สช. จับมือพระปกเกล้า เปิดเวที ”ประชาเสวนาหาทางออก” เดินหน้าทบทวนธรรมนูญสุขภาพ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ สถาบันพระปกเกล้าฯ จัดเวทีประชาเสวนาหาทางออก รับฟังความเห็นหาคำตอบ “ภาพอนาคตระบบสุขภาพที่ประชาชนต้องการ”เพื่อเป็นข้อมูลทบทวนธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2552 โดยเปิดเวทีประชาเสวนาหาทางออก ครั้งแรกเมื่อกลางเดือนมกราคม ที่กาญจนบุรี วางแผนจัดทั้งสิ้น 5 เวที ใน 4 ภาค
 
   นายศุภณัฐ เพิ่มพูนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้าฯ ผู้ดำเนินการเวทีการประชาเสวนา กล่าวว่า การสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมจากประชาชนหลากหลายภาคส่วน เพื่อการทบทวนธรรมนูญสุขภาพฯ โดยใช้เครื่องมือประชาเสวนาหาทางออก เป็นกระบวนการที่เน้นการให้ได้มาซึ่งความเข้าใจเชิงกระบวนการและผลลัพธ์ไปพร้อมๆ กัน มีการสร้างบรรยากาศ ควบคู่กันไปกับเป้าหมายปลายทางในการหาข้อเสนอแนะ เพื่อเป็นทางออกให้กับสิ่งที่พึงปรารถนาร่วมกันของคนในสังคม ซึ่งกระบวนการนี้ สถาบันพระปกเกล้าฯ เคยจัดเพื่อหาคำตอบอนาคตประเทศไทยมาแล้ว และกำลังใช้ในกระบวนการรับฟังความเห็นของการร่างรัฐธรรมนูญฯ ขณะนี้ด้วย
 
   ทั้งนี้ คำตอบที่อยากได้จากเวทีนี้คือ ความคิดเห็นของประชาชนต่อ “ภาพพึงประสงค์และทิศทางของระบบสุขภาพในอนาคตอย่างน้อย 10 ปีข้างหน้า” ซึ่งประชาชนที่ได้รับการสุ่มเลือกมาในเวทีประชาเสวนาหาทางออก จะได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอก่อนการตัดสินใจ ทั้งข้อมูลสถานการณ์ของระบบสุขภาพปัจจุบันในความหมายที่กว้างกว่าการรักษาพยาบาล โดยหมายรวมสุขภาพทางจิต ทางสังคม สิ่งแวดล้อม ปัจจัยคุกคามสุขภาพทั้งภายในภายนอกประเทศ ตลอดจนข้อมูลจากการวิจัยที่แสดงโอกาสที่อาจเกิดขึ้นได้ของภาพอนาคตระบบสุขภาพในรูปแบบที่แตกต่างกันตามปัจจัยที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งแจกแจงข้อดีข้อเสียให้ทราบ จากนั้นผู้เข้าร่วมกระบวนจะร่วมกันแสดงความคิดเห็นในลักษณะ “การสานเสวนา” คือพูดคุยกันอย่างลุ่มลึก พร้อมที่จะรับฟังซึ่งกันและกัน มีการซักถาม อภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็นกันก่อนที่จะร่วมกันหาข้อสรุปที่เป็นส่วนที่เห็นพ้องกัน
 
   “การประชาเสวนาหาทางออก จะช่วยเปลี่ยนทัศนคติหรือความเข้าใจของกลุ่มเป้าหมาย โดยหลักการใหญ่คือ การมาฟังซึ่งกันและกัน ซึ่งกระบวนการมีส่วนร่วมจะเน้นการฟังอย่างตั้งใจ ด้วยการนำคนจำนวนมากๆ มาคุยกัน เกิดการยอมรับกัน ทุกคนคิดต่างได้ แต่ต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ เพื่อสิ่งเดียวกัน ความคิดอาจไม่ตรงกัน อยู่ที่ว่าใครจะมองมุมไหน โดยจะจัดเวทีหลายแห่ง คัดเลือกกลุ่มประชากรด้วยการสุ่มแบบเป็นระบบ ผสมผสานกับผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นที่ทำการศึกษาเป็นการเฉพาะ ซึ่งจะช่วยให้เห็นความแตกต่างของกลุ่มต่างๆ ได้ ครั้งแรกนี้เรามีพี่น้องประชาชนประมาณ 100 คน ที่สุ่มตัวอย่างจากคนอายุ 17-75 ปี และยังมีผู้นำทางศาสนา ผู้พิการ และกลุ่มเป้าหมายพิเศษของพื้นที่ เช่น คนชายขอบจาก 4 จังหวัดภาคกลางตอนล่าง คือ นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรีและกาญจนบุรีมาร่วมกระบวน ” นายศุภณัฐ กล่าว
 
