- 45 views
สวัสดีครับพี่น้องภาคีเครือข่ายที่รักทุกท่าน ขณะนี้เราได้เดินทางเข้าสู่กลางปี ๒๕๖๖ กันแล้ว ซึ่งในช่วงต้นเดือนมิถุนายนของปีนี้ นับว่ามีวาระสำคัญของชาวพุทธทั่วโลก นั่นคือเทศกาล “วิสาขบูชา” หรือ “Vesak Day” ที่ตั้งตามคำเรียกของชาวศรีลังกา โดยปีนี้ตรงกับวันที่ ๓ มิถุนายน และถูกยกให้เป็น “วันสำคัญสากลของโลก” โดยองค์การสหประชาชาติ
แน่นอนว่าประเทศไทยเองในฐานะที่มีศาสนาพุทธ เป็นศาสนาประจำชาติ ทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีการจัดกิจกรรมสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ และยังถือเป็นช่วงจังหวะอันดีสำหรับชาวพุทธในไทยอีกด้วยเช่นเดียวกัน เมื่อเดือนนี้เองเราจะมีการประกาศใช้ “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๖” ร่วมกันอย่างเป็นทางการ
สำหรับธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ พ.ศ. ๒๕๖๖ เป็นการทบทวนมาจากฉบับเดิมเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งถือเป็น “ข้อตกลงร่วม” หรือ “กติกา” ที่เป็นเจตจำนงและพันธะร่วมของพระสงฆ์ คณะสงฆ์ ชุมชน สังคม และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน สำหรับนำไปใช้เป็นกรอบและแนวทางการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันและควบคุมโรค และการดูแลสุขภาวะพระสงฆ์ในทุกระดับ พร้อมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้พระสงฆ์มีบทบาทในการเป็นผู้นำสร้างสุขภาวะชุมชนและสังคม
ในส่วนของธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ ฉบับใหม่ ได้ผ่านที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ไปแล้วเมื่อวันที่ ๓๐ พ.ค. ๒๕๖๖ โดย มส. ยังได้มีมติให้คณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ของ มส. ร่วมอนุเคราะห์ สนับสนุนการขับเคลื่อน และมอบให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) แจ้งเจ้าคณะจังหวัด เลขานุการเจ้าคณะจังหวัด และสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด ร่วมส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนธรรมนูญฯ ฉบับนี้ไปสู่การปฏิบัติอีกด้วย
พี่น้องภาคีเครือข่ายที่รักทุกท่านครับ แน่นอนว่าหลังจากนี้ ภายใต้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ฉบับใหม่ เราจะเห็นการขยายบทบาทของคณะสงฆ์ ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมกับกระบวนการนโยบายสาธารณะ และการดำเนินงานด้านสุขภาพ/สุขภาวะนี้กันอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น หลังจากตลอด ๕ ปีของการเดินหน้าธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ ฉบับแรก ก็ได้เกิดผลงานที่เป็นรูปธรรมไปแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็นในแง่ที่พระสงฆ์ดูแลสุขภาพด้วยกันเอง หรือในแง่ที่พระสงฆ์มีส่วนเข้ามาให้ความรู้ ข้อแนะนำในการดูแลสุขภาพของญาติโยม และพระสงฆ์ซึ่งรวมถึงวัดทั่วประเทศด้วย มีบทบาทในการเกื้อกูลพัฒนาสังคมมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น ได้ร่วมกับชุมชนในการรับมือกับภาวะวิกฤตต่างๆ โดยให้วัดเป็นศูนย์พักคอยดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้วัดเป็นแหล่งสร้างความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น
คำว่า “สุขภาพ” หรือ “สุขภาวะ” ที่กล่าวไปถึง ย่อมเป็นไปตามความหมายที่พวกเราขับเคลื่อนร่วมกันมาโดยตลอด นั่นคือสุขภาวะที่ครอบคลุมทั้ง ๔ มิติ ได้แก่ สุขภาวะทางกาย สุขภาวะทางใจ สุขภาวะทางปัญญา และสุขภาวะทางสังคม โดยเฉพาะด้าน “สุขภาวะทางปัญญา” (spiritual health) นี้เอง ที่เราจะเห็นได้ว่าพระสงฆ์สามารถเข้ามามีบทบาทหลักในการส่งเสริม จรรโลง ผ่านแง่คิดและหลักธรรมคำสอนต่างๆ ของศาสนาได้
ต้องไม่ลืมว่าทั่วประเทศเรามีจำนวน “วัด” ไม่น้อยกว่า ๔ หมื่นแห่ง กระจายไปในทุกอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ควบคู่กับจำนวน “พระสงฆ์” ที่มีอยู่กว่า ๒ แสนรูป หากมีการสานพลังศักยภาพของกลไกนี้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาด้านสุขภาวะของประชาชน ย่อมเป็นเส้นทางที่สามารถนำไปสู่การสร้างให้เกิด “สังคมสุขภาวะ” หรือภาวะที่คนในสังคมใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างอยู่ดีมีสุข อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของพวกเราได้อย่างแท้จริง
ท่ามกลางกระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลงประเทศ ทั้งทางการเมือง ทางเศรษฐกิจและทางสังคมในระดับโครงสร้าง ที่ทุกคนต่างกำลังจับจ้องมองไปยังการเคลื่อนไหวต่างๆ ของพรรคการเมืองที่ได้เสียงเลือกตั้งจากประชาชนทุกกลุ่มวัยอย่างท่วมท้น และการเคลื่อนไหวขอกำหนดอนาคตประเทศของคนรุ่นใหม่ ที่เกิดขึ้นท้าทายโครงสร้างเก่า สภาวะเช่นนี้การได้หยุดพักแล้วกลับมาสำรวจจิตใจ ได้ทบทวนความคิดด้วยสมาธิอย่างรอบด้าน การรู้จักปล่อยวางตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา อาจสามารถเป็นทางออกที่ทำให้เราได้เห็นถึงเส้นทาง และดำเนินชีวิตได้อย่างสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น อันเป็นบทบาทสำคัญของ “ศาสนา” ที่ยังคงทำหน้าที่หนึ่งในสถาบันหลักของชาติ เพื่อให้พี่น้องเราได้ยึดเหนี่ยวร่วมกันต่อไปครับ