ตอนที่ 4 สำรวจ ‘นานาทัศนะ’ Stakeholders ทุกฝ่ายเห็นพ้องภัยร้ายจาก ‘แร่ใยหิน’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   แม้จะเป็นเวลาเกือบ 1 ทศวรรษของการขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเข้าใจให้สังคมไทยตระหนักถึงอันตรายที่เกิดจาก “แร่ใยหิน” แต่เส้นทางตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้พิสูจน์แล้วว่าการขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดเป็นเรื่องที่ยาก
 
   และถึงแม้ว่า ในปี 2553 ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ได้มีฉันทมติร่วมกันใน มติที่ 3.1 เรื่อง “มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน” และในปีถัดมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบพร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้เกิดการ “แบนแร่ใยหิน” ภายใน 4 ปี
 
   แต่ล่วงเลยมาถึงปี 2562 ประเทศไทยก็ยังอุดมด้วย “แร่ใยหิน” อยู่
 
   นั่นทำให้ การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ประจำปี 2562 จะมีการหยิบยกประเด็น “แร่ใยหิน” เข้าสู่การพิจารณาอีกครั้ง ในชื่อระเบียบวาระ “ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน” เพื่อจัดทำข้อเสนอใหม่ ควบคู่ไปกับข้อเสนอเมื่อปี 2553
 
   ก่อนจะถึงวันงาน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน วิชาการ ตลอดจนประชาสังคม ต่างพร้อมใจกันมาแสดงความคิดเห็นใน การประชุมเพื่อรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ต่อการพัฒนาประเด็นนโยบายสาธารณะฯ ว่าด้วยการทบทวนมติมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2562 เพื่อร่วมกันจัดทำ “ร่างเอกสารหลัก-ร่างข้อมติ” ให้สมบูรณ์และเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย
 
   บรรยากาศเป็นไปอย่างสมานฉันท์ ความเห็นส่วนใหญ่เห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกัน หากแต่ก็ยังมีข้อกังวลจากภาคเอกชนอยู่บ้าง ทว่าทั้งหมดก็อยู่ในหลักการพูดคุยกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย เพื่อหาทางออกร่วมกัน
 
   ศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ เลขานุการคณะทำงานฯ เริ่มด้วยการฉายภาพความเร่งด่วนของสถานการณ์ ภายหลังการทบทวนรายงานผู้ป่วยโรคเหตุใยหินในฐานข้อมูล Health Data Center (HDC) ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปี 2558-2559 จนยืนยันได้ว่ามีผู้ป่วยโรคเหตุใยหินแล้ว 28 ราย ขณะที่ปริมาณการนำเข้าแร่ใยหินในปี 2560 เริ่มเพิ่มมากขึ้น
 
   “จากการศึกษาข้อจำกัดของการดำเนินงาน พบว่ามีประเด็นเรื่องกลุ่มแรงงานที่ยังเข้าไม่ถึงข้อมูลอันตรายมากนัก การที่ยังไม่มีบทบัญญัติเฉพาะในการควบคุมการก่อสร้างหรือรื้อถอนอาคาร การขาดระบบเฝ้าระวังและตรวจสอบการรายงานโรค รวมถึงราคาผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารทดแทนแร่ใยหินยังคงมีราคาสูง” ศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ สรุปปัจจัยบางส่วนเพื่อทบทวนมติฯ
 
   จากการรับฟังความคิดเห็นของผู้เข้าร่วม ซึ่งมีการให้มุมมองที่หลากหลายจากภาคส่วนต่างๆ พบว่าส่วนใหญ่ “เห็นด้วย” ที่จะให้มีการยกเลิกใช้แร่ใยหิน โดยเฉพาะตัวแทนผู้ใช้แรงงานอย่าง นายสุทัศน์ เอี่ยมแสง ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ที่เสนอความคิดเห็นอย่างเด็ดขาดว่า จำเป็นจะต้องแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุสำคัญ นั่นคือยกเลิกการนำเข้าโดยเด็ดขาด เพื่อยุติชะตากรรมของแรงงานในประเทศที่ต้องเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บดังที่มีให้เห็น
 
   นอกจากนี้ ยังมีความคิดเห็นที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันอีกมากมาย เช่น ตัวแทนจาก “กรมควบคุมโรค” ที่ระบุว่าโรคเหตุใยหินเป็นหนึ่งในโรคที่กรมฯ ให้ความสำคัญในการตรวจสุขภาพของแรงงาน หรือแม้แต่ตัวแทนภาคเอกชนรายใหญ่อย่าง “บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด” (เอสซีจี) ที่ระบุว่า บริษัทฯ ได้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินมาเป็นเวลานานแล้ว เช่นเดียวกับหลายประเทศที่มีการแบนเพิ่มมากขึ้น จึงเห็นได้ชัดว่ามีความอันตราย
 
