การประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก ครั้งที่ 58 มีมติหนึ่ง ว่าด้วยเรื่องการป้องกันและควบคุมมะเร็ง และการประชุมครั้งที่ 60 มีการรณรงค์ยกเลิกใช้แร่ใยหินทุกชนิดเพื่อควบคุมและกำจัดโรคที่จะเกิดจากแร่ใยหิน ขณะเดียวกันรายงานการศึกษาของคณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหิน กระทรวงสาธารณสุขปี 2556 พบว่า สถานการณ์การเจ็บป่วยด้วยโรคปอดจากแร่ใยหินในประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งเยื่อเลื่อม 12 คน โดยมีความสัมพันธ์กับการสัมผัสแร่ใยหิน จำนวน 5 คน
ประเทศไทยตื่นตัวเรื่องนี้มากว่า 10 ปีแล้ว ตัวอย่างสำคัญปรากฏในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3
เมื่อปี 2553 ที่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายจากหลายภาคส่วน พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายว่าด้วย “มาตรการสังคมไทยไร้แร่ใยหิน” ซึ่งสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมีฉันทมติเห็นชอบร่วมกัน และคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการตามมติดังกล่าวด้วย
อย่างไรก็ตาม การนำพาสังคมไทยให้ไร้แร่ใยหินตามมติข้างต้น ยังไม่สามารถขับเคลื่อนไปให้ถึงเป้าหมาย
ที่วางไว้ จึงเป็นที่มาของ การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2562
ที่ สช. และภาคีเครือข่ายที่ร่วมขับเคลื่อนเห็นควรเสนอให้ “ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน” เพื่อปรับข้อเสนอในการดำเนินการใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อการป้องกันอันตรายจากแร่ใยหินของผู้สัมผัส การกำจัดผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแร่ใยหินที่ปลอดภัยไม่ปนเปื้อน เร่งส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดแร่ใยหิน มุ่งกลุ่มเป้าหมายสำคัญ คือ ผู้ประกอบการและแรงงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชน และผลักดันให้หน่วยงานรัฐเป็นต้นแบบ ตลอดจนการพัฒนาระบบเฝ้าระวัง การติดตามกลุ่มเสี่ยง การพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์และการศึกษาวิจัยต่อยอด ซึ่งทั้งหมดนี้ จะส่งผลสะท้อนกลับให้เกิดการยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินในที่สุด
เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2563 คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 1/2563 ได้มีมติเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติดังกล่าวและให้ สช. ดำเนินการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา พร้อมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการ และเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ จัดการประชุมปรึกษาหารือแนวทางการขับเคลื่อนมตินี้ โดยมีหน่วยงานองค์กรภาคีที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสำคัญในแต่ละข้อมติ
มาปรึกษาหารือร่วมกัน
นำเข้าแร่ใยหินเพิ่มขึ้นอีกครั้ง
รศ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ รองประธานอนุกรรมการ คมส. ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ จะเป็นการระดมความเห็น ข้อเสนอต่อเป้าหมายและแนวทางการขับเคลื่อนแบบมี
ส่วนร่วม รวมทั้งบูรณาการงานตามภารกิจของแต่ละองค์กรที่สอดคล้องกับเส้นทางการขับเคลื่อน (Road Map)
ข้อมูลจาก สช. พบว่า ภายหลังมีมติ ครม. เมื่อ 12 เมษายน 2554 ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดกรอบเวลาในการยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระเบื้องแผ่นเรียบและกระเบื้องยางปูพื้นภายใน 2 ปี และ 5 ปี สำหรับการยกเลิกในผ้าเบรกและคลัทช์ ท่อซีเมนต์ใยหิน และกระเบื้องมุงหลังคา แต่การยกเลิกดังกล่าวกลับไม่เกิดขึ้น
