- 167 views
เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๗ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวที สช.เจาะประเด็น เรื่อง “Restart ประเทศไทย : ทศวรรษใหม่นโยบายสุขภาพ” ที่อุทยานการเรียนรู้ หรือTK Park ชั้น ๘ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพ
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวในหัวข้อ “Restart Healthy Thailand” ว่า ในช่วง ๑๐ ปีข้างหน้าประเทศไทยต้องเผชิญปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของประชาชน ที่มีความซับซ้อนและรุนแรงมากกว่าปัจจุบัน ทั้งในมิติทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเตรียมรับมือ วางยุทธศาสตร์ “ปฏิรูประบบสุขภาพ” โดยร่วมกันขับเคลื่อนในช่วงที่ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปประเทศไทย กำลังเป็นประเด็นที่สังคมไทยตื่นตัวและให้ความสำคัญในขณะนี้
ใน มิติด้านการเมือง นพ.อำพล มองว่า ประเทศไทยยังเผชิญความไม่แน่นอนและความขัดแย้งต่อไป แต่ผู้คนในสังคมจะพัฒนาความคิดและจิตสำนึก ไม่ยอมรับ การใช้อำนาจโดยมิชอบ การทุจริต คอร์รัปชั่น ถือเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของระบอบ ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม นำไปสู่การกระจายอำนาจให้แก่ชุมชนและท้องถิ่น ในการกำหนด นโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ ด้วยตัวเอง ขณะที่ มิติทางเศรษฐกิจ ก็มีปัจจัยเรื่องการเปิดการค้าเสรีทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค รวมถึงนโยบายส่งเสริมการเป็น ศูนย์กลางด้านบริการสุขภาพ (Medical Hub) และปริมาณแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก ก็จะกระทบต่อการให้บริการสุขภาพคนไทย
เลขาธิการคสช. กล่าวถึง มิติด้านสังคมว่า ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ความเป็นสังคมเมืองมากขึ้น ปริมาณคนชั้นกลางเพิ่ม แต่ความเหลื่อมล้ำยังดำรงอยู่ เกิดโรคภัยไข้เจ็บจากวิถีชีวิตที่เร่งรีบ การบริโภค และสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อสุขภาพ จนถึงปี พ.ศ.๒๕๗๓ ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ มากถึง ๑ ใน ๔ ของประชากรทั้งหมด ส่วน มิติด้านเทคโนโลยี จะมีการพัฒนาระบบสื่อสารที่ล้ำหน้า ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสุขภาพรวดเร็ว มีการรวมตัวอย่างเข้มแข็ง แต่ก็เกิดผลกระทบเชิงลบ เช่น การเสพติดในโลกออนไลน์ การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่หลอกลวง และสุดท้ายคือ มิติด้านสิ่งแวดล้อม จะเกิดภัยคุกคามสุขภาพจากภาวะโลกร้อน เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยธรรมชาติรุนแรง โรคอุบัติใหม่ โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน จะมากขึ้นจนควบคุมได้ยาก
นพ.อำพล กล่าวว่า สำหรับแนวทางการปฏิรูปสุขภาพนั้น คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ได้นำกลไก “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” มาขับเคลื่อนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อพัฒนา นโยบายสาธารณะด้านสุขภาพแบบมีส่วนร่วม (Participatory Healthy Public Policy) จนถึงปี ๒๕๕๖ มีมติข้อเสนอทางนโยบายรวม ๕๑ เรื่อง รวมถึงการสนับสนุนกระบวนการสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่และเฉพาะประเด็นทั่วประเทศกว่า ๓๐๐ เรื่อง โดยมี “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ” เป็นกรอบทิศทางในการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ มีผลผูกพันหน่วยงานของรัฐ และขยายผล จัดทำเป็นธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่ ทั้งอำเภอและตำบล ทั่วประเทศประมาณ ๑๐๐ แห่ง
ในการประชุม สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ ซึ่งจะจัดขึ้นวันที่ ๑๗-๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๗ ที่ศูนย์การประชุมและนิทรรศการ อิมแพ็ค เมืองทองธานี จะมีการพิจารณาวาระสำคัญเรื่อง การปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย ที่ภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ได้ร่วมกันกำลังขับเคลื่อนและผลักดันให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง โดยมีข้อเสนอ ๕ แนวทาง ประกอบด้วย
๑. การปฏิรูประบบสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคและการจัดการกับภัยคุกคามสุขภาพ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน นำหลักการเรื่อง สุขภาพในทุกนโยบาย (Health in All Policies) มาแปลงสู่การปฏิบัติให้บังเกิดผล รวมทั้งพัฒนาระบบงานและองค์กรที่ทำงานด้านระบาดวิทยา และส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การสร้างเสริมสุขภาพนอกภาคบริการสาธารณสุข เป็นต้น
๒.การปฏิรูประบบบริการสุขภาพ โดยเน้นการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ ทั้งระบบสุขภาพชุมชนและ ระบบบริการสุขภาพผสมผสานในระดับอำเภอ (District Health Systems) ควบคู่กับการส่งเสริมเวชปฏิบัติระดับครอบครัวและชุมชน การจัดวางแผนระบบบริการสุขภาพ (Health Service Plan) ของประเทศ ที่ครอบคลุมการบริการสุขภาพในทุกระดับ รวมถึงการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย พร้อมกับทบทวนนโยบายความเป็นเลิศด้านบริการสุขภาพและผลิตภัณฑ์สุขภาพในภูมิภาคเอเชีย นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องส่งเสริมการพัฒนาและใช้การแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก
๓. การปฏิรูประบบการสร้างและพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับการวางแผนผลิตและการพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพสาขาต่างๆ ทั้งด้านปริมาณ คุณภาพ และการกระจายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศไทย รวมทั้งเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมทางวิชาชีพ และพัฒนากลไกการคุ้มครองสิทธิผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์จากบริการสุขภาพ และสนับสนุนบทบาทและพัฒนาศักยภาพของคนพิการ ผู้สูงอายุ และบุคคลด้อยโอกาส
๔. การปฏิรูประบบการเงินการคลังและระบบหลักประกันด้านสุขภาพ โดยใช้วิธีการต่างๆ เช่น การใช้มาตรการทางภาษีกับสินค้าและบริการที่มีผลกระทบทั้งด้านลบและบวกต่อสุขภาพ การส่งเสริมการลงทุนที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี รวมถึงพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการร่วมจ่ายเงินเพื่อความยั่งยืนทางการเงินการคลัง ปรับปรุงการบริหารจัดการกองทุนภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และ พ.ร.บ.กองทุนเงินทดแทนฯ เพื่อลดความซ้ำซ้อนกับกองทุนสุขภาพอื่น
๕. การปฏิรูปการอภิบาลระบบสุขภาพและการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ โดยให้ความสำคัญกับการอภิบาลระบบสุขภาพโดยเครือข่าย (Governance by networking) ตามพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๕ และพ.ร.บ.อื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และโปร่งใส รวมถึงกระจายอำนาจและทรัพยากรให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองในการสร้างเสริมสุขภาพ และปรับสถานบริการของรัฐให้เป็นระบบการบริหารจัดการที่คล่องตัว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานบริการประชาชน
ดร.สุชาติ อุดมโสภกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาสังคม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัย ภาพอนาคตระบบสุขภาพ กล่าวว่า การมองภาพในอนาคตระยะ ๑๐ ปีข้างหน้าของระบบสุขภาพเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อทำให้ความไม่แน่นอนปรากฎเป็นภาพที่ชัดเจน ภายใต้ปัจจัยที่เข้ามากระทบทั้งทางบวกและลบ ซึ่งจะนำไปสู่การวางแนวทางรับมือ ลดผลกระทบล่วงหน้า โดยมีการสำรวจความคิดเห็นบุคคลที่อยู่ในและนอกระบบสุขภาพรวม 300 คน ถึงปัจจัยที่เข้ามากระทบต่อระบบสุขภาพ พบว่ามีทั้งสิ้น ๒๙ ปัจจัย จากนั้นได้ระดมความเห็นเพื่อวางแผน (Scenario Planning) ถ่ายทอดออกมาเป็นภาพอนาคตจำนวน ๓ ภาพ ประกอบด้วย ๑.) ราษฎร์-รัฐ ร่วมคิด ร่วมสร้างสรรค์ ร่วมผลักดันระบบสุขภาพ ๒.) ระบบสุขภาพของใคร (ของมัน) ดั่งผันที่ไกลเกินเอื้อม ๓.) ในเงามืดที่ทาทาบ ระบบสุขภาพยังยืนหยัด