   ดร.นาตยา พรหมทอง หัวหน้าทีม สช. ในเวทีวันนี้กล่าวว่า จากข้อมูลทางวิชาการ สถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาระบบสุขภาพไทยในอนาคตนั้นประกอบด้วย 1.ด้านการเมืองการปกครอง ซึ่งยังมีความขัดแย้งทางการเมือง เกิดปัญหาการคอร์รัปชั่น ส่งผลทางสุขภาพให้เกิดความเครียด ความหวาดระแวง ไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน การขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ล่าช้า 2.ด้านเศรษฐกิจ ยังมีความเหลื่อมล้ำในเรื่องรายได้ ยังมีอุปสรรคในการเข้าถึงบริการของประชาชนในพื้นที่ที่ห่างไกล ขณะที่ความแตกต่างทางรายได้ส่งผลต่อการเลือกใช้และเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ ส่วนการเจรจาการค้าเสรีระหว่างประเทศที่เดินหน้ายังอาจมีผลกระทบต่อระบบสุขภาพ เช่น ราคายา
 
   3.ด้านประชากรและสังคม ในมุมบวก คนไทยเริ่มสนใจเรื่องสิทธิหน้าที่และความเป็นพลเมืองมากขึ้น สถานการณ์โครงสร้างประชากรไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้เกิดภาระของสังคมโดยรวมจากการดูแลผู้สูงอายุ ในสภาพที่การเตรียมการรองรับยังไม่ดีพอ ขณะที่การเดินทางที่สะดวกขึ้นทำให้โรคแพร่ระบาดง่ายและเร็วมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะจากการข้ามแดนของแรงงานต่างชาติ 4.ด้านเกษตรและอาหาร เด็กไทยร้อยละ 7 น้ำหนักยังต่ำกว่าเกณฑ์ มีปัญหาการใช้สารเคมีในการเกษตรจนอาหารถูกปนเปื้อน ระบบเกษตรถูกผูกขาดโดยบริษัทใหญ่มากขึ้น ทำให้เกิดสินค้าราคาแพง โดยผู้บริโภคขาดอำนาจต่อรอง 5.ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเขตเมืองและอุตสาหกรรมขยายมากขึ้น จำนวนพื้นที่ป่าไม้ลดลง ทำให้เกิดปัญหามลพิษ การขาดแคลนน้ำในอนาคต และภาวะโรคร้อน
 
   6.ด้านเทคโนโลยี มีการนำเข้าและใช้เทคโนโลยีสุขภาพมากขึ้น กฎหมายควบคุมเรื่องเทคโนโลยียังมีข้อจำกัด ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้น มีปัญหาการสื่อสารและโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่เหมาะสม 7.ด้านระบบบริการสุขภาพ มีแนวโน้มภาวะโรคอ้วนและภาวะไขมันในเลือดสูงเพิ่มขึ้น ขณะที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐดีขึ้น แต่ยังคงมีปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคยังไม่บูรณาการ รายจ่ายด้านบริการสุขภาพของประเทศสูงขึ้นเรื่อยๆ
 
   ส่วนภาพอนาคตระบบสุขภาพที่พึงประสงค์นั้น จากงานวิจัยของ สช. ที่ได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) พบว่า อาจเกิดขึ้นได้ใน 3 ทาง คือ ภาพแรก “ประชาชนและรัฐ ร่วมคิดและสร้างสรรค์ เพื่อผลักดันระบบสุขภาพ” โดยทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับระบบสุขภาพของทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย และให้รัฐ เอกชน ชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทในการจัดการระบบสุขภาพ ภาพที่ 2 ที่อาจเกิดขึ้นคือ “ระบบสุขภาพของใครของมัน” เกิดขึ้นหากมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมาก จนอาจทำให้สังคมแตกแยก มีความเหลื่อมล้ำ สุขภาพกลายเป็นเรื่องส่วนบุคคล ใครมีเงินก็สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่ดีกว่า ในขณะที่ ภาพสุดท้าย “ระบบสุขภาพยังมีความสำคัญ แต่รัฐและประชาชนต้องร่วมกันประคับประคอง” เพราะการเมืองยังมีอิทธิพลในการกำหนดนโยบายด้านสุขภาพของประเทศ ประชาชนและท้องถิ่นจึงเห็นความสำคัญของการเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาระบบสุขภาพมากขึ้น
 
   ผอ.ศุภณัฐ กล่าวว่า “หลังจากได้ภาพอนาคตร่วมกันแล้ว จะใช้กระบวนการกลุ่มย่อย ให้ผู้ร่วมสานเสวนาช่วยกันคิดต่อ โดยให้ขยายแนวคิดหรือสิ่งที่ตัวเองต้องการเห็นหรือต้องการให้เป็น ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร โดยพยายามตอบคำถามว่า จะเตรียมหรือทำอย่างไรกับสิ่งที่ตัวเองต้องการ ภายใต้โจทย์ “how ทำอย่างไรเพื่อบรรลุในความปรารถนานั้น” และ “who ใครเป็นคนทำ” จนได้ข้อสรุปร่วมกันในกลุ่มใหญ่ ระบบสุขภาพที่พึงปรารถนาและเป็นความต้องการที่แท้จริงจากประชาชนที่เข้าร่วมในเวทีการประชาเสวนา ทีมงานจะรวบรวมทั้งข้อมูลที่เห็นร่วมกันของคนส่วนใหญ่และข้อมูลส่วนที่เห็นต่างของคนส่วนน้อย ส่งต่อให้ สช. ต่อไป หลังเสร็จสิ้นทั้ง 5 เวที โดยเวทีต่อไปจะจัดที่อุบลราชธานี นครสวรรค์ สุราษฎร์ธานี และสรุปที่กรุงเทพมหานคร ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์”
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9144

รูปภาพ