สร้างสรรค์ พัฒนา | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   บรรยากาศในสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หรือ สช. ของเราในช่วงเดือนที่ผ่านมา เต็มไปด้วยความคึกคัก เข้มข้น ทั้งจากภารกิจภายนอกและการจัดการตนเองภายในองค์กร
 
   ฝ่ายที่ดูแลด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ ต้องสาละวนอยู่กับการเตรียมเปลี่ยนผ่านระบบการขับเคลื่อนภารกิจ จากแผนหลักสช.ฉบับที่2 ไปสู่แผนหลักฉบับใหม่ พ.ศ.2560-2564 ซึ่งมีเป้าหมาย พันธกิจและยุทธศาสตร์ที่เปลี่ยนไปจากเดิมพอสมควร ในขณะที่งบประมาณกลับมีความจำกัดมากขึ้น
 
   ฝ่ายที่ดูแลด้านงานพื้นที่ ต้องปรับจูนความคิดความเข้าใจต่อภารกิจและแนวทางการทำงานแบบใหม่ ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ สช. เอง และ ส่วนเครือข่ายภาคีในพื้นที่
 
   นอกจากนั้นยังต้องเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งกลไกเขตสุขภาพเพื่อประชาชน ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เพิ่งประกาศใช้ รวมทั้งต้องช่วยกันออกแบบและจัดรูปขบวนการทำงานพื้นที่สู่มิติใหม่อีกด้วย
 
   ฝ่ายที่ดูแลด้านอำนวยการและงานบุคคล ต้องคุมกระบวนการเปลี่ยนผ่านสถานภาพของบุคลากรที่มีทักษะและประสบการณ์ของ สปพส. หน่วยงานย่อยเฉพาะกิจที่ยุบตัวลงตามภารกิจ และโครงการพิเศษอื่นๆ ให้เข้าสู่ระบบและมาตรฐานเดียวกัน
 
   ฝ่ายที่ดูแลด้านงานสมัชชาใหญ่ประจำปี ต้องเตรียมธีมงาน ระเบียบวาระและเอกสารประกอบการประชุม รวมทั้งต้องขบคิดเรื่องรูปแบบงานสมัชชาสุขภาพที่สร้างสรรค์ ไม่หยุดนิ่ง
 
   ฝ่ายที่ดูแลงานด้านขับเคลื่อนมติสมัชชา กำลังพัฒนาวิธีการขยายผลจากมติที่กองอยู่มากมายให้บังเกิดผลรูปธรรม มีท่านรัฐมนตรีสาธารณสุขมานั่งเป็นประธานกรรมการขับเคลื่อนฯ ชุดใหญ่ด้วยตัวเอง
 
   คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนมติด้านสังคมและคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนมติด้านสุขภาพ เป็นกลไกการทำงาน 2 ชุดที่แข็งขันมาก คาดว่าในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในเที่ยวนี้ เราน่าจะได้รับทราบความก้าวหน้าในเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ
 
   ฝ่ายที่ดูแลด้านงานวิชาการและนวัตกรรม กำลังเตรียมจัดงานใหญ่เรื่องสุขภาวะที่ปลายทางซึ่งได้รับกระแสตอบรับจากสังคมในวงกว้างมากขึ้นทุกที นอกจากนั้นยังต้องเตรียมเปิดตัวเครื่องมือ ธรรมนูญสุขภาพ ฉบับที่ 2 และ HIA ฉบับที่ 2 ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นใหม่
 
   ฝ่ายที่ดูแลด้านงานต่างประเทศ มีภารกิจชุกมาก ทั้งต้องต้อนรับคณะศึกษาดูงานจากเวียดนาม คณะดูงานจากภูฏาน และการจัดเวทีบรรยายและแลกเปลี่ยนทางวิชาการด้านนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากออสเตรเลีย
 
   น่าสังเกตุว่า ในหลายปีที่ผ่านมา ภาคีต่างประเทศที่เข้ามาร่วมทำงานกับ สช. มักสนใจในเรื่องHIA มากกว่าเครื่องมือชิ้นอื่นๆของเรา ไม่ว่าจะเป็นสมัชชาสุขภาพ (NHA) หรือธรรมนูญสุขภาพ (HS) หรือสิทธิด้านสุขภาพ(HR) นั่นคงเป็นเพราะบริบทของประเทศเขาแตกต่างออกไป
 
   ในขณะที่เครื่องมือหลักทั้งสี่ชิ้นชิ้นของเรา กำลังได้รับความสนใจและนำไปใช้อย่างแพร่หลายในการทำงานขับเคลื่อนกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม(PHPP) ในระดับพื้นที่ ระดับเครือข่ายตามประเด็น และ ระดับสถาบันองค์กรต่างๆ
 
   แต่มาคราวนี้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ คณะดูงานจากภูฏานซึ่งตั้งใจมาศึกษาเรื่องHIAเป็นการเฉพาะ เมื่อได้ลงพื้นที่ดูงานเขื่อนปากมูน มาบตาพุด และแม่น้ำเจ้าพระยา ท้ายที่สุดก็กลับไปพร้อมกับความสนใจในเครื่องมือใหม่ๆ ของเราเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่อง NHA และ HiAP ครับ
 

รูปภาพ