- 52 views
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จัดเสวนาเรื่อง โซเชียลมีเดีย คุ้มครองหรือคุกคามข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล” วันที่ ๑๔ พ.ค. ๒๕๕๗ โดยมี นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ พร้อมด้วยนายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ น.ส.บุญยืน ศิริธรรม สมาชิกวุฒิสภาและประธานสมาพันธ์องค์กรผู้บริโภค เข้าร่วม ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการใช้ “โซเชียล มีเดีย” เพื่อเผยแพร่ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล อันอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิผู้ป่วย เช่น ภาพของผู้ป่วยระยะสุดท้าย ข้อมูลทางการแพทย์ ฟิล์มเอ็กซเรย์ ฯลฯ ซึ่งตามหลักการของมาตรา ๗ ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ กำหนดให้ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลเป็นความลับ จะนำไปเปิดเผยเพื่อทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ แต่ภาวะสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถเป็นสื่อได้ทั้งหมด โซเชียลมีเดียจึงเป็นเครื่องมือสื่อสารทั้งด้านบวก และด้านลบ ซึ่งมีโอกาสละเมิดสิทธิส่วนบุคคลตลอดเวลา โดยเฉพาะข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคล
นพ.อำพล เห็นว่า แนวทางที่จะสามารถแก้ปัญหาในเรื่องนี้ได้มี ๕ ด้าน ประกอบด้วย หนึ่ง-มาตรการด้านนโยบายของแต่ละองค์กร หรือสถาบัน เช่น กรณีที่มหาวิทยาลัยมหิดล ออกนโยบายการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของบุคลากร และนักศึกษาของมหาวิทยาลัย เมื่อ ปี ๒๕๕๖ หรือ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและสภาวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ไทยที่ออกแนวปฏิบัติเรื่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของสื่อมวลชน พ.ศ.๒๕๕๓ สอง-ส่งเสริมให้เกิดวินัยในการใช้โซเชียลมีเดีย สาม-พัฒนาความรู้ความเข้าใจประเด็นที่เกี่ยวข้องให้แก่สังคมซึ่งมีความซับซ้อนมากขึ้น สี่-มาตรการด้านบริการ และ ห้า-มาตรการสื่อสารสังคม ซึ่งมีความสำคัญมากกว่ามาตรการด้านกฎหมาย โดยให้นึกอยู่เสมอว่าหากตนเองเป็นผู้ป่วยจะต้องการให้เผยแพร่ข้อมูลของเราหรือไม่
ด้าน นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต ระบุว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้การเข้าถึงข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ตทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะข้อความเท่านั้น แต่ยังมีข้อมูลส่วนบุคคลรวมอยู่ด้วย ส่งผลให้การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลมีแนวโน้มรุนแรง ประเทศไทยจึงต้องเร่งให้มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นการเฉพาะ
ขณะเดียวกันองค์กรวิชาชีพ หรือสถาบันต่างๆ ต้องมีกฎระเบียบชัดเจนในการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำหรับการรณรงค์ของเครือข่ายฯ มุ่งเน้นไปที่การเผยแพร่ประวัติการรักษาของผู้ป่วย ซึ่งประเทศไทยยังไม่ได้วางมาตรการป้องกันที่ดีพอ ซึ่งข้อมูลผู้ป่วยเป็นของคนไข้ ไม่ใช่ของโรงพยาบาล ดังนั้นการเผยแพร่ข้อมูล สถานพยาบาลต้องได้รับความยินยอมจากผู้ป่วย รวมถึงการโอนถ่ายข้อมูลผู้ป่วยเพื่อการรักษาพยาบาล ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยเท่านั้น
นายอาทิตย์ กล่าวว่า ข้อมูลผู้ป่วยมีโอกาสสูงที่รั่วไหลจากสถานพยาบาล เป็นเพราะโรคที่ซับซ้อน มีการโอนถ่ายข้อมูลระหว่างแพทย์ต่างแผนกหรือต่างโรงพยาบาล ทำให้มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก หากไม่บริหารจัดการดีพอ แม้เจ้าหน้าที่การเงินยังสามารถเข้าถึงข้อมูลทุกอย่างได้โดยง่าย ดังนั้น โรงพยาบาลต้องวางระดับของการเข้าถึงข้อมูลของเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องให้มีความเข้มงวดมากขึ้น
