พัฒนาศักยภาพตำบล-พลเมืองอาสา | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   สช. จัดประชุมสรุปผลงาน 2 โครงการพัฒนาศักยภาพ “ตำบล-พลเมือง” ถอดความสำเร็จเกินเป้าตัวชี้วัด ระดม ศปจ. ทั่วประเทศร่วมกำหนดจังหวะก้าวเดิน พัฒนางานภาคประชาสังคม
 
   การสร้างเสริมศักยภาพของคนเล็กคนน้อยเป็นงานที่ต้องอาศัยความยั่งยืน ต้องทำอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ให้ความสำคัญกับพันธกิจนี้มาโดยตลอด
 
   อย่างไรก็ดี ความสำเร็จที่กำลังเริ่มผลิดอกออกผลอยู่ในขณะนี้ แน่นอนว่าลำพังเพียง สช. องค์กรเดียวคงไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ นั่นเพราะศักยภาพของชุมชน แท้ที่จริงแล้วต้องเริ่มต้นจากเมล็ดพันธุ์ที่ดีและการฟูมฟักดูแล ซึ่งหมายถึงความร่วมไม้ร่วมมือของพื้นที่และภาคีเครือข่ายเป็นสำคัญ
 
   ศูนย์ประสานงานภาคีพัฒนาจังหวัด หรือ ศปจ. เป็นหนึ่งในหัวใจของความสำเร็จที่มีบทบาทสำคัญในการหนุนเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายภาคประชาชนระดับพื้นที่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการทำงานใน 2 โครงการสำคัญ
 
   การประชุมเชิงปฏิบัติการ สรุปผลการดำเนินงาน โครงการพัฒนาศักยภาพและสนับสนุนภาคีพลเมืองอาสาประชารัฐฯ และโครงการพัฒนาศักยภาพชุมชน ส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่น สร้างตำบลน่าอยู่-ตำบลสุขภาวะฯ เมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา นอกจากจะถอดบทเรียนของทั้ง 2 โครงการแล้ว ยังอาศัยโอกาสนี้ร่วมกันวางจังหวะก้าวของ ศปจ. ในการพัฒนางานภาคประชาสังคมต่อไปด้วย
 
   ดร.วณี ปิ่นประทีป กรรมการยุทธศาสตร์ตำบลสุขภาวะ เริ่มต้นด้วยการนำเสนอภาพความสำเร็จของ โครงการพัฒนาศักยภาพกลไกสนับสนุนภาคีเครือข่ายพลเมืองอาสาประชารัฐ สานต่อภารกิจการเสริมสร้างสุขภาวะ พ.ศ.2561-2562 ซึ่งพบว่าผลผลิตทั้ง 5 ตัวชี้วัด ประกอบด้วย 1.ความเข้มแข็งของ ศปจ. ได้บรรลุเป้าหมายการเป็นกลไกเชิงพื้นที่ที่มีความเข้มแข็งทั้งด้านปริมาณและคุณภาพในเกณฑ์ที่มีความเข้มแข็งระดับมากถึง 78% 2.กองทุนจิตอาสาประชารัฐมีการจัดตั้งสูงกว่าเป้าหมายทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ โดยมีแล้ว 345 กองทุน ในจำนวนนี้มี 67 แห่งอยู่ในเกณฑ์ที่มีความเข้มแข็งและคุณภาพระดับมาก
 
   3.การช่วยเหลือผู้ยากลำบาก แม้ว่าจะยังมีผลงานต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้แต่ก็ดำเนินการก้าวหน้าเป็นอย่างมาก คือสามารถช่วยเหลือผู้ยากลำบากที่ถูกทอดทิ้งรวม 82,337 คน จากเป้าหมาย 1 แสนคน 4.การเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมรับมือด้านภัยพิบัติธรรมชาติ มีการเตรียมความพร้อมรับมือรวม 1,120 แห่ง จากเป้าหมาย 369 แห่ง 5.การรณรงค์ปรับเปลี่ยนวิธีคิดและค่านิยมไทย สามารถสร้างการตื่นตัวและรับรู้ต่อประชาชนหรือผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ไม่น้อยกว่า 1 แสนคน
 
   นางสาวพัชรา อุบลสวัสดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และรักษาการผู้อำนวยการสำนักงานโครงการจิตอาสาประชารัฐเพื่อสังคมสุขภาวะ (สอปร.) ให้ภาพความสำเร็จของ โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชน ส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่น สร้างตำบลน่าอยู่-ตำบลสุขภาวะทั่วประเทศ พ.ศ.2561-2562 ว่าสามารถพัฒนาและขับเคลื่อน “ธรรมนูญตำบลน่าอยู่” ให้เกิดขึ้นจริง 1,301 ตำบล สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนด 1,200 ตำบล โดยการพิจารณารายจังหวัดพบว่ามี ศปจ. ที่ดำเนินงานได้สูงกว่าเป้าหมาย 19% อีกทั้งโครงการยังบรรลุเป้าหมายด้านการหนุนเสริมและสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งของพื้นที่ โดยมีตำบลที่ได้รับการประเมินว่ามีความน่าอยู่-เข้มแข็งในระดับมากจำนวน 784 ตำบล สูงกว่าเป้าหมายโครงการที่ 780 ตำบล เช่นเดียวกับผลงานด้านองค์ความรู้ชุมชนเข้มแข็งที่เกิดจากการดำเนินงาน 165 เรื่อง สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนด 100 เรื่อง
 
   สำหรับการประชุมดังกล่าว ผู้แทน ศปจ. กว่า 150 ชีวิตจากทั่วประเทศ ยังได้มีการแบ่งกลุ่มสรุปผลการดำเนินงานของทั้ง 2 โครงการ และร่วมกันถอดบทเรียนผลลัพธ์ที่ภาคภูมิใจ ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จจากภารกิจการสานพลัง นำไปสู่กลไกการทำงานทุกระดับ เกิดเป็นพื้นที่ต้นแบบ เป็นต้น พร้อมเสนอผลต่อผู้บริหาร สช. และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ที่เกี่ยวข้อง
 
   นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ให้ความเห็นว่า เรื่องของการให้ความช่วยเหลือนั้น ทำอย่างไรที่จะก้าวพ้นลักษณะสังคมสงเคราะห์ที่จะนำสังคมไปสู่ความยุติธรรมได้ในระยะยาว และจะทะลุจากการช่วยเหลือไปสู่การทำให้เกิดความยุติธรรมอย่างไร ซึ่งนับเป็นความท้าทายที่ต้องอาศัยการร่วมมือจากทุกคน
 
   มุมมองจาก นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ มองว่า การดึงผู้มีส่วนได้เสียจากหุ้นส่วนทั่วไปให้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของจะช่วยสร้างความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง รวมถึงการมีนโยบายสาธารณะที่ดีได้ จำเป็นต้องมาจากผู้รู้บริบทของพื้นที่ เช่นเดียวกับ ศปจ. ทุกคนที่มาในวันนี้ซึ่งรู้บริบทพื้นที่ของตน
 
   ปิดท้ายด้วย นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่ระบุว่า ภาพรวมของทั้ง 2 โครงการ แสดงให้เห็นถึงการเสริมความเข้มแข็งของกลไกภาคประชาชนในพื้นที่ โดยมีเครื่องมือสำคัญอย่างธรรมนูญพื้นที่ที่เกิดจากการสานพลังเข้ามาดำเนินการ สร้างการยอมรับ นำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย ศปจ. ในพื้นที่ ไปจนถึงการพลิกหรือเปลี่ยนแปลงกลไกโครงสร้างการจัดการในจังหวัด
 
   “วันนี้ได้เรียนรู้ว่าการขับเคลื่อนของภาคประชาชนในพื้นที่ มีการเดินไปข้างหน้ามาต่อเนื่องยาวนาน โดยมีเครื่องมือสำคัญอย่างสมัชชาสุขภาพ และธรรมนูญสุขภาพ ช่วยให้การจับมือเดินไปข้างหน้าได้ จึงอยากให้มั่นใจว่า สช. จะทำบทบาทต่อเนื่องในการร่วมกับทุกฝ่ายอย่างเต็มที่เพื่อเป้าหมายสองประการ คือ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่อไป” นพ.ประทีป ทิ้งท้าย
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

หมวดหมู่เนื้อหา