ 1. นโยบายสาธารณะว่าด้วยการออมเพื่อสังคมสูงวัย เพื่อให้มีการเพิ่มมูลค่าของทรัพย์สินที่ผู้สูงอายุหรือผู้กำลังจะก้าวไปเป็นผู้สูงอายุจะสามารถออมได้ และเป็นไปในลักษณะเศรษฐกิจอายุรวัฒน์ในรูปแบบต่างๆ เช่น การออมเงินทุน ธนาคารต้นไม้ และการออมในรูปแบบอื่นๆ 2. การเสริมสร้างศักยภาพและการจัดการของชมรมผู้สูงอายุ คือการส่งเสริมผู้สูงอายุได้มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องผ่านการรวมกลุ่ม เป็นการเสริมสร้างสุขภาวะที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุรูปแบบหนึ่ง ที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการเสริมสร้างสุขภาวะผู้สูงอายุ 3.การปรับสภาพแวดล้อมรองรับสังคมสูงวัยด้วย ๑ ตำบล ๑ ศูนย์อยู่ดี ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะมีหน่วยปฏิบัติงานที่มีองค์ความรู้ ความเข้าใจ และสามารถขับเคลื่อนร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ในการปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ และ 4. ร่วมสร้างชุมชนรอบรู้สุขภาพและพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว เพื่อเป็นประเด็นและเครื่องมือสร้างการเรียนรู้และทิศทางทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน
 
   รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงให้ความสำคัญกับสังคมสูงวัยซึ่งมีนโยบายหลัก โดยเฉพาะในเรื่องของ การพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย ในด้านปฏิรูประบบการออม โดยจัดให้มีระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุอย่างทั่วถึง ซึ่งคาดว่าจะมีนโยบายอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น และเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาชนจะต้องให้ความสำคัญและความร่วมมือในการเตรียมความพร้อมในการรองรับสังคมสูงวัยต่อไป
 
   ท้ายนี้ คาดว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ภายในเดือนสิงหาคม 2562 มีวาระสำคัญหลายเรื่องนำเสนอ รวมถึงการเสนอเพื่อพิจารณาเห็นชอบบุคคลที่จะมาเป็นเลขาธิการ คสช. เพื่อจะเป็นผู้บริหาร สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ต่อไป
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