   “ในกระเบื้องแผ่นเรียบปัจจุบันไม่มีใครใช้แร่ใยหินแล้ว เช่นเดียวกับผ้าเบรกที่ประกอบสำเร็จรูปอยู่ในรถยนต์ ซึ่งต้องส่งออกไปยังประเทศที่แบนแร่ใยหิน ดังนั้นส่วนใหญ่จึงไม่ได้ใช้กันแล้ว ซึ่งจากข้อมูลพบว่าล่าสุดมีประเทศที่แบนแล้วถึง 67 ประเทศ เพิ่มจากเดิมมาก เห็นได้ชัดว่าอันตรายจริง” ผู้แทนจากเอสซีจี ระบุ
 
   เช่นเดียวกับตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐอย่าง “กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน” ที่เล่าถึงความพยายามในการผลักดันเพิ่มความปลอดภัยให้กับแรงงานไทย โดยที่ผ่านมาได้มีการเผยแพร่คู่มือความรู้ต่างๆ แต่อาจยังไม่สามารถทำเรื่องระบบข้อมูลสุขภาพได้ ซึ่งต้องอาศัยการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตัวแทน “กรมชลประทาน” ที่เห็นด้วยกับการยกเลิกใช้ และยังให้เพิ่มเติมเรื่องของการศึกษามาตรการป้องกันผลกระทบกับผู้อาศัยโดยรอบบริเวณที่มีการรื้อถอนอาคาร
 
   อย่างไรก็ตาม มีข้อกังวลจากตัวแทนสภาสถาปนิกที่เห็นด้วยกับหลักการลดการใช้แร่ใยหินลง แต่คิดว่าคงเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้สังคมไทยไปถึงจุดที่เรียกว่า “ไร้แร่ใยหิน” เพราะในทางปฏิบัติแล้วหากมีการห้ามนำเข้าโดยเด็ดขาดอาจส่งผลกระทบกับประเทศคู่ค้าและและส่งผลให้สินค้าไทยถูกกีดกันด้วยเช่นกัน
 
   สอดคล้องกับตัวแทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่มองว่า ถ้าจะทำให้ถึงขั้น “ไร้แร่ใยหิน” คงเป็นเรื่องยาก เพราะภาคธุรกิจบางกลุ่มยังมีความจำเป็นต้องใช้อยู่ จึงยังไม่อยากให้มองเรื่องการนำเข้า แต่อยากให้ความสำคัญกับการกำจัดส่วนที่มีอยู่ในประเทศแล้วมากกว่า เพราะในปัจจุบันมีการทุบทำลายอาคารตลอดเวลา ซึ่งส่วนนี้มีความอันตรายด้วยเช่นกัน
 
   ด้าน นายเมธี อุทโยภาส ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ ได้ให้มุมมองจากภาคอุตสาหกรรม ที่ระบุว่าผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมจากแร่ใยหินนั้นมีการผลิตภายใต้มาตรฐานที่ดีอยู่แล้ว ในทางกลับกันผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารทดแทนอาจยังมีปัญหาในความแข็งแรง และเสนอว่าในการออกมาตรการใดๆ ควรต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านความพร้อมของเทคโนโลยีเป็นหลักด้วย
 
   สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานหลังจากนี้ ศ.ดร.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล อธิบายให้ผู้เข้าร่วมประชุมทราบว่าภายหลังการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ข้อมูลจากทุกภาคส่วนจะถูกรวบรวมโดย คณะทำงานฯ เพื่อพิจารณาปรับปรุงร่างเอกสารต่างๆ โดยละเอียดอีกครั้ง ซึ่งระหว่างนี้ทุกฝ่ายยังคงสามารถเสนอข้อมูลและความคิดเห็นได้เพิ่มเติม ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการเตรียมความพร้อมกลุ่มเครือข่ายสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 (Pre-NHA12) ในวันที่ 28 ต.ค. 2562 เพื่อเตรียมความพร้อมในขั้นสุดท้ายของการทบทวนมติมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน ที่จะเข้าสู่งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ระหว่างวันที่ 18-20 ธ.ค. 2562
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

หมวดหมู่เนื้อหา