สช. ระดม 3 ภาคส่วน “รัฐ-วิชาการ-ประชาชน” ถอดบทเรียนมาตรการชุมชน “สู้ภัยโควิด-19” พร้อมต่อยอดการมีส่วนร่วมสู่การขับเคลื่อน “ธรรมนูญสุขภาพระดับเขต” กทม. เป็นครั้งแรก ผสานกลไก พชข.-กองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ปั้นสุขภาวะคนกรุง
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดประชุมถอดบทเรียนและพัฒนาศักยภาพแกนนำขับเคลื่อนมาตรการชุมชนสู้ภัยโควิด 19 หรือธรรมนูญชุมชนสู้ภัยโควิด 19 เพื่อยกระดับสู่ธรรมนูญสุขภาพระดับเขตพื้นที่ 12 เขต กรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนทั้งจากหน่วยงาน ภาควิชาการ และภาคประชาชนกว่า 60 ชุมชน ใน 10 เขตพื้นที่ กทม.เข้าร่วม
นายสมเกียรติ พิทักษ์กมลพร ผู้อำนวยการสำนักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะพื้นที่ สช. เปิดเผยว่า ขณะนี้ถือเป็นช่วงรอยต่อของการดำเนินงานขับเคลื่อน “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด 19” ที่ สช.ได้สนับสนุนให้ชุมชนทั่วประเทศลุกขึ้นมาสร้างมาตรการทางสังคมเพื่อรับมือโควิด-19 โดยหนึ่งในพื้นที่ที่ประสบผลสำเร็จก็คือ กทม. ซึ่งมีชุมชนมากกว่า 60 แห่งจาก 10 เขต ลุกขึ้นมาสร้างมาตรการทางสังคมร่วมกับสำนักงานเขต และศูนย์บริการสาธารณสุขต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงหรือมาตรการต่างๆ ในการป้องกันโควิด-19 นั้น เป็นเรื่องเดียวกันกับหลักการหรือแนวคิดของ “ธรรมนูญสุขภาพ” ซึ่งเป็นการสร้างข้อตกลงร่วมกันระหว่างชุมชนกับหน่วยงานองค์กรต่างๆ ในการขับเคลื่อนเป้าหมายบางอย่างร่วมกัน จึงพบว่า ต้นทุนต่างๆ ที่เกิดจากการดำเนินงานเหล่านี้ สามารถพัฒนาต่อสู่การจัดทำ “ธรรมนูญสุขภาพระดับเขต” เป็นกรอบเป้าหมายของการพัฒนาสุขภาพและสุขภาวะของประชาชนในแต่ละเขตได้
นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า เมื่อมีต้นทุนทั้งคนที่เข้าใจเรื่องนี้ และหน่วยงานที่เข้าใจว่ามาตรการทางสังคม หรือข้อตกลงร่วมคืออะไร จึงควรขยายต่อเพื่อทำให้เกิดธรรมนูญสุขภาพระดับเขต ร่วมกับกลไกโครงสร้างของรัฐที่มีอยู่ ทั้งคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับเขต (พชข.) และกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร ที่ประชาชนจะสามารถใช้งบประมาณจากกองทุนฯ มาขับเคลื่อนและปฏิบัติตามธรรมนูญที่พวกเขาร่วมกันตั้งขึ้น ซึ่งในช่วงระยะเวลาอีกราวปีครึ่งนับจากนี้ จะมีการพัฒนานำเอาความรู้และต้นทุนที่มีอยู่สู่การจัดทำธรรมนูญสุขภาพระดับเขต นำร่องในพื้นที่ 10 เขตเดิม และอีก 2 เขต ที่มีต้นทุนศักยภาพและความพร้อม โดยการมีส่วนร่วมจากทั้งแกนนำชุมชน หน่วยงานรัฐ และทีมวิชาการ ซึ่งได้จับมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ 5 แห่ง ใน กทม. เข้ามาเสริมด้านความรู้ทางวิชาการ เป็นการร่วมกันทำธรรมนูญที่ครบทั้ง 3 ภาคส่วน
ด้าน น.ส.ณัฐวดี มิ่งชัย ประธานสภาองค์กรชุมชนเขตธนบุรี ในฐานะตัวแทนภาคประชาชน กล่าวว่า ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ชาวบ้านได้ลุกขึ้นมาจัดทำกระบวนการ สร้างมาตรการของตนเอง จน สช. เข้ามาช่วยหนุนเสริมทั้งในเรื่องงบประมาณ การจัดการ รวมถึงการเชื่อมร้อยกับหน่วยงานต่างๆ และเครือข่ายชุมชนอื่นๆ ให้มาทำงานร่วมกัน เกิดเป็นภาพงานที่ใหญ่ขึ้น
