สภาฯ ‘รับหลักการ’ ร่างกฎหมาย 4 ฉบับ สร้าง ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ ชัยชนะของคนรุ่นใหม่ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file

ภาพของธงสีรุ้งที่ถูกโบกสะบัดในช่วง “Pride Month” ของเดือนมิถุนายนในปีนี้ ราวกับว่าเป็นการเฉลิมฉลองใหญ่มากกว่าการจัดกิจกรรมในทุกครั้งที่ผ่านมา เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับประชาชนคนไทย ด้วยการผ่านวาระแรกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศ พร้อมกันทั้ง 4 ฉบับ ในวันที่ 15 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา
 

เพศภาวะ


หนึ่งในนั้นคือ “พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม” ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระแสสังคม เยาวชน คนรุ่นใหม่ กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่12 พ.ศ. 2562 อย่างล้นหลาม ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเพียงแค่ผ่านความเห็นชอบในวาระหนึ่งหรือชั้น “รับหลักการ” แต่ก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ และช่วยยืนยันถึงพลังทางสังคม ที่มีส่วนต่อการตัดสินใจลงมติในสภาฯ ด้วย

สำหรับร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 4 ฉบับ ที่ผ่านการลงมติ “รับหลักการ” ของสภาฯ ด้วยเสียงสนับสนุนข้างมาก แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่....) พ.ศ.... หรือที่เรียกว่า “พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม” โดยมีฉบับที่เสนอโดย ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลกับคณะ และอีกฉบับที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) 2. ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ.... ซึ่งมีฉบับที่ถูกเสนอโดย อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์และคณะ กับอีกฉบับที่เสนอโดย ครม.

แม้ว่ากฎหมายทั้ง 4 ฉบับนี้ อาจถูกมองว่าเป็นร่างกฎหมายที่มีหลักการและเนื้อหาในทำนองเดียวกัน คือการให้คู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถแต่งงานกันได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และได้รับสิทธิต่างๆ เหมือนคู่แต่งงานอื่นๆ เช่น การจัดการทรัพย์สินร่วมกัน การรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน การรับมรดกจากคู่รัก ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แตกต่างระหว่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม กับ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ก็คือ “สถานะทางกฎหมาย” โดย พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ได้ใช้วิธีการแก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิม เพิ่มเติมเพื่อให้คู่รักเพศเดียวกันที่แต่งงานและจดทะเบียนสมรสกัน มีสถานะเป็น “คู่สมรส” เหมือนกับคู่สมรสชาย-หญิงทั่วไป ส่วน พ.ร.บ. คู่ชีวิต เลือกที่จะเขียนกฎหมายขึ้นมาใหม่ เพื่อให้คู่รักเพศเดียวกันที่แต่งงานและจดทะเบียนสมรสกัน มีสถานะใหม่ที่เรียกว่าเป็น “คู่ชีวิต” แทน

นั่นทำให้กฎหมายสองส่วนนี้ยังมีความแตกต่างกันในรายละเอียดบางประการ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่เป็นการเขียนขึ้นมาใหม่ ซึ่งอาจยังมีเนื้อหาที่ไม่ครอบคลุมสิทธิหรือสวัสดิการบางประการที่คู่สมรสตามกฎหมายปัจจุบันได้รับ ไม่ว่าจะเป็นการหมั้น, การอุ้มบุญ, การขอสัญชาติไทยให้คู่รักที่เป็นชาวต่างชาติ, สิทธิประกันสังคม, สวัสดิการข้าราชการ หรือ สิทธิลดหย่อนภาษี เป็นต้น ทำให้คู่รักเพศเดียวกันอาจไม่ได้รับสิทธิเหมือนกับกรณีคู่ชายกับหญิง 100% เมื่อเทียบกับ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ที่ผลักดัน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ยืนยันว่า ไม่มีความจำเป็นใดที่ต้องแยกกฎหมายของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ออกมาเป็น พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพราะพวกเขาก็เหมือนกับคู่ของชาย-หญิงทั่วไป มีสิทธิที่จะสมรส ก่อตั้งครอบครัวกับคนที่เขาต้องการได้ ซึ่งนี่ไม่ใช่การเรียกร้องสิทธิที่มากเกินไป หากแต่เป็นการทวงคืนสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมถึงศักดิ์ศรี และสวัสดิการอันชอบธรรมที่ถูกขโมยไป