ที่น่าสนใจคือ สถิติการนำเข้าแร่ใยหิน ปี 2545 ประเทศไทยนำเข้าสูงสุดถึง 183,348 ตัน แต่เริ่มลดลงในปี 2550 เพราะผู้ผลิตบางรายหันไปใช้วัสดุทดแทน และหลังจากมีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี 2553 การนำเข้าในปี 2554-2559 ก็มีแนวโน้มลดลงมาเรื่อยๆ แต่เมื่อมาถึงปี 2560 การนำเข้ากลับเพิ่มขึ้นอีกครั้ง
รู้ข้อจำกัดเพื่อ “หาทางออก”
ศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ เลขานุการคณะทำงานพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเฉพาะประเด็นฯ อธิบายข้อจำกัดในการดำเนินการและแก้ไขปัญหาหลายประการ เช่น กลุ่มแรงงานโดยเฉพาะแรงงานก่อสร้างอิสระส่วนมากเข้าไม่ถึงข้อมูลอันตรายจากแร่ใยหิน กรมบัญชีกลางยังไม่ได้ออกข้อกำหนดหรือปรับปรุงระเบียบว่าด้วยการก่อสร้างและซ่อมแซมอาคารของส่วนราชการที่กำหนดให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ การขาดระบบเฝ้าระวังและประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับโรคเหตุใยหิน ราคาผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทดแทนแร่ใยหินมีราคาสูงกว่าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน เป็นต้น
“อปท. มีบทบาทอย่างสำคัญ หากสนับสนุนความรู้และสร้างความร่วมมือ สู่การออกข้อบังคับท้องถิ่นในการพิจารณาอนุญาตทั้งการก่อสร้างและรื้อถอนอาคารที่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินอย่างถูกวิธี
โดยมีต้นแบบก็จะช่วยให้ผู้ใช้แรงงานและประชาชนลดความเสี่ยงในการสัมผัสแร่ใยหินได้”
“หากแต่การรื้อถอน ซ่อมแซม ต่อเติมอาคารเก่าที่มีการใช้ผลิตภัณฑ์แร่ใยหิน รวมถึงการใช้ผลิตภัณฑ์
แร่ใยหินในอาคารก่อสร้างใหม่ ยังไม่มีบทบัญญัติเฉพาะในการควบคุมหรือห้ามใช้ และยังไม่มีข้อกำหนดว่า การทำกิจกรรมดังกล่าวต้องขออนุญาตทำงานกับหน่วยงานใด อย่างไร”เหล่านี้เป็นเพียงข้อจำกัดจำนวนหนึ่งที่เลขานุการคณะทำงานพัฒนาข้อเสนอกล่าวถึงเท่านั้น
เปิดประตูขับเคลื่อน “สังคมไทยไร้แร่ใยหิน”
จากการประชุมหารือในครั้งนี้ ข้อมติที่สำคัญ คือ ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการยกเลิกการใช้
แร่ใยหินไครโซไทล์เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระเบื้องแผ่นเรียบและกระเบื้องยางปูพื้นภายในปี 2565 และในการผลิต
ผ้าเบรกและคลัทช์ ท่อซีเมนต์ใยหิน และกระเบื้องมุงหลังคา ภายในปี 2568 สืบเนื่องจากในปี 2556 กระทรวงอุตสาหกรรมได้รายงานผลการดำเนินงานตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2554 ว่า สามารถยกเลิกวัตถุดิบ
ทั้ง 2 ประเภทโดยใช้เวลา 2 ปี และ 5 ปี ตามลำดับ ข้อเสนอในครั้งนี้จึงได้ระบุปี พ.ศ. ให้ชัดเจนขึ้น หากด้วยไม่มีผู้แทนจากกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าร่วม จึงมอบหมายให้ สช. ประสานเพื่อขอทราบแนวทางและปัญหาอุปสรรค
ที่ต้องการความร่วมมือจากภาคีอื่นในการร่วมดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จ
ปริมพร อ่ำพันธุ์ ผู้แทนจากสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย และ มานะ บุญโภคา ผู้แทนสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย กล่าวสนับสนุนในข้อมติที่ขอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความรู้ความเข้าใจในเรื่อง ผลกระทบของแร่ใยหิน และออกข้อบัญญัติท้องถิ่นในการควบคุมการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและกำจัดผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน โดยเสนอว่า