อีกจุดที่ต้องแก้ไข คือ การนำข้อมูลลูกค้าของห้างสรรพสินค้าหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตไปประมวลผลพฤติกรรมของลูกค้าเพื่อใช้ประโยชน์ทางการตลาด ซึ่งมีเรื่องข้อมูลด้านสุขภาพเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งห้างขนาดใหญ่ในสหรัฐถูกฟ้องร้องมาแล้ว ดังนั้น เรื่องเหล่านี้จะต้องมีมาตรการเฝ้าระวังที่ชัดเจน
นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า ภูมิทัศน์ของสื่อได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ไม่ใช่สื่อเท่านั้นที่เป็นผู้ส่งสาร ประชาชนทั่วไปก็มีบทบาทใช้พื้นที่สาธารณะในการส่งสารได้เช่นเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมา สภาการฯ มุ่งกำกับสื่อเองก่อน จึงออกแนวปฏิบัติในการผยแพร่ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียเมื่อปี ๒๕๕๓ เพราะเห็นว่าหากข้อมูลไม่ได้รับการตรวจสอบให้รอบคอบก่อนเผยแพร่ จะสร้างผลกระทบต่อสังคม และต้องมีการทบทวนให้สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบันให้มากขึ้น
นายจักร์กฤษ กล่าวต่อว่า ในกรณีเผยแพร่ภาพของผู้ป่วยนั้น ต้องแยกเป็นรายกรณี เพราะผู้ป่วยบางรายก็ต้องการให้ภาพปรากฎออกไปเพื่อบอกญาติมิตรหรือคนรู้จัก แต่ก็เป็นกรณีเจ็บป่วยไม่รุนแรง ส่วนในกรณีป่วยหนัก ภาพของผู้ป่วยจะดูหดหู่ จึงต้องใช้จิตสำนึกของแต่ละคนพิจารณาว่าสมควรเผยแพร่ออกไปหรือไม่ ดังนั้น การป้องกันการละเมิดสิทธิของผู้ป่วยต้องดำเนินการควบคู่กันทั้งการบังคับใช้กฎหมายและจริยธรรม จึงขอสนับสนุนให้แต่ละองค์กรออกแนวปฏิบัติทางจริยธรรมในการใช้โซเชียลมีเดียด้วย
ขณะที่ นางสาวบุญยืน ศิริธรรม สมาชิกวุฒิสภาและประธานสมาพันธ์องค์กรผู้บริโภค ระบุว่า การเรียกร้องของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมักไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐในการแก้ไขปัญหา ดังนั้นต้องมุ่งเน้นให้ประชาชนรู้เท่าทัน เพื่อนำข้อมูลมาใช้ปกป้องตนเอง
รศ.สุดา วิศรุตพิชญ์ ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นต่อเวทีเสวนาว่า กฎหมายไทยไม่ได้ให้คำนิยามของคำว่า ข้อมูลส่วนบุคคล ไว้ ดังนั้นการนำไปใช้จึงมีบริบทและรายละเอียดแตกต่างกัน อย่างไรก็ตามประเด็นของการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล อยู่ที่เจ้าของข้อมูลยินยอมให้เปิดเผยหรือไม่
ดังนั้น แนวทางแก้ปัญหา คือ ผู้ครอบครองข้อมูลต้องมีกติกา นอกเหนือจากระบบรักษาความปลอดภัยแล้ว ที่สำคัญที่สุด คือพฤติกรรมของคน เพราะกฎหมายหรือกติกาไม่สามารถควบคุมได้มากเท่ากับการปลูกฝังจิตสำนึก ขณะเดียวกันต้องให้ความรู้กับประชาชนถึงสิทธิและหน้าที่ของตนเองด้วย
ขณะที่ นพ.วิชัย โชควิวัฒน กรรมการสุขภาพแห่งชาติและประธานกรรมการที่ปรึกษาเพื่อส่งเสริมการใช้สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ กล่าวสรุปตอนท้ายว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการประมวลกฎหมายที่มีอยู่ เพื่อจัดทำแแนวทางปฏิบัติหรือจรรยาบรรณ ที่เหมาะสม ต้องสร้างสมดุลระหว่างการใช้เพื่อปัจเจกและประโยชน์สาธารณะ รวมทั้งการสร้างสมดุลระหว่างประโยชน์และความเสี่ยงต่อการเกิดโทษจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มวิชาชีพและประชาชนในทุกระดับ อย่างไรก็ตามการบังคับใช้กฎหมายและจิตสำนึกต้องควบคู่กันไป
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนเรื่องใดก็ตาม ต้องมี 3 องค์ประกอบ ได้แก่ การมีองค์ความรู้ การเคลื่อนไหวทางสังคม และการผลักดันให้เกิดนโยบาย จึงจะสำเร็จเหมือนการณรงค์เรื่องบุหรี่ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว ดังนั้น ประเด็นสำคัญที่สุดในการคุ้มครองข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลด้านการใช้สื่อสังคมออนไลน์ คือการวางแนวปฏิบัติ หรือจรรยาบรรณของแต่ละองค์กร รวมถึงการทบทวนกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ปฏิบัติ ในทุกระดับ เพื่อการรู้เท่าทันสื่อ