น.ส.ณัฐวดี กล่าวว่า แม้ก่อนหน้านี้ชุมชนในพื้นที่จะมีการรวมตัวกัน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพต่างๆ เช่น ฝุ่นละออง PM2.5 ไข้เลือดออก หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ที่ทำงานส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคอยู่แล้ว แต่สถานการณ์โควิด-19 กลายเป็นอีกหนึ่งโอกาสให้เกิดการรวมตัวของชาวบ้านในชุมชน ไปจนถึงชุมชนรอบข้างและนอกพื้นที่ เพราะโรคติดต่อนั้นไม่สามารถควบคุมโดยชุมชนใดชุมชนหนึ่งได้ “ธรรมนูญสุขภาพใน กทม. ถือเป็นเรื่องใหญ่ แม้จะมีความพยายามทำกันมากว่า 10 ปีแล้ว ใครๆ ก็บอกว่ามันทำไม่ได้ แต่มาในตอนนี้ที่ถือว่าโควิดอาจเป็นโอกาสของเราที่นำไปสู่การจัดทำธรรมนูญสุขภาพใน กทม.ให้เกิดขึ้นได้ และคิดว่าไม่น่ายากเพราะเราได้เริ่มมาก่อนแล้ว โดยธรรมนูญอาจขยับไปทำเรื่องใหม่ เพราะยังมีเรื่องอื่นให้ทำอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นไข้เลือดออก หรือ NCDs ต่างๆ ประยุกต์ตามบริบทของชุมชน ของพื้นที่แต่ละแห่งที่ไม่เหมือนกัน”
ขณะที่ นายปราการ โคมแก้ว ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม สำนักงานเขตบึงกุ่ม กล่าวว่า แม้ก่อนหน้านี้ภาครัฐจะทำงานด้านพัฒนาสังคมใน กทม. อยู่แล้ว แต่ครั้งนี้จุดเริ่มต้นมาจากชุมชนและภาคประชาชนเป็นตัวนำ ส่วนหน่วยงานได้เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุน ซึ่งกระบวนการที่ทำโดยชุมชนนี้เองจะช่วยส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน เพราะชุมชนจะร่วมเป็นเจ้าของ และมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น
นายปราการ กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลต่อสถานการณ์อื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต เพราะชุมชนสามารถใช้ต้นทุนที่มีอยู่ในการดำเนินการต่อไปได้ หรือหากไม่มีสถานการณ์ใด ก็สามารถนำไปจัดการแก้ไขกับปัญหาในชุมชนเองได้ ประจวบกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใหม่ในกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ กทม. ที่ทุกเขตกำลังจะเริ่มดำเนินการอย่างเต็มตัวในปีงบประมาณหน้า ช่วงเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งจะสนับสนุนให้ชุมชนสามารถนำประเด็นต่างๆ ที่คิดต่อยอดไปขับเคลื่อนต่อได้
นายปราการ กล่าวอีกว่า ความสำเร็จของการทำงานด้านการพัฒนาชุมชน หัวใจหลักคือการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เมื่อภาคประชาชนเข้มแข็ง งานพัฒนาชุมชนก็จะเข้มแข็งและประสบความสำเร็จตามไปด้วย โดยเป้าหมายสูงสุดของงานพัฒนาชุมชนคือการที่ชุมชนพึ่งพาตนเองได้ ดังนั้นถ้าชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมมากเท่าไร เราก็จะไปถึงจุดนั้นได้เร็วยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ การจัดทำธรรมนูญสุขภาพระดับเขตพื้นที่ จะดำเนินการนำร่องใน 12 เขตพื้นที่ กทม. ประกอบด้วย เขตสายไหม ดอนเมือง ลาดพร้าว บางคอแหลม ดินแดง วังทองหลาง บึงกุ่ม ลาดกระบัง ธนบุรี คลองสาน บางบอน และทุ่งครุ
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147
- 198 views