- 260 views
ที่ประชุม คจ.สช. เห็นชอบกรอบการจัด “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16” วันที่ 21-22 ธ.ค.นี้ ประกาศ 3 ประเด็นที่มีความพร้อมพัฒนาเป็นระเบียบวาระ ระบบสุขภาวะทางจิต-การบริหารจัดการน้ำ-การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ พร้อมชวนประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายสาธารณะ อีกหนึ่งเส้นทางตามกฎหมาย
เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2566 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการประชุมคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) พ.ศ. 2565-2566 ครั้งที่ 2/2566 ซึ่งมี นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ เป็นประธาน โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) กรอบการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ซึ่งเตรียมจัดขึ้นในวันที่ 21-22 ธ.ค. 2566 ณ เซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ด้วยประเด็นหลัก (Theme) “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย” ต่อเนื่องจากครั้งที่ 15
พร้อมกันนี้ ที่ประชุม คจ.สช. ยังได้ร่วมกันมีมติเห็นชอบ ประกาศประเด็นที่มีความพร้อมพัฒนาเป็นระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 จำนวน 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1. การพัฒนาระบบสุขภาวะทางจิตร่วมกับการป้องกันและลดความรุนแรงในสังคมไทย 2. การบริหารจัดการน้ำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรม และ 3. การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ
นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ประธาน คจ.สช. เปิดเผยว่า ประเด็นทั้ง 3 หัวข้อนี้ ได้ผ่านการกลั่นกรองจากคณะอนุกรรมการที่เข้ามาช่วยคัดเลือกประเด็นที่มีความชัดเจน เป็นประเด็นในระดับประเทศ มีเจ้าภาพหลัก รวมทั้งมีภาครัฐเกือบทุกหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่มีผลกระทบต่อทุกภาคส่วนในสังคมเป็นวงกว้าง โดยกระบวนการเหล่านี้จะทำให้มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มีความทั่วถึงและตอบโจทย์ได้มากขึ้น
นายชาญเชาวน์ กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ขณะนี้ที่นับว่าอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศ กลไกของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เองที่อยู่ในช่วงการสรรหาชุดใหม่ ตลอดจนตัวของเลขาธิการ คสช. ที่จะมีการคัดเลือกคนใหม่ สิ่งเหล่านี้ทำให้โจทย์ของกระบวนการสมัชชาสุขภาพจะต้องมีความยืดหยุ่น และไปด้วยกันทั้งในระดับชาติ ระดับจังหวัด หรือในเชิงประเด็น เพื่อตอบสนองความต้องการที่เกิดขึ้น
ประธาน คจ.สช. ยังกล่าวด้วยว่า ตลอด 16 ปีของกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 สิ่งที่อยากฝากถึงประชาชนคือการเกิดความตื่นรู้ในเรื่องของกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะ ว่ามีความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของตนอย่างไร แล้วเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ด้วยกัน เพราะสมัชชาสุขภาพนั้นไม่ใช่กระบวนการของนักวิชาการ หรือของข้าราชการเท่านั้น แต่เป็นการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในสังคม
“จากปรากฏการณ์ในการเลือกตั้งช่วงที่ผ่านมา แสดงให้เห็นแล้วว่าประชาชนมีความตื่นตัว ให้ความสนใจกับนโยบายของทางพรรคการเมืองมากขึ้น ซึ่งสมัชชาสุขภาพเองก็เป็นอีกเส้นทางหนึ่ง และเป็นเส้นทางตามกฎหมาย ที่พร้อมจะดำเนินการในเรื่องนี้ จึงอยากให้ประชาชนได้ทำความเข้าใจและคุ้นเคยกับกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมนี้ไปด้วยกัน” นายชาญเชาวน์ กล่าว
ด้าน นพ.สมชาย พีระปกรณ์ ประธานคณะอนุกรรมการกำกับ สนับสนุน และเชื่อมโยงกระบวนการสมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 16 กล่าวว่า สำหรับประเด็น “การพัฒนาระบบสุขภาวะทางจิต ร่วมกับการป้องกันและลดความรุนแรงในสังคมไทย” