ภาคีสมัชชาสุขภาพฯ จัดทำนโยบายฯ เล็งใช้ ‘มาตรการทางการคลัง’ จูงใจดูแลสุขภาพ ดึง ‘ภาคเศรษฐกิจ-สังคม’ ร่วมลดโรคโรคไม่ติดต่อ NCDs | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สช.-ภาคีเครือข่าย ร่วมหารือพัฒนานโยบายสาธารณะ “สานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ” ดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมสร้างระบบนิเวศในสังคมช่วยลดโรค NCDs เล็งใช้ “มาตรการทางการคลัง” เป็นส่วนหนึ่งจูงใจให้คนมีสุขภาพดี-ป้องกันโรค หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ

เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการประชุมคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะว่าด้วยการสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ 2/2567 ซึ่งมี นพ.โสภณ เมฆธน เป็นประธาน เพื่อร่วมกันพิจารณาร่างข้อเสนอเชิงนโยบายของสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วย การสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ (NCDS) และแผนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างข้อเสนอฯ

นพ.โสภณ เปิดเผยว่า แม้ที่ผ่านมาเราจะมีความพยายามในการดำเนินงานเพื่อหยุดยั้งโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) มาเป็นระยะเวลานาน แต่ก็อาจเรียกได้ว่ายังไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องด้วยบทบาทหน้าที่หลักยังอยู่ในหน่วยงานภาคสาธารณสุข ซึ่งความจริงแล้วหนทางของการแก้ไขปัญหานี้ จำเป็นจะต้องดึงบทบาทของภาคส่วนอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ภายใต้มาตรการใหม่ๆ ที่จะช่วยสร้างสภาวะแวดล้อมหรือ ‘ระบบนิเวศ’ เพื่อลดโรคไม่ติดต่อ NCDs ให้เกิดขึ้นได้ทั้งระบบ

“โรคไม่ติดต่อ NCDs เช่น โรคหัวใจ มะเร็ง เบาหวาน ทางเดินหายใจ ฯลฯ ที่เป็นผลมาจากพฤติกรรมเสี่ยงอย่างการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย ฯลฯ ถือเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เพราะไม่ได้เป็นอุปสรรคเฉพาะด้านสุขภาพเท่านั้น แต่ยังสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลจากความเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชาชน” นพ.โสภณ ระบุ

นพ.โสภณ กล่าวว่า ความสำคัญในวันนี้จึงเป็นการใช้กระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะ เพื่อนำเอาภาคส่วนอื่นๆ นอกเหนือจากภาคสาธารณสุขเข้ามาช่วยกันสร้างระบบนิเวศเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ NCDs เช่น ภาคการคลัง ใช้มาตรการทางการคลัง ทางภาษีเข้ามาช่วย ภาคการกีฬา ภาคการเกษตร  ดูแลเรื่องอาหารที่ปลอดภัย หรือภาคการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนภาคท้องถิ่น ก็เข้ามาร่วมดูแลและมีมาตรการภายในพื้นที่โรงเรียน โรงงาน หรือท้องถิ่นที่ตนรับผิดชอบด้วย ซึ่งระบบนิเวศทั้งหมดนี้จะเป็นการพัฒนาเชิงระบบที่ยั่งยืนให้กับการลดโรค NCDs และเพิ่มคุณภาพชีวิตคนไทย

นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองประธานคณะกรรมการพัฒนานโยบายฯ กล่าวว่า หนึ่งในนวัตกรรมที่อาจนำมาใช้สนับสนุนการสร้างระบบนิเวศเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ NCDs ได้ คือ ‘มาตรการทางภาษี’ ซึ่งที่ผ่านมาอาจเคยมีการดำเนินมาตรการ เช่น ภาษีน้ำตาล ภาษีโซเดียม ฯลฯ แต่เรายังสามารถพัฒนาให้เกิดมาตรการทางภาษีที่หลากหลายเพิ่มเติม เช่น การลดหย่อนภาษีเงินได้ส่วนบุคคลหรือนิติบุคคล หรือ การเพิ่มสวัสดิการหรือหลักประกันทางสังคมให้ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกิดการป้องกันโรคในระดับบุคคล