“การควบคุมอาคารสามารถออกเป็นกฎกระทรวงได้โดยไม่ต้องเป็นออกเป็น พ.ร.บ. เพียงส่งกฎกระทรวงไปให้คณะรัฐมนตรีมีมติรับรอง ก็เกิดผลทันที เพราะท้องถิ่นต้องทำตามกฎกระทรวงอยู่แล้ว เป็นแนวนโยบายที่ท้องถิ่นจะนำไปกำหนดวิธีการต่อไปได้”
ผู้แทนจาก กรมควบคุมมลพิษ เสริมว่า ข้อเสนอดังกล่าวเชื่อมโยงกับข้อ 3 ที่ให้กระทรวงฯ ดำเนินการให้มีมาตรการในการกำจัดขยะที่แร่ไยหินและกำหนดมาตรการให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบ กำจัดผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ไยหินที่มีส่วนประกอบ จึงควรบูรณาการในประเด็นนี้ร่วมกัน เพื่อดำเนินการให้ครบวงจรจากการรื้อถอนมาสู่ระบบกำจัดที่ต้องมีการเฝ้าระวังผลกระทบในทุกขั้นตอน
ขณะที่ ผู้แทนจาก กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน กล่าวถึงข้อเสนอของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ให้
กรมฯ จัดทำและเผยแพร่ข้อมูลแก่ผู้ประกอบอาชีพ นายจ้าง ลูกจ้างเกี่ยวกับอันตรายจากแร่ใยหินตลอดวงจร รวมทั้งระบบข้อมูล การเฝ้าระวังและติดตามผลกระทบต่อสุขภาพ นั้น ทางกรมฯ ได้ดำเนินการร่วมกับสถานประกอบการที่มีการใช้แร่ใยหินอยู่ ทั้งยังมีกฎกระทรวงเกี่ยวกับสารเคมีอันตรายที่นายจ้างต้องแจ้งการมีสารเคมีอันตรายนั้นภายใน
7 วัน ซึ่ง กรมฯ ได้เข้าไปตรวจสอบตลอด
ซึ่งผู้แทนจากกรมควบคุมโรค ได้สะท้อนถึงปัญหาในการติดตาม เฝ้าระวังสุขภาพของผู้ใช้แรงงานที่เคยสัมผัสแร่ใยหิน ถึงแม้จะมีการดำเนินงานภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 โดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการรายงาน แต่ยังเป็นไปบนความสมัครใจ ทำให้มีผลต่อการได้รับสิทธิประโยชน์ของแรงงานภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่ผู้แทน สำนักงานประกันสังคม รับไปพิจารณา
ในส่วน ผู้แทนจากกรมบัญชีกลาง มีข้อเสนอว่า ในการกำหนดแนวทางปฏิบัติให้หน่วยงานรัฐใช้วัสดุและผลิตภัณฑ์ที่ปลอดแร่ใยหิน จะต้องมีผู้ประกอบการหลายรายที่ผลิตวัสดุทดแทนที่ไม่ใช้แร่ใยหิน เพื่อให้เข้าข่ายการแข่งขันทางการค้า ไม่ถูกตีความว่าเป็นการล็อกสเป็ก แต่ในกระบวนการจะต้องมีกฎหมายเฉพาะ โดยรัฐต้องประกาศนโยบายก่อน ทางกรมฯ ถึงจะดำเนินการตามกระบวนการได้ ใช้เวลาประมาณ 1 ปี
ผู้แทนจากองค์การอนามัยโลกแห่งประเทศไทย เสนอให้ Mapping ข้อกฎหมาย นโยบายและภารกิจที่แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานอยู่เพื่อให้เห็นภาพรวมได้ชัดเจน และยินดีที่จะส่งต่อองค์ความรู้ บทเรียนกรณีจากต่างประเทศเพื่อนำมาปรับใช้ในการสื่อสารกระตุกสังคม ให้ตระหนักถึงผลกระทบในระยะยาว ซึ่งผู้แทนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ยินดีสนับสนุนการดำเนินงานด้านการสื่อสารสังคม
จากตัวอย่างความเห็นและข้อเสนอข้างต้น ทำให้เห็นถึงบรรยากาศในการประชุมที่มีการแลกเปลี่ยน ซักถามทั้งข้อมูล มุมมองและข้อเสนอจากภาคีทุกภาคส่วน โดยคาดว่า ข้อเสนอต่างๆ จะได้รับสนับสนุนให้มีการดำเนินงานสานพลังความร่วมมือในอนาคตเพื่อสร้างสังคมไทยไร้แร่ใยหินสมตามเจตนารมณ์ของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ
นับเป็นระยะเวลา 10 กว่าปี จนถึงทุกวันนี้ บนเส้นทางการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ยังคงขับเคลื่อนและดำเนินการต่อไป เพื่อสักวันเราจะไปสู่เป้าหมายร่วมกันบนความร่วมมือของทุกฝ่าย สู่ ‘สังคมไทย ไร้แร่ใยหิน’
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147
- 191 views