เจาะร่าง ‘กฎหมาย’ กำกับเกม ควบคุมผลกระทบ ‘อีสปอร์ต’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   ในปัจจุบัน กิจกรรมการแข่งขันวิดีโอเกมออนไลน์ชิงรางวัล หรือที่รู้จักในชื่ออีสปอร์ต เป็นความท้าทายต่อสุขภาวะเด็ก เนื่องจากสามารถเข้าถึงเด็กได้โดยตรง และจากการส่งเสริมการขายทำให้เด็กๆ ใช้เวลาที่มากเกินความจำเป็นไปกับการเล่นเกม โดยไม่รู้เท่าทันว่า อาจจะส่งผลกระทบทางลบต่อตนเอง และตกอยู่ภายใต้การสื่อสารเพื่อการโฆษณาอย่างไร้การควบคุม และการจัดการแข่งขันที่ยังขาดข้อกฎหมายและกฎเกณฑ์เพื่อปกป้องคุ้มครอง
 
   มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 ประจำปี 2561 “ความรับผิดชอบร่วมทางสังคมเกี่ยวกับอีสปอร์ตต่อสุขภาวะเด็ก” จึงเป็นบทเริ่มต้นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่จะแสดงความรับผิดชอบร่วมทางสังคมร่วมกัน ด้วยการกำหนดมาตรการ กฎเกณฑ์ หรือกติกาในการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับอีสปอร์ต และร่วมสร้างความเข้าใจเพื่อสื่อสารถึงอีสปอร์ตอย่างถูกต้อง และครบถ้วนในทุกมิติ ตลอดจนร่วมสร้างความเข้าใจและรู้เท่าทันอีสปอร์ต ให้เป็นไปอย่างทั่วถึง เข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพ
 
   “ยืนยันว่า ไม่ได้ต่อต้านการแข่งขันเกมทั้งที่ออนไลน์และออฟไลน์ หรือขัดขวางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีดิจิทัล แต่ต้องการสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจจากธุรกิจเกมกับการปกป้องคุ้มครองสุขภาวะของเด็กและเยาวชน ที่ได้รับความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ปกครองและผู้ประกอบการ ที่จะช่วยกันทำให้เด็กในแต่ละกลุ่มวัยสามารถเล่นเกมได้อย่างเหมาะสม มีสุขภาวะที่ดี ไม่กระทบต่อชีวิตของเด็กและครอบครัว” ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก ประธานคณะทำงานติดตามและขับเคลื่อน
มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติด้านเด็กกับสื่อ ระบุ

 
   แม้อุตสาหกรรมเกมจะทำให้ภาพรวมในเชิงของเศรษฐกิจเติบโต แต่เม็ดเงินส่วนใหญ่นั้นกลับมาจากกลุ่มเด็กที่ไม่มีรายได้ และถึงแม้ว่าการแข่งขันเกมหรืออีสปอร์ตจะเป็นอาชีพที่ทำเงินได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในความใฝ่ฝันของเด็กหลากหลายคน แต่ความเป็นจริงนั้นในกลุ่มคนที่เล่นเกม 1 ล้านคน จะมีราว 10 คนเท่านั้นที่สามารถสร้างเป็นอาชีพและรายได้ แต่อีกกว่า 1-2 แสนคน กลับเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอาการติดเกม
 
   คณะทำงานฯ จึงได้ศึกษาสถานการณ์เพื่อจัดทำ (ร่าง) กฎหมายการกำกับดูแลเกมและการประกอบกิจการเกมเพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชน พ.ศ. ... ภายใต้มาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งเมื่อวันที่ 8 และ 22 พฤษภาคม 2563 ได้จัดเวทีรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อ (ร่าง)กฎหมาย ดังกล่าว ที่มีทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนครู ผู้ปกครองและเยาวชน ที่สำคัญคือ ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย ผู้ประกอบธุรกิจด้านเกม ผู้ให้บริการสื่อออนไลน์ DTAC AIS TRUE เป็นต้น
 
   นายปกรณ์ ธรรมโรจน์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้ยก(ร่าง) กฎหมายฯ ได้นำเสนอ ถึงเนื้อหาเบื้องต้นที่อยู่ใน (ร่าง) กฎหมาย ทั้งในส่วนของการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณามาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตเกมที่ออกจำหน่าย จัดลำดับเนื้อหาของเกมที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้เล่นต่างๆ ตลอดจนข้อกำหนดในการแข่งขัน ซึ่งเป็นส่วนของการควบคุม ในขณะเดียวกันตัวกฎหมายก็เสนอถึงมาตรการการส่งเสริมและสนับสนุนการเล่นเกมในลักษณะที่สร้างสรรค์ด้วย

 
   มีข้อเสนอต่อการจัดตั้งกองทุนเพื่อกำกับดูแลและสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยงบประมาณที่ได้จะมาจากการจัดเก็บภาษี ค่าธรรมเนียม หรือค่าปรับภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ซึ่งโทษส่วนใหญ่จะเป็นไปในลักษณะเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหามากกว่าการลงโทษ โดยยึดหลักการใช้ค่าสินไหมทดแทนจากผู้ละเมิดทดแทนให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือผู้เสียหาย
 
   ขณะเดียวกัน ยังมีเรื่องเกี่ยวกับการกำหนดกฎเกณฑ์ด้านการแข่งขันอีสปอร์ต การกำหนดคุณสมบัติต่างๆ เช่นเดียวกับเรื่องของการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ที่จะครอบคลุมไปถึงกิจกรรมการรีวิวเกม หรือเกมแคสเตอร์ ซึ่งกำลังเป็นส่วนที่ได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบันอีกด้วย
 
   ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนข้อสงสัยที่หลากหลาย โดยส่วนใหญ่ล้วนเห็นด้วยกับการมีกฎหมายเพื่อกำกับดูแล พร้อมกับให้คำแนะนำต่อการร่างกฎหมายเพื่อให้มีความยืดหยุ่น ครอบคลุมกับเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับการให้ความสำคัญในประเด็นของการพนันออนไลน์ ที่นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาต่อสังคม
 
   พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังให้คำแนะนำรวมถึงแสดงความห่วงใยต่อประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการจัดตั้งกองทุน การกำหนดกระทรวงเจ้าภาพ ประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย ความรู้ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ การตรวจสอบธุรกิจที่ไม่ได้อยู่ในประเทศ ระบบการร้องทุกข์กล่าวโทษ การสนับสนุนเกมในด้านดี เป็นต้น
 
   ด้าน ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า หลังจากนี้ ในเชิงเทคนิคการเขียนกฎหมายนั้น อาจมีการปรับเปลี่ยน แต่สิ่งที่เห็นพ้องต้องกันคือ เจตนารมณ์ของตัวกฎหมายที่จะต้องปกป้องคุ้มครองเด็ก พร้อมสร้างสมดุลระหว่างสุขภาวะกับการเล่นเกม อย่างไรก็ตามตัวกฎหมายนั้นอาจไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด แต่เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ทำให้การทำงานเดินหน้าต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

หมวดหมู่เนื้อหา