นายชาญเชาวน์ กล่าวว่า หนึ่งในแบบอย่างที่เริ่มต้นมาแล้วจาก มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 เรื่อง การขับเคลื่อนแพลตฟอร์มเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลสถิติการออกกำลังกาย และการเล่นกีฬาของประชาชน (Calories Credit Challenge: CCC) ซึ่งได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มที่เก็บสะสม ‘แคลอรี่เครดิต’ แล้วสามารถนำมาแลกเปลี่ยนเป็นสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยเราอาจนำแนวทางนี้มาพัฒนากับโครงสร้างทางภาษี เกิดเป็นระบบนิเวศใหม่คล้ายกับ ‘คาร์บอนเครดิต’ ที่กลายเป็นมูลค่าและกระตุ้นให้แต่ละภาคส่วนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“หากเราพัฒนาให้เกิดระบบนิเวศด้วยการปรับโครงสร้างภาษี หรือการเพิ่มสวัสดิการและหลักประกันทางสังคมให้ เพื่อกระตุ้นให้คนไทยลดโรคไม่ติดต่อ NCDs เช่น สามารถนำพฤติกรรมการออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพ ไปใช้ในการลดหย่อนภาษีได้ จะถือเป็นนวัตกรรมที่ช่วยจูงใจและทำให้เกิดผลลัพธ์ในการป้องกันโรคแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน” นายชาญเชาวน์ ระบุ

ขณะที่ ดร.ภญ.อรทัย วลีวงศ์ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ IHPP กล่าวว่า จากการจัดประชุมปรึกษาหารือ (ถกแถลง) ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปก่อนหน้านี้ ทำให้ได้รับข้อมูลทั้งสถานการณ์ประเด็นปัญหา บทเรียนการดำเนินงานต่างๆ และข้อเสนอแนะ ที่นำมาสู่การร่างกรอบทิศทางนโยบาย (Policy Statement) เพื่อเป็นทิศทางของนโยบายสาธารณะประเด็นนี้ ที่จะนำไปหาฉันทมติในกระบวนการสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ร่วมกันต่อไป

สำหรับกรอบทิศทางนโยบายนี้ จะมุ่งสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมที่เอื้อต่อการลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ภายใต้ 5 มาตรการหลัก ประกอบด้วย 1. จัดระเบียบและลดการเข้าถึงสินค้าทำลายสุขภาพ อาทิ เหล้า บุหรี่ อาหารแปรรูป 2. ส่งเสริมการผลิต เพิ่มการเข้าถึงสินค้าและบริการที่ดีต่อสุขภาพ 3. สร้างสภาวะแวดล้อมสรรค์สร้างและพื้นที่สุขภาวะ 4. สร้างความรอบรู้ สื่อสารข้อมูลสุขภาพที่ถูกต้อง และจํากัดสื่อโฆษณา 5. สร้างโอกาส กิจกรรม ส่งเสริมการมีสุขภาพดีและพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์

ทั้งนี้ ภายใต้ 5 ระบบและกลไกหนุนเสริมการดำเนินการ ได้แก่ 1. การพัฒนาเครื่องมือนโยบาย (policy instruments) และมาตรฐาน 2. การออกแบบ พัฒนานวัตกรรม โมเดล และขยายผลเชิงระบบ 3. การสนับสนุนการเฝ้าระวังสภาพแวดล้อมทางกายภาพและสังคม 4. การพัฒนาระบบกำกับ ติดตามและประเมินผลลัพธ์ 5. การพัฒนาระบบตัดสินใจ บริหาร และสนับสนุนการลงทุน (Governance)

ด้าน นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า สิ่งสำคัญนอกจากการร่างเนื้อหานโยบายสาธารณะแล้ว ยังเป็นการวางแนวทางที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม การหาจุดคานงัดที่จะทำให้มาตรการต่างๆ เดินหน้าปฏิบัติจริงได้ โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นการหาตัวอย่างจากมาตรการที่เกิดขึ้นของประเทศอื่นๆ หรือพื้นที่ต้นแบบของนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งดูแล้วสามารถนำไปเป็นไอเดียในการคิดต่อได้

ในส่วนของกระบวนการภายหลังจากนี้ ทางคณะกรรมการพัฒนานโยบายฯ จะมีการนำร่างข้อเสนอฯ เข้าสู่เวทีรับฟังความคิดเห็นในช่วงเดือน มิ.ย. 2567 ก่อนนำไปปรับปรุงเอกสารหลักและร่างมติอีกครั้ง และระหว่างนั้นก็จะมีกระบวนการระดับพื้นที่ โดยจัดเวทีปรึกษาหารือในจังหวัดนำร่องที่มีการดำเนินงานเกี่ยวกับการสร้างระบบนิเวศเพื่อลด NCDs จากนั้นจึงนำเข้าสู่การจัดเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ในช่วงประมาณเดือน ส.ค. 2567 เพื่อหาฉันทมติต่อนโยบายสาธารณะดังกล่าวร่วมกัน ก่อนที่จะเสนอต่อ คสช. เพื่อส่งเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

รูปภาพ
สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ
Tags