- 43 views
วันนี้ (25 มกราคม 2567) รองเลขาธิการ คสช. (นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล) ผู้แทนเลขาธิการ คสช. ร่วมประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพ ของกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 1/2567 ณ ห้องประชุมวชิราวุธ ชั้น 2 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ประธานการประชุม ซึ่งมีวาระการประชุมที่ สช. นำเสนอเพื่อพิจารณา เรื่องแนวทางการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ และ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ตามกรอบธรรมนูญว่าด้วย ระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565 และเตรียมการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติในสถานศึกษาด้วยธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมศักยภาพ และสนับสนุนเสริมพลังให้กับหน่วยงาน ในระดับพื้นที่กำกับดูแลการศึกษามีบทบาทเป็นพี่เลี้ยงให้สถานศึกษาในการพัฒนาและ ขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา ซึ่งกลุ่มเป้าหมายสำคัญ ได้แก่ ศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และผู้บริหารสถานศึกษา ในพื้นที่ โดยจะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 ในรูปแบบทั้งออนไซต์ และออนไลน์
นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ในฐานะประธานการประชุม และผู้แทนหน่วยงาน ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ มีความเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกันว่า ธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา เป็นแนวทาง/เครื่องมือในการพัฒนาสุขภาวะของผู้เรียน บุคลากรสถานศึกษา สถานศึกษาได้เป็นอย่างดี ซึ่งในการดำเนินการต้องไม่เป็น การเพิ่มภาระให้กับครู อาจารย์ และต้องมีการสำรวจต้นทุนของสถานศึกษา/ธรรมนูญโรงเรียน เพื่อทบทวนหรือพัฒนาธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษาตามบริบท โดยนำแนวคิดเรื่องของสุขภาพ 4 มิติ และทุกนโยบายห่วยใยสุขภาพ (Health in All Policies-HiAP) ไปบูรณาการเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะในทุกมิติอย่างสมดุล และกระบวนการมีส่วนร่วมตามหลักการประชาธิปไตย
นอกจากนั้น นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการ คสช. ได้กล่าวถึง ความร่วมมือในการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ และ สำนักงานคณะกรรมการ สุขภาพแห่งชาติ ในครั้งนี้ จะเป็นการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นการบูรณาการการทำงานเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย คือ 1) ผู้เรียนมีความรอบรู้ มีทักษะ และพฤติกรรมสุขภาพดี 2) สถานศึกษาได้รับการโอบอุ้มดูแลในทุกมิติ และ 3) ข้อเสนอนโยบาย/ยุทธศาสตร์ “เรียนดี มีความสุข คุณภาพชีวิตดี”
ทั้งนี้ เด็ก เยาวชน และสถานศึกษา เป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาและ เสริมสร้างศักยภาพคนไทยให้มีความพร้อมทั้งกาย ใจ สติปัญญา และมีสุขภาวะที่ดี ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย เพื่อเติบโตเป็นพลเมืองที่ดี มีคุณภาพตามทิศทาง การพัฒนาประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565 ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
การทำสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศให้เอื้อต่อการมีสุขภาพดี และการพัฒนา ศักยภาพมนุษย์ในทุกกลุ่มวัยและทุกระดับ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายระบบสุขภาพและสังคม ที่เป็นธรรมอย่างยั่งยืน