เรื่องเล่าจากเหมืองแร่ บาดแผลที่รอการเปลี่ยนแปลง | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

การทำเหมืองแร่ในประเทศไทย เป็นประเด็นที่ยังคงถูกตั้งคำถาม ทั้งความสมดุลของระบบนิเวศน์ที่ต้องสูญเสียไป สุขภาพของประชาชนที่เกินเยียวยาแก้ไข และที่สำคัญยังก่อให้เกิด ความขัดแย้งในวงกว้าง โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบต่างออกมาเรียกร้องให้มี “การปฏิรูปการจัดการทรัพยากรสินแร่และเหมืองแร่” นำเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และเข้าสู่กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป
 
   รศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประธานในเวทีรับฟังความคิดเห็นเรื่อง “HIA ในกระบวนการปฏิรูปการจัดการทรัพยากรสินแร่และเหมืองแร่ของประเทศไทย” จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีตัวแทนจากภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐและนักวิชาการเข้าร่วมกว่า ๕๐ คน
 
   “ปัจจุบันแม้จะมีกฎหมายกำกับดูแลการทำเหมืองแร่ แต่โครงการเหล่านี้ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้น พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ ที่มุ่งเน้นส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน จึงคาดว่าจะมาซ้ำเติมปัญหาเดิมๆ ให้เกิดมากขึ้น เนื่องจากมีการลดขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติอนุญาตให้สั้นลง ทำให้การอนุมัติทำกิจการเหมืองแร่ได้เร็วขึ้น”
 
   ใน (ร่าง) พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแล้ว และอยู่ในขั้นการประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น ได้กำหนดขั้นตอนการขอประทานบัตร จนถึงการอนุมัติลดเวลาจาก ๓๑๐ วัน เหลือเพียง ๑๐๐-๑๕๐ วัน มีการลดอำนาจฝ่ายการเมือง แต่เพิ่มอำนาจข้าราชการในการอนุมัติหรืออนุญาต รวมถึงมีประเด็น การอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ในพื้นที่ป่า พื้นที่หวงห้าม หรือพื้นที่พิเศษ ที่เคยมีข้อกำหนดที่จำกัดห้ามทำเหมือง โดยให้ประกาศเป็น “เขตแหล่งแร่” เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาสำรวจและทำเหมืองแร่ในบริเวณนั้น ขณะที่เอกชนที่ชนะการประมูล จะไม่ต้องขออนุญาตสำรวจและทำเหมืองแร่ตาม พ.ร.บ.แร่ฯ ซึ่งมีผลให้ผู้ขออนุมัติ/อนุญาต ไม่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทั้งทางสิ่งแวดล้อม(EIA) และทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โดยปริยาย ที่สำคัญ มีประเด็นเรื่องการนำพื้นที่ ลุ่มน้ำชั้น 1 A ซึ่งเป็นพื้นที่สภาพป่ายังคงสมบูรณ์ ชุ่มน้ำ และมีความอ่อนไหวสูง มาใช้ประโยชน์เพื่อการขอสัมปทาน สำรวจ และทำเหมืองแร่ ได้อีกด้วย
 
   รศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ สะท้อนว่า ช่องโหว่จากการทำเหมืองในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อเนื่องในทุกมิติ สาเหตุหลักนอกจากผู้ประกอบการที่ขาดความรับผิดชอบแล้ว ยังมาจากความเข้มงวดของกฎหมายที่แตกต่างในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งมีผลทั้งด้านบวกและด้านลบ ทั้งนี้ การอนุมัติเหมืองแร่ที่ผ่านมา แบ่งได้เป็น ๓ ระยะ คือ ระยะที่ ๑ ก่อนมี พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๑๘ ที่บังคับให้มีการทำ EIA ระยะที่ ๒ เกิดขึ้นหลังมี พรบ.ส่งเสริมฯ พ.ศ. ๒๕๑๘ แล้ว แต่เป็นระยะก่อนการกำหนดให้มีการจัดทำ EHIA ตามรัฐธรรมนูญ ฯ พ.ศ. ๒๕๕๐ และการเกิดขึ้นของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ให้สิทธิชุมชนในการทำการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ ส่วน ระยะที่ ๓ เหมืองแร่ที่เกิดขึ้นภายหลังมีกฎหมายข้อกำหนดเรื่อง EIA และ EHIA รวมทั้ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ “ผลจากการปนเปื้อนของแคดเมียมในดิน น้ำ และระบบนิเวศในบริเวณกว้าง และผลต่อสุขภาพกายจากพิษแคดเมียม ทั้งโรคไต และปวดกระดูก รวมไปถึงการสูญเสียจิตวิญญาณจากการย้ายพระธาตุผาแดง ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากข้าวขายไม่ได้ เพราะผู้บริโภคกลัวพิษภัยของแคดเมียม และผลที่ชาวบ้านต้องเปลี่ยนอาชีพ” เป็นคำกล่าวของ บุญเรือน ชัยญะวงศ์ ชาวตำบลพระธาตุผาแดง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ผู้แทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่จากตำบลแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ผู้ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากการมีแคดเมียมในกระแสเลือดระดับสูง ซึ่งปัจจุบันยังต้องเข้าออกโรงพยาบาลเพื่อรักษาโรคต่างๆ อันเป็นผลจากแคดเมียมที่สะสมในร่างกายมาอย่างยาวนาน สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากเหมืองแร่สังกะสี และถ่ายทอดบทเรียนจากการทำเหมืองในพื้นที่ลุ่มน้ำ ที่ชาวบ้านยังคงได้รับผลกระทบ ตั้งแต่เหมืองเปิดดำเนินการเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ ก่อนที่จะมีกฎหมายกำหนดให้ทำรายงาน EIA
 
   ขณะที่ ญาณพัฒน์ ไพรมีทรัพย์ ตัวแทนชุมชนคนลุ่มน้ำแม่ตาว มองในภาพใหญ่ว่า แม้จะมีกฎหมายกำหนดให้ทำรายงาน EIA หรือ HIA แล้วก็ตาม แต่ต้องมาทบทวนกฎหมายเหล่านี้ด้วยว่าเกิดขึ้นแล้วเป็นไปตามเจตนารมณ์หรือไม่ รวมไปถึงการทบทวน พรบ.แร่ ฉบับใหม่นี้ ที่ลดขั้นตอนระยะเวลา รวมทั้งการกระจายอำนาจการอนุมัติ/อนุญาตลง เพื่อเอื้ออำนวยให้การทำเหมืองแร่สะดวกและรวดเร็วขึ้นด้วย
 
   ณัฐพงษ์ แก้วนวล ตัวแทนกลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อม เนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ยืนยันว่า ชาวบ้านตระหนักถึงผลกระทบ แต่ต้องทำมาหากินและไม่มีเครื่องมือมากพอในการต่อสู้ หลายโครงการมีการฟ้องดำเนินคดีกับบริษัทเอกชนที่ได้อาชญาบัตรสำหรับการสำรวจ หรือประทานบัตรจากการได้รับสัมปทาน แต่ก็มักมีการอุทธรณ์ และในระหว่างอุทธรณ์ เหมืองเหล่านั้นยังคงดำเนินการต่อไป ทำให้ผลกระทบก็เกิดขึ้นควบคู่กันด้วย
 
