ถอดบทเรียนวิกฤตสุขภาพ ‘โรคอุบัติใหม่’ สู่ระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 13 | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   สช.จัดประชุมภาคีเครือข่าย ทำความเข้าใจ “ข้อถกแถลง” ประเด็นวิกฤตสุขภาพจากโรคอุบัติใหม่ ในบทเรียน “โควิด-19” ก่อนเปิดวงถอดบทเรียนการทำงานของภาคีเครือข่าย กรุยทางสู่ระเบียบวาระในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ปลายปีนี้
 
   “การบริหารจัดการวิกฤตสุขภาพจากโรคอุบัติใหม่: บทเรียนจากโควิด-19” เป็นหนึ่งในประเด็นที่อยู่ระหว่างการ “พัฒนาข้อเสนอ” เพื่อนำไปสู่การประกาศเป็นระเบียบวาระในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ประจำปี 2563 ที่จะจัดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคมปลายปีนี้
 
   “วิกฤตสุขภาพจากโรคอุบัติใหม่” มีความสำคัญระดับชาติ และถูกกำหนดเป็น 1 ใน 5 หมวดประเด็นย่อย ซึ่งอยู่ภายใต้ธีมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ “พลังพลเมืองตื่นรู้...สู้วิกฤตสุขภาพ”
 
   เพื่อพัฒนาข้อเสนอไปสู่การจัดทำนโยบายสาธารณะ เมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จึงได้จัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกระบวนการพัฒนาข้อเสนอ เรื่อง “การบริหารจัดการวิกฤตสุขภาพจากโรคอุบัติใหม่: บทเรียนจากโควิด-19” ขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายเป็นอย่างดี
 
   นพ.สมชาย พีระปกรณ์ ประธานอนุกรรมการวิชาการ อธิบายถึงภารกิจของการประชุมสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 13 ที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วม และการแลกเปลี่ยนความเห็นของสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติให้มากขึ้น ตามธีมหลักของการจัดงานในครั้งนี้
 
   การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 จะแตกต่างไปจากปีที่ผ่านๆ มา โดยในปีนี้คณะอนุกรรมการวิชาการได้กำหนดประเด็นหลักของงานยาวไปถึงปี 2564 พร้อมกำหนด 5 หมวดประเด็นย่อย ประกอบด้วย 1. วิกฤตสุขภาพจากโรคอุบัติใหม่ 2. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับวิกฤตสุขภาพ 3. ปัจจัย 4 ในภาวะวิกฤต 4. วิกฤตสุขภาพของกลุ่มคน 5. วิกฤตสุขภาพกับสังคมออนไลน์
 
   “แม้จะมีการกำหนดหมวดประเด็นย่อยไว้ แต่ก็อาจยังไม่เพียงพอที่จะเป็นจุดโฟกัสในการระดมความคิดเห็นได้ ดังนั้น สิ่งที่เพิ่มเข้ามาและไม่เคยมีมาก่อนในงานสมัชชาสุขภาพฯ คือ การกำหนด “ข้อถกแถลง” เป็นประเด็นให้สมาชิกร่วมกันคิดหาคำตอบตั้งแต่ต้น” นพ.สมชาย ระบุ
 
   สำหรับ “ข้อถกแถลง” ในประเด็น “การบริหารจัดการวิกฤตสุขภาพจากโรคอุบัติใหม่: บทเรียนจากโควิด-19” มีด้วยกัน 14 ข้อ ทั้งหมดจะถูกส่งต่อให้สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติแสดงความเห็น โดย รศ.ดร.สิริมา มงคลสัมฤทธิ์ รองคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับที่ประชุม
 
   ถัดจากนั้น ที่ประชุมได้เปิดให้ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความเห็น โดยบางส่วนได้ให้มุมมองถึงผลกระทบจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด อาทิ ผู้แทนการสมาคมสุขศึกษา พลศึกษา และนันทนาการแห่งประเทศไทย ระบุถึงผลกระทบโดยตรงจากมาตรการ Social Distancing ต่อการจัดการเรียนการสอนวิชาพลศึกษา
 
   ผู้แทนจากสภาทนายความ ระบุถึงผลกระทบจากการที่ประชาชนไม่สามารถเข้ามาขอรับคำปรึกษาได้ รวมถึงการติดต่อออกใบอนุญาตทนายที่มีความลำบาก ผู้แทนจากสภาวิชาชีพกายภาพบำบัด ให้ภาพผลกระทบต่อระบบการเรียนการสอนที่มีภาคปฏิบัติเป็นส่วนสำคัญ ซึ่งโควิด-19 ทำให้การสัมผัสลำบาก เช่นเดียวกับผลกระทบต่อการให้บริการ การออกชุมชน ผู้แทนจากกลุ่มเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง สะท้อนว่า พี่น้องชนเผ่าได้รื้อฟื้นวัฒนธรรมความเชื่อในการป้องกันโรคและภัยพิบัติต่างๆ ในอดีตกลับมาใช้ เช่น การประกอบพิธีกรรม การปิดหมู่บ้าน ซึ่งได้เห็นของการพึ่งพาอาศัยและแบ่งปัน ขณะที่บางส่วนสะท้อนมุมมองข้อดีจากสถานการณ์ เช่น การได้เห็นภาพพลังพลเมืองอาสา และภาคส่วนต่างๆ เข้ามาร่วมจัดกระบวนการมาตรการทางสังคม
 
   นางอภิญญา ชมภูมาศ รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวว่า โควิด-19 กระทบกับการทำงานด้านผู้สูงอายุทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค โดยเฉพาะการจัดประชุมสัมมนา ที่ทำให้ไม่สามารถสร้างการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายได้เป็นระยะเวลาหนึ่ง ทั้งยังกระทบแผนงาน การเบิกจ่ายต่างๆ แต่ท่ามกลางวิกฤตก็ได้เป็นโอกาสให้เกิดหลายนวัตกรรมขึ้นมาใหม่ เช่น โรงเรียนผู้สูงอายุทางอากาศ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผู้สูงอายุออนไลน์ เกิดช่องทางสื่อสารผ่านออนไลน์มากยิ่งขึ้น
 
   นายชาคริต โภชะเรือง เลขานุการร่วมคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขต 12 กล่าวถึงการปรับการทำงานของ กขป.เขต 12 โดยจัดธรรมนูญออนแอร์ในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด และจากการหารือมากกว่า 30 ครั้ง พบประเด็นปัญหาต่าง ๆ เช่น กลุ่มเปราะบางในสังคมยังตกหล่นและเข้าไม่ถึงสิทธิ จังหวัดในภาคใต้ยังพบปัญหาจากช่องว่างทางภาษาและการปฏิบัติศาสนกิจ ฯลฯ เหล่านี้สะท้อนว่าเรามองมิติด้านสาธารณสุขเป็นหลัก แต่ขาดมิติด้านสังคมวัฒนธรรม
 
   การประชุมในวันนี้ นอกจากผู้เข้าร่วมประชุมจะได้ร่วมกันให้ความเห็น และทำความเข้าใจต่อข้อถกแถลงแล้ว ยังมีการถอดบทเรียนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานในช่วงการระบาด โดยหลังจากนี้สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจะร่วมกันให้ความเห็นต่อข้อถกแถลงทั้ง 14 ข้อ ผ่าน Google Form จากนั้นจะมีการจัดประชุมเพื่อตอบข้อซักถาม และรับฟังความเห็นอีกครั้ง ในวันที่ 26 ส.ค.นี้
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

รูปภาพ (เพิ่มเติม)