ที่จริงแล้ว หากมองเรื่องนี้ในแง่ของ “ปรากฎการณ์” ดูเหมือนว่าการรับหลักการร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ ภายหลังมีกระแสข่าวว่า “ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม” จะถูกคว่ำนั้น ถือเป็นการ “ขยับใหญ่” ของฝ่ายการเมืองในการรับฟังเสียงของประชาชนและกระแสสังคม และหากมองลึกลงไปอีก จะพบว่าประเด็นเรื่อง “ความเท่าเทียมกันทางเพศ” มีความพยายามและการร่วมไม้ร่วมมือในการขับเคลื่อนเพื่อวางรากฐานมาเป็นอย่างดี

หนึ่งในนั้นคือการทำงานแบบสานพลังภายใต้กระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมี สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นแกนกลางเชื่อมร้อยภาคีองค์กรเครือข่ายทั่วประเทศที่ขับเคลื่อนเพื่อความเท่าเทียมของเพศภาวะต่างๆ เพื่อจัดทำนโยบายสาธารณะฯ ซึ่งถือเป็น “แรงส่ง” จากภาคสังคม และภาควิชาการ สู่การตัดสินใจของฝ่ายการเมือง

การรื้อทิ้ง “กับดักทางความคิด” ที่ทำให้เกิดความไม่เสมอภาคและความไม่เป็นธรรมทางเพศ เพื่อสร้างแนวคิดและกระบวนการใหม่ที่ใช้พลังความเสมอภาค เป็นธรรมทางเพศ และเคารพสิทธิของทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และผู้หลากหลายทางเพศ คือเป้าหมายนำมาสู่การบรรจุประเด็น “วิถีเพศภาวะ: เสริมพลังสุขภาวะครอบครัว” เข้าไปในระเบียบการพิจารณาใน งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ประจำปี 2562 ซึ่งสมาชิกสมัชชาสุขภาพทั่วประเทศ รวมถึงกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ตลอดจนผู้คนที่ทำงานในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้มีความเห็นร่วมกันว่า การทำให้สังคมตระหนักรู้ถึง “ความเสมอภาค” และ “ความเป็นธรรมทางเพศ” เป็นภารกิจของทุกภาคส่วนที่ต้องดำเนินการอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง

“ขอให้ทุกพรรคการเมืองประกาศนโยบายเพื่อให้ทุกเพศได้รับการรับรองอย่างเสมอภาค และเป็นธรรมในทุกมิติ รวมทั้งกำกับ ติดตามให้มีการใช้นโยบายที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ คือหนึ่งในข้อเสนอของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ได้รับฉันทมติร่วมกัน เมื่อราว 3 ปีที่แล้ว ซึ่งดูจะเริ่มเห็นผลการตอบรับที่มากขึ้นในวันนี้” นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าว

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้ทรรศนะเอาไว้ภายในเวทีเสวนาโต๊ะกลม “การขจัดการเลือกปฏิบัติ เพื่อความเป็นธรรมระหว่างเพศ” ซึ่ง สช. จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2564 ว่า เรื่องของวิถีทางเพศสภาพนั้นเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนและมีความสำคัญ ซึ่งแม้ขณะนี้คนทั่วไปบางส่วนอาจยังไม่ตระหนักหรือมองข้าม หากแต่ประเด็นเหล่านี้จะมีความสำคัญมากขึ้น เรื่อย ๆ

“การสร้างความตระหนักและเปลี่ยนเจตคติของสังคม ลำพังหน่วยงานราชการอาจมีข้อจำกัด โดยเฉพาะความเคยชิน กรอบทัศนคติ รวมถึงประเด็นทางกฎหมาย ที่พรรคการเมืองอาจสามารถเข้ามาเป็นตัวเร่งในการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้” นพ.พลเดช ระบุ

แน่นอนว่า กว่าจะถึงบทสรุปของเรื่องนี้ ยังมีขั้นตอนการพิจารณาและรายละเอียดระหว่างบรรทัดอีกมากมาย แต่การรับหลักการของสภาฯ ร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ ก็ช่วยเป็นแสงแรกที่ส่องสว่างให้กับการเคลื่อนไหวเพื่อ “ทวงสิทธิที่พวกเขาถูกพรากจากไป”

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.

โทร. 02-8329141

รูปภาพ
Pride Month