   คำเพลิน บุญธรรม ตัวแทนเครือข่ายเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดพิจิตร มองว่าสถานการณ์ที่เป็นอย่างนั้น เป็นเพราะหน่วยงานรัฐและผู้ประกอบการมักรู้เห็นเป็นใจกัน ตั้งแต่การให้ประทานบัตร แม้แต่การที่หน่วยงานรัฐลงมาตรวจสอบ ผู้ประกอบการเหมืองก็มักจะรู้ก่อนเสมอ “แทนที่รัฐบาลจะเร่งออก พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่ ควรแก้ปัญหาเหมืองที่มีอยู่เดิมที่สร้างผลกระทบให้ชาวบ้านมาโดยตลอดก่อน วิธีที่จะทำได้ เพียงใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดกับเหมืองที่ทำละเมิด”    การรู้เท่าทัน และความเข้มแข็งของชาวบ้านกลับไม่มีประโยชน์ วัชราภรณ์ วัฒนขำ ตัวแทนเครือข่ายเฝ้าระวังผลกระทบเหมืองแร่ จังหวัดเลย ย้ำว่า ชาวบ้านรวมตัวอย่างเข้มแข็ง มีข้อเสนอเรียกร้องในหลายเวที รวมถึงฟ้องร้องดำเนินคดี แต่เสียงของชาวบ้านกลับไม่มีน้ำหนัก ซ้ำร้ายยังถูกลิดรอนอำนาจ จึงต้องการเสนอให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาอนุมัติ/อนุญาตการทำเหมืองอย่างแท้จริง นั่นหมายถึงว่า หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชน เหมืองต้องไม่สามารถเปิดดำเนินการได้
 
   ในมุมมองของนักวิชาการอิสระ อย่าง ณัติกาญจน์ สูติพันธ์วิหาร เห็นว่า กลไกกำกับควบคุมการทำเหมืองแร่ด้วย EHIA ไม่ได้ช่วยมากนัก เพราะแยกทำเป็นส่วนๆ และรายโครงการ ไม่ได้พิจารณาในภาพรวม ทำให้การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ ต่ำกว่าความเป็นจริง จึงมีข้อเสนอทางออกทั้งระบบ โดยให้พื้นที่ลุ่มน้ำต้องห้ามทำเหมืองทุกกรณี ส่วนการประเมินผลกระทบต้องทำตั้งแต่ขั้นตอนการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment หรือ SEA) เพื่อประเมินศักยภาพและข้อจำกัดของสิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่ก่อนการมีนโยบายให้เป็นพื้นที่ทำเหมืองแร่ได้ และมีกระบวนการตัดสินใจจากหลายฝ่ายอย่างมีส่วนร่วม ที่สำคัญให้ชุมชนมีส่วนในการประเมินผลกระทบเอง รวมถึงกำหนดให้มีกระบวนการตรวจสอบ “บัญชีทรัพย์สิน” ของผู้ที่มีอำนาจอนุมัติ/อนุญาตทำเหมือง การมี ศาลสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพื่อทำคดีด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรง ตลอดจนการจัดตั้ง กองทุนประกันความเสี่ยง ก่อนการอนุมัติ/อนุญาตทำเหมือง
 
   นอกจากนี้ เครือข่ายผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองในหลายจังหวัด ยังเสนอให้รัฐบาลทบทวนอัตราค่าภาคหลวงที่เก็บจากเหมืองแร่ เพราะปัจจุบันมีอัตราที่ต่ำเกินไป ทบทวนการจัดสรรเงินจากค่าภาคหลวงไปยังท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งของเหมืองที่ไม่เป็นธรรม และจัดให้มีแผนและกลไกการเฝ้าระวังพื้นที่ปนเปื้อนให้ชัดเจนขึ้น รวมถึงมีแผนฟื้นฟู ป้องกัน ทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพโดยใช้เงินจากค่าภาคหลวง
 
   ถึงเวลาแล้วที่จะนำบทเรียนอันเจ็บปวดของชาวบ้านที่ได้รับจากโครงการเหมืองแร่ และข้อเสนอจากนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม มาขับเคลื่อนสู่การปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง ในช่วงที่รัฐบาลกำลังมีความพยายามเปิดสัมปทานรอบใหม่ให้แก่ภาคเอกชนเข้ามาสำรวจสินแร่ในประเทศไทยหลายโครงการ เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถใช้ทรัพยากรธรรมชาติและอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน...

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9144

รูปภาพ