จุดร่วมของภาพอนาคตทั้งหมด ต่างมองไปที่ปัจจัยภายภายในและภายนอก ที่จะเข้ามากระทบต่อระบบสุขภาพในอนาคต อาทิ สถานการณ์ทางการเมือง ทรัพยากรธรรมชาติ การคมนาคม และการกระจายอำนาจ เพื่อให้หน่วยงานปฏิบัติเตรียมความพร้อม นำโจทย์เหล่านี้ไปหารือ สู่การวางแผนปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมต่อไป
ดร.สุชาติ กล่าวว่า คณะวิจัยเสนอแนวทางแก้ปัญหาด้วยหลัก ๔ G’s ประกอบด้วย ๑. ระบบอภิบาล (Governance) หรือการใช้อำนาจอย่างเป็นธรรม สร้างสรรค์ และกระจายอำนาจในการบริหารจัดการ ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงภาวะความเป็นผู้นำที่ซื่อสัตย์ และกล้าหาญ ๒. การรวมกันเป็นหนึ่ง (Glomeration) ซึ่งหมายถึงการทำงานอย่างมีเอกภาพ สนับสนุนซึ่งกันและกัน ๓. การเติบโต (Growth) ของระบบสุขภาพ ด้วยการขยายหลักการของระบบสุขภาพไปยังทุกภาคส่วน ๔. ความเอื้ออาทร (Generosity) คือการดูแลโดยไม่เลือกชนชั้นหรือสถานะ
นพ.สุธี ฮั่นตระกูล รองนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก ระบุว่า การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะส่งผลระบบสุขภาพในอนาคตเพราะท้องถิ่นเป็นกลไกบริหารจัดการเพื่อสนองความต้องการของประชาชนอย่างเหมาะสม จึงเกิดกระแสเรียกร้องการมีส่วนร่วมในการบริหาร ตัดสินใจ ตรวจสอบโครงการและนโยบายสาธารณะที่มีผลกระทบต่อชุมชนจากชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าภาพอนาคตของการกระจายอำนาจจะเกิดขึ้นอย่างจริงจังได้เพียงใด เนื่องจากในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา การกระจายอำนาจเพื่อขับเคลื่อนระบบสุขภาพสู่ท้องถิ่น ยังไม่มีความก้าวหน้าเท่าที่ควร ทั้งๆที่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้กำหนดเงื่อนไขไว้อย่างชัดเจน และยังมี พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพ.ศ.๒๕๔๒ รองรับอีกด้วย แต่เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุข ยังไม่โอนภารกิจ พร้อมด้วยบุคลากร สถานที่ และงบประมาณให้แก่ท้องถิ่น ตามที่กฎหมายกำหนดอย่างที่ควรจะเป็น
“หากการจัดการระบบสุขภาพที่ผ่านมาดีแล้ว ขณะนี้คงไม่มีใครพูดถึงการปฏิรูประบบสุขภาพหรือจังหวัดจัดการตนเองขึ้นมาในขณะนี้ แต่ที่ทุกฝ่ายต้องมาพูดถึงการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น และกระตุ้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะการทำงานแบบเดิมล้มเหลว”
นพ.สุธี กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถือว่ามีความใกล้ชิดกับประชาชนรากหญ้า มีการทำงานที่เน้นหลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน จึงเชื่อว่าจะสามารถจัดระบบบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพมากขึ้น ถือเป็นแนวทางแก้ปัญหาล่วงหน้า เพราะในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีมีการพัฒนา ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจะสูงขึ้น สุดท้ายระบบสุขภาพจะดูแลผู้ป่วยได้เฉพาะคนที่อยู่ในระดับบน ความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพก็จะมีมากยิ่งขึ้น
ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข และการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าภาพอนาคตของระบบสุขภาพของไทยมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ การมีประชากรเกิดใหม่น้อยลง โดยสถิติปัจจุบันเด็กเกิดใหม่ทดแทนได้ 2 ใน 3 เท่านั้น นอกจากนี้ยังมาจากวิถีชีวิตของคนที่เปลี่ยนไปเมื่อฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น ทั้งการใช้ชีวิต บริโภคอาหาร และการรักษาพยาบาล
การปฏิรูประบบสุขภาพของไทย มุ่งเน้นไปที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบสาธารณสุข แต่การสร้างระบบหลักประกันสุขภาพที่ดี ต้องเป็นระบบที่ทุกชนชั้นสามารถฝากผีฝากไข้ได้ หมายถึงเป็นระบบที่มีคุณภาพ
ดังนั้นภาพในอนาคตของระบบสุขภาพใน 10 ปีข้างหน้า มีปัญหาใหญ่ที่รออยู่ คือการพัฒนาคุณภาพของระบบ ซึ่งต้องการทรัพยากรเพิ่ม ทั้งคน และเงิน โดยมีปัจจัยการแย่งชิงทรัพยากรของชนชั้นกลาง และคนต่างชาติ ที่เข้ามากระทบ ทำให้ความเป็นธรรมอาจไม่สามารถเกิดได้จริงตามเป้าหมาย