ตอนที่ 3 ต้องรอให้ป่วยเพิ่มอีกเท่าใด สังคมไทยจึงจะ ‘แบน’ แร่ใยหิน | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   แม้ว่าจะมีข้อมูลทางวิชาการรองรับอย่างแน่นหนา และถึงแม้ว่าประเทศที่พัฒนาแล้วเกือบทั่วทั้งโลกจะเห็นพ้องต้องกันว่า “แร่ใยหิน” คือหายนะต่อสุขภาพที่รัฐสมควรใช้ยาแรง “แบน” ให้หมดไปจากแผ่นดิน
 
   หากแต่จนถึงขณะนี้ สถานการณ์ในประเทศไทยกลับสวนทางกับสิ่งที่ควรจะเป็น เพราะยังคงมีปริมาณการนำเข้าแร่ใยหินมหาศาล โดยตัวเลขปี 2560 พบการนำเข้าสูงถึง 4 หมื่นตัน ติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศผู้นำเข้าแร่ใยหินมากที่สุดในโลก
 
   ตลอดระยะเวลากว่า 8 ปี ในการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2553 “มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน” อุปสรรคหนึ่งที่ขัดขวางจนไม่สามารถ “แบน” แร่ใยหินได้สำเร็จ ก็คือวาทกรรมจากฟากฝั่งอุตสาหกรรม ที่มักจะถามหา “หลักฐาน” ผลกระทบจากแร่ใยหิน และย้ำอยู่เสมอว่า มีผู้ป่วยจากเหตุใยหินน้อย
 
   แต่ข้อเท็จจริงก็คือ โรคที่เกิดจากเหตุใยหิน ส่วนใหญ่ต้องใช้ระยะเวลานานจึงจะสำแดงอาการ ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน ที่ผ่านมาจึงเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ ยังไม่นับรวมว่าในประเทศไทย แนวทางการวินิจฉัยโรคมะเร็งปอดเหตุใยหินยังดำเนินการได้ยาก รวมถึงยังขาดการซักประวัติการรับสัมผัสใยหินในผู้ป่วย ฯลฯ
 
   ทว่าจากผลการศึกษาของ คณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหิน สามารถสรุปได้ว่า แร่ใยหินทุกชนิด รวมทั้งไครโซไทล์ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะ “โรคมะเร็ง” ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ (IARC) ได้ให้ข้อเสนอแนะกับประเทศต่างๆ ไปในทิศทางเดียวกันว่า การควบคุมให้ค่าสัมผัสต่ำกว่ามาตรฐาน 0.1 Fiber/cc/year ทำได้ยาก ฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือการยกเลิกการใช้แร่ใยหิน
 
   และล่าสุด ข้อมูลจาก คณะทำงานในโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคเหตุใยหิน ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่ได้ศึกษาข้อมูลจากฐานข้อมูลสุขภาพ (Health data center: HDC) ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระหว่างปี 2558-2559 พบข้อมูลยืนยันว่ามีผู้ป่วยจากโรคเหตุใยหินในประเทศไทยแล้ว จำนวน 28 ราย
 
   สำหรับผู้ป่วย 28 รายนี้ เป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งเยื่อเลื่อม (mesothelioma) 26 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีประวัติการสัมผัสแร่ใยหินจากการประกอบอาชีพ 5 ราย แบ่งเป็นทำงานก่อสร้าง 4 ราย และผลิตกระเบื้องมุงหลังคา 1 ราย
 
   นอกจากนี้ ยังพบผู้ป่วยด้วยโรคพังผืดในปอดจากใยหิน (asbestosis) 1 ราย และผู้ป่วยด้วยโรคเยื่อหุ้มปอดหนาตัวเป็นหย่อม (pleural plaque) 1 ราย ซึ่งทั้งคู่มีประวัติสัมผัสใยหินจากการประกอบอาชีพด้วยกันทั้งสิ้น
 
   ความเสียหายในระดับรุนแรงที่เกิดขึ้นกับสุขภาพของประชาชน 28 ราย คือหลักฐานเชิงประจักษ์ และกลายเป็นคำถามตัวโตว่า เพียงพอต่อการตัดสินใจใช้ยาแรงในการ “แบนแร่ใยหิน” ในประเทศไทยแล้วหรือยัง
 
   ข้อมูลทั้งหมดนี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่สะท้อนว่า ตลอดระยะเวลากว่า 8 ปีเต็ม ของการขับเคลื่อนมติสมัชชาฯ พบว่ามีสถานการณ์-ข้อมูลต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปมาก ขณะที่ประเทศไทยก็ยังไปไม่ถึงเป้าหมายสูงสุดที่วางไว้คือ “แบนแร่ใยหิน” ให้พ้นจากประเทศ
 
   ที่ประชุมคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ 12 ประจำปี 2562 จึงได้ประกาศให้แร่ใยหินเป็นหนึ่งในระเบียบวาระการพิจารณาในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติอีกครั้ง โดยในปี 2562 นี้จะใช้ชื่อว่า “ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน”
 
   ทั้งหมดเพื่อร่วมกันจัดทำนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ซึ่งจะนำไปสู่การ “แบนแร่ใยหิน” ให้สำเร็จอย่างแท้จริง
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

หมวดหมู่เนื้อหา