จ่อปรับชื่อระเบียบวาระ ‘วิถีเพศภาวะ’ ใหม่ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   แม้ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยจะให้ความสำคัญในเรื่องความเสมอภาคชาย-หญิง แต่การดำเนินงานและการจัดทำนโยบายต่างๆ กลับยัง “ขาดการบูรณาการมุมมองด้านเพศภาวะ” ซึ่งนับเป็นรากเหง้าปัญหาความไม่เป็นธรรมด้านสุขภาพที่อาจนำไปสู่ปัญหาในการจัดระบบบริการสุขภาพ รวมถึงการพัฒนาระบบสร้างเสริมสุขภาพเพื่อนำไปสู่สุขภาวะที่ดี
 
   แน่นอนว่าทางออกเชิงนโยบาย หมุดหมายหลักคือการผลักดันให้เกิดการบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสร้างเสริมสุขภาพสู่สังคมสุขภาวะผ่านมุมมองมิติเพศภาวะ โดยมุ่งหวังให้เกิดการปรับเปลี่ยนใน 3 ระบบหลัก คือ โครงสร้างสังคม ระบบการศึกษา และระบบบริการสุขภาพ
 
   ขณะเดียวกัน เมื่อหันกลับมาดูสถานการณ์ผู้ป่วยที่มารับบริการด้านจิตเวช จะพบสถิติที่น่ากังวล โดยผู้ที่เข้ารับการบริการ ไม่ว่าจะเป็นโรคทางจิตเวช โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ฯลฯ ในปี 2560 เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2558 มากถึง 50%
 
   ไม่น่าเชื่อว่า ... ทุกๆ ชั่วโมงจะมีคนที่พยายามทำร้ายตัวเองเพื่อฆ่าตัวตายมากถึง 6 ราย คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่าปีละ 400 ล้านบาท
 
   ความรุนแรงของสถานการณ์ที่ส่อเค้าจะบานปลายออกไปหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับคนทุกคนและคงไม่สามารถยับยั้งได้ด้วยใครคนใดคนหนึ่ง
 
   คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2561-2562 (คจ.สช.) จึงเห็นพ้องที่จะประกาศให้ “วิถีเพศภาวะ: เสริมพลังสุขภาพจิตครอบครัว” เป็นระเบียบวาระที่ 2 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ประจำปี 2562 เพื่อสานพลังจัดทำนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา
 
   หลังจากที่ คจ.สช. มีมติประกาศระเบียบวาระนี้ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 ก็เป็นหน้าที่ของคณะอนุกรรมการวิชาการที่จะจัดกระบวนการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายต่อไป ซึ่งนำมาสู่ การประชุมหารือเพื่อพัฒนาข้อเสนอนโยบายสาธารณะฯ ประเด็น วิถีเพศภาวะ: เสริมพลังสุขภาพจิตครอบครัว เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ที่ผ่านมา
 
   การประชุมดังกล่าว เป็นไปเพื่อพัฒนา “เอกสารหลัก” และ “ร่างข้อมติ” ให้ได้ความชัดเจนภายในระยะเวลา 1 เดือน ก่อนเสนอให้ คจ.สช. ซึ่งจะประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 19 กันยายน 2562 รับทราบความก้าวหน้า
 
   นายแพทย์สมชาย พีระปกรณ์ อนุกรรมการวิชาการ ในฐานะประธานการประชุม เปิดวงหารือด้วยการชี้แจงความสำคัญของระเบียบวาระและไทม์ไลน์ของการดำเนินงาน ก่อนจะเปิดให้ที่ประชุมร่วมกันรับทราบถึงข้อเสนอแนะของ คจ.สช. ที่มีต่อร่างเอกสารเชิงหลักการ (Concept paper) คือ เสนอให้เพิ่มเติมและปรับเอกสารให้มีรายละเอียดมากขึ้น และระบุเป้าหมายให้ชัดว่า ‘เพศภาวะ’ หมายถึงกลุ่มใด
 
   นอกจากนี้ คจ.สช. มองว่าการเสริมพลังสุขภาพจิตครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญก็จริง แต่ที่ต้องคิดต่อก็คือควรจะเสริมพลังในเรื่องเพศภาวะอย่างเดียวหรือไม่ แล้วในกลุ่มที่อยู่อาศัยคนเดียวจะมีการเสริมพลังอย่างไร เพราะคนกลุ่มนี้ก็เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงควรมองถึงครอบครัวรูปแบบใหม่ๆ ด้วย
 
   สำหรับข้อเสนอของ คจ.สช.ในประเด็นนี้ ที่ประชุมต่างพร้อมใจกันเห็นด้วย โดยคิดว่าชื่อประเด็นควรจะต้องมีการเปลี่ยนคำว่า “เพศภาวะ” ให้เป็นคำที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนคำจาก “สุขภาพจิต” เป็น “สุขภาวะ” ซึ่งน่าจะดึงให้คนเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น
 
   อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้วจะเปลี่ยนเป็นชื่อระเบียบวาระอะไรนั้น และเนื้อหาในร่างมติจะครอบคลุมเรื่องใดบ้างยังคงต้องหาข้อสรุปกันต่อไปหลังจากนี้ แต่เบื้องต้นเห็นร่วมกันว่าส่วนใดที่จะต้องมีการขยายความก็อาจใช้การแนบภาคผนวกเพิ่มเติมไป
 
   สำหรับการขับเคลื่อนงานหลังจากนี้ จะมีการเสนอรายชื่อเพื่อแต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาข้อเสนอนโยบายสาธารณะฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชน โดยที่ประชุมจึงได้ร่วมกันหารือถึงองค์ประกอบของคณะทำงานฯ และเสนอชื่อบุคคลที่มีความเหมาะสม
 
   สำหรับรายชื่อคณะทำงานที่เสนอเบื้องต้น ประกอบด้วย ศ.ดร.ศิริพร จิรวัฒน์กุล ประธาน, นางถิรวดี พุ่มนิคม รองประธาน, รศ.ดร.สมพร รุ่งเรืองกลกิจ เลขานุการฯ รวมถึงผู้แทนหน่วยงาน/องค์กรทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาข้อเสนอนโยบายในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ.๒๕๖๒ ในระเบียบวาระดังกล่าวต่อไป
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

หมวดหมู่เนื้อหา