หยุดหมอกควัน-ยับยั้งไฟป่า การแก้ปัญหาต้องเริ่มจาก ‘ชุมชน’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   ฝุ่นพิษขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ที่เคยเป็นปัญหาใหญ่ของคนกรุงเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ขณะนี้ได้เข้าปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือและกำลังจะกลายเป็นต้นเหตุภัยสุขภาพของคนในพื้นที่
 
   ภาพความเลวร้ายของสถานการณ์ได้ปรากฏแก่สาธารณชนผ่านสื่อมวลชนและสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง เกิดเป็นกระแสเรียกร้องให้ภาครัฐแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
 
   นอกเหนือจากภาคขนส่ง-คมนาคมที่เป็นต้นกำเนิดของมลพิษขนาดจิ๋วแล้ว ปัญหา “การเผาป่า” ก็เป็นที่พูดถึงและถูกเรียกร้องให้วางมาตรการเข้มในการแก้ไขอย่างยั่งยืน
 
   “ไฟป่าเกือบ 100% เกิดจากฝีมือมนุษย์ ถ้าจะแก้ก็ต้องแก้ที่ตัวมนุษย์ คือจะทำอย่างไรให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้วย ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดก็คือการสร้างความเข้มแข้งให้กับชุมชน ไม่เช่นนั้นก็คงทำได้แค่ตามดับไฟโดยที่ไม่รู้ว่าใครเป็นคนจุด”
 
   นี่คือความคิดเห็นจากผู้แทนกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะผู้ที่ปฏิบัติงานจริง ที่สะท้อนผ่าน ที่ประชุมแลกเปลี่ยนและระดมความคิดแนวทางขยายผลการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมว่าด้วยเรื่อง การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่ผ่านมา
 
   การประชุมดังกล่าว เป็นไปเพื่ออัพเดทสถานการณ์และวางแนวทางการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มติ 8.2 ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยมี นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ รองประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) เป็นประธาน
 
   ความเห็นส่วนใหญ่จากภาคีเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นตรงกันว่า “กระบวนการมีส่วนร่วมจากชุมชน” คือหัวใจสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่กำลังลุกลามอยู่ในขณะนี้
 
   ตัวแทนภาคประชาสังคมพื้นที่ภาคเหนือซึ่งคลุกคลีอยู่กับปัญหามาโดยตลอด ถอดบทเรียนจากการทำงาน “แม่แจ่มโมเดล” ว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ภาครัฐจะไม่มีทางเข้าไปยับยั้งการเผาของคนในชุมชนได้สำเร็จเลย และการแก้ไขปัญหาด้วยการใช้ single command ยังมีเงื่อนไขข้อจำกัดอย่างมากในการจัดการด้วยระบบโครงสร้างของหน่วยงานรัฐ
 
   ดังนั้น หากต้องการจะแก้ไขปัญหาให้ได้อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับชาวบ้านใน 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.เรื่องสิทธิ 2.ปัญหาหนี้สิน 3.อาชีพ 4.การจัดการทรัพยากรในพื้นที่และระบบข้อมูล
 
   “แม้ว่าเราจะพูดถึงเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างไร แต่ถ้าชาวบ้านยังมีหนี้สิน ยังมีปัญหาปากท้อง สุดท้ายเขาก็ต้องทำหรือต้องเผาแบบเดิม” ผู้แทนภาคประชาสังคม ระบุ
 
   หนึ่งในข้อมติ ในมติที่ 8.2 คือการขอให้ ทส. แต่งตั้งคณะทำงานรวม 2 ชุด โดยการสนับสนุนของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ โดยหนึ่งในนั้นก็คือ “คณะกรรมการประสานความร่วมมือสนับสนุนการจัดการปัญหาหมอกควันและไฟป่าอย่างยั่งยืน” ซึ่งจะมีทั้งหน่วยราชการ เอกชน ภาคประชาสังคม ร่วมเป็นกรรมการ ทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยงกับคณะทำงานระดับจังหวัดและพื้นที่ สนับสนุนให้เกิดการทำแผนปฏิบัติการทั้งเชิงรุกและป้องกัน
 
   “ทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจะประสานไปท่านปลัดกระทรวงทรัพย์ รวมทั้งท่านอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการตั้งคณะทำงานชุดนี้ขึ้น ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่จะเชื่อมต่อระดับพื้นที่ไปจนถึงระดับนโยบาย และเดินหน้ามตินี้ได้สำเร็จ” นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ระบุ
 
   นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังเปิดให้ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย อาทิ การดำเนินการของชุดปฏิบัติการพิเศษ “เสือไฟ” และ “เหยี่ยวไฟ” เพื่อดับไฟป่าของ ทส. ซึ่งสะท้อนถึงความจำเป็นในการฝึกฝนทักษะดับไฟป่า ตลอดจนปัจจัยนอกเหนือการควบคุมที่ทำให้ไฟป่าลุกโชน เช่น ทิศทางลม รวมถึงการเผาข้ามพรมแดน
 
   ขณะเดียวกัน มีการบอกเล่าถึงการใช้ธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่เพื่อควบคุมการเผาในชุมชนอย่างได้ผล และการขับเคลื่อนให้เกิดพื้นที่ปลอดการเผา 100% ซึ่งปัจจุบันทำสำเร็จแล้วใน 38 ชุมชน ครอบคลุม 9 จังหวัด
 
   พญ.สยมพร ศิรินาวิน ประธานเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขต ๑ อภิปรายว่า จากประสบการณ์ทำงานมักจะพบความคึกคักของหน่วยราชการเฉพาะช่วงเดือนมกราคม-เมษายนเท่านั้น จากนั้นก็จะเงียบหายไป ตรงนี้สะท้อนว่าการทำงานเน้นแต่การดับไฟ แต่ไม่ได้เน้นการดับต้นเหตุของการเกิดไฟ ฉะนั้นเรื่องนี้จำเป็นต้องทำเป็นระบบและทำตลอดทั้งปี
 
   “ยกตัวอย่างเช่น ข้อถกเถียงเรื่องการเผาป่าแล้วจะทำให้ผักหวานขึ้น นี่เป็นตัวอย่างว่าฝ่ายวิชาการก็ต้องลงไปศึกษาวิจัยและชี้ให้เห็นว่าข้อถกเถียงนี้เป็นความจริงหรือไม่ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้” พญ.สยมพร กล่าว และแนะนำว่า ในเมื่อปัญหาอยู่ในพื้นที่และแต่ละพื้นที่มีปัญหาที่แตกต่างกัน ดังนั้นจำเป็นต้องจัดกลุ่มพื้นที่และจัดกลุ่มปัญหาให้ชัด และลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

หมวดหมู่เนื้อหา