- 468 views
ผอ.รพ.สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เล่าการเปลี่ยนห้องขังเป็น ‘โรงพยาบาลสนาม’ ที่ศูนย์กักกันด่านสะเดา จ.สงขลา หลังมีแรงงานต่างชาติติดโควิด 42 คน เน้นทำความเข้าใจกับชุมชนให้มั่นใจว่าจะไม่ส่ง ผลกระทบ พร้อมยกตัวอย่างดีๆ ในพื้นที่เปลี่ยนจากรังเกียจเป็นร่วมดูแลผู้ป่วยโควิด19
เมื่อไม่นานมานี้ (25 เม.ย.2563) กรณีที่แรงงานต่างชาติถึง 42 คน ถูกกักตัวอยู่ที่ศูนย์กักตัวฯ ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จังหวัดสงขลา ติดโควิด19 เรื่องนี้ย่อมทำให้ประชาชนวิตกกังวลถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดไม่มากก็น้อย
นพ.สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ ผอ.โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ผู้ที่ลงไปจัดการกับเรื่องนี้ได้บอกเล่าประสบการณ์ผ่าน FM96.5 เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า หลังจากทราบข่าวก็ได้ลงไปยังพื้นที่ทันที สภาพของศูนย์กักตัวนั้นใช้เป็นที่กักตัวชาวต่างชาติทั้งแรงงานต่างชาติ คนเข้าเมืองผิดกฎหมายและอื่นๆ เพื่อรอส่งตัวกลับประเทศต้นทาง แต่เนื่องจากช่วงนี้เกือบทุกประเทศปิดประเทศจึงไม่สามารถส่งกลับได้ จึงเกิดสภาพค่อนข้างแออัดอย่างมาก เมื่อมีสถานการณ์โควิด19 ก็ยิ่งมีความยุ่งยากมากขึ้นในการจัดการ
นพ.สุวัฒน์ เล่ารายละเอียดต่อว่า ทีมสาธารณสุขต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจกับด่านตรวจคนเข้าเมืองทั้งระดับปฏิบัติการและผู้บริหารราว 1 - 2 วัน เพื่อให้เข้าใจข้อมูลตรงกันและร่วมกันตัดสินใจทุกกระบวนการ เนื่องจากต้องคำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยด้วย ท้ายที่สุด ก็ได้รับความร่วมมืออย่างดี และเริ่มจัดระบบโรงพยาบาลสนามกัน “สภาพที่เขานอน เราต้องแปลงเป็น รพ.สนาม กระจายห้องหนาแน่นไปยังห้องที่เบาบางกว่า ใช้หลัก Social Distancing เท่าที่ทำได้ คนที่นอนพื้น เราเอาเบาะสนามของ รพ.มาให้ อาหารก็ต้องมีถาดหลุมให้เขา มีช้อนประจำตัว ทุกคนมีเสื้อรพ.สวมใส่ เราขอให้เอาชุดเดิมออกทั้งหมดเพราะ เชื้อโรคอาจติดเสื้อผ้าเขา และขณะนี้ได้รับความอนุเคราะห์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินท์เอาโรบ็อทมาวัดไข้ให้เราเพื่อลดความเสี่ยง ไม่ต้องให้พยาบาลไปวัดไข้เอง เรียกว่ายกระดับที่เขาเป็นอยู่เดิมให้ดีขึ้น แต่ก็ยังเป็นไปตามสภาพ และการตัดสินใจทุกอย่างต้องทำร่วมกับเจ้าหน้าที่ ตม.” นพ.สุวัฒน์เล่า พร้อมย้ำว่า ทีมสาธารณสุขจะเข้ามาดูแลในช่วงเวลา 14 วันนี้ หลังจากนั้นจะส่งมอบการดูแลให้กับ ตม.ตามเดิม
“ในฐานะคนอยู่หน้างาน เรื่องโควิดเป็นผลกระทบไปทุกประเทศทุกชาติในโลก ถ้าเราไม่อาศัยจังหวะนี้ในการทำงานร่วมกันก็ยากมากที่จะฟันฝ่าไปได้ เราจัดการประเทศเราได้ดี ประเทศเพื่อนบ้านไม่ดี สักวันก็จะกลับมาในประเทศเรา ผมคิดว่าแรงงานต่างชาติไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย เขาเป็นคนคนหนึ่งและ ณ วันนี้เขามาอยู่ในผืนแผ่นดินไทย เราก็ทำหน้าที่ของพลเมืองไทยที่จะดูแลเขา ทำหน้าที่มนุษย์คนหนึ่งที่จะดูแลมนุษย์ด้วยกัน” นพ.สุวัฒน์กล่าวและบอกว่า “ชุมชนเป็นส่วนสำคัญมาก เราต้องให้ความมั่นใจกับชุมชนว่าเราจะจัดการข้างในเพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับชุมชน ทุกอย่างจะจัดการเบ็ดเสร็จอยู่ในนี้ ถ้าต้องส่งต่อ ก็ต้องส่งด้วยรถ รพ.ที่ได้มาตรฐานทุกอย่าง ขยะทุกอย่างในเรือนจำนี้ถือเป็นขยะติดเชื้อ มีรถ รพ.เข้ามารับทำลาย ทุกอย่างต้องให้ชุมชนเข้าใจว่าไม่มีอะไรเล็ดรอดไปในชุมชน”
นอกจากนี้ นพ.สุวัฒน์ ยังกล่าวในฐานะประธานกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขตพื้นที่ 12 ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานกับเครือข่ายประชาชนและชุมชนว่า “เครือข่าย กขป.ทำงานในแนวราบ ความสัมพันธ์ที่มีต่อกันทำให้เวลาขอความช่วยเหลือ ช่วยให้ขับเคลื่อนได้ง่าย อีกทั้ง กขป.ได้ให้ความสำคัญกลุ่มคนชายขอบ แรงงานต่างชาติอยู่ก่อนแล้ว เรื่องราวดีๆ เกิดขึ้นมากมายในพื้นที่ ช่วงนี้ใช้การประชุมออนไลน์กันเพื่อดูว่ารูปธรรมในพื้นที่ต่างๆ ทำอะไรกันบ้าง เช่น สามจังหวัดชายแดนใต้เน้นการดูแลคนยากไร้ ไม่มีงานทำ หรือกรณีที่เป็นโควิดหายแล้วจะกลับสู่ชุมชนได้ยังไง ถ้าพลังจากข้างล่างเข้มแข็งแล้วมีเครือข่ายไปหนุนเสริมให้เขามั่นใจ ทุกอย่างมันจะไปได้ดีและอยู่บนพื้นฐานของความเข้าอกเข้าใจ” นพ.สุวัฒน์กล่าว
นพ.สุวัฒน์ ได้ยกกรณีตัวอย่างชาวมุสลิมเดินทางกลับจากปากีสถานว่า “วันแรกเรียกได้ว่าเป็นที่รังเกียจเลยสำหรับชุมชน พอกลับมากักตัวในมัสยิด สักพักก็ป่วยรับการรักษาที่ รพ. ระหว่างนั้นทีมแพทย์ทีมพยาบาล ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนาค่อยๆ ไปตั้งวงล้อมคุยกับคนในชุมชน พูดจาประสาคนเป็นพี่น้องกัน จนเขาเข้าใจและรู้ว่าควรจัดการป้องกันอย่างไร หลังจากคนไข้รักษาตัวจนหายดี พอกลับเข้าชุมชน ปรากฏว่าชุมชนต้อนรับเขาอย่างดี เขาน้ำตาซึมเลย จากวันแรกที่ไม่มีใครเอา ในวันนั้นชุมชนบอกว่ากลับมาเลย พวกเราจะช่วยกันดูแล” นพ.สุวัฒน์กล่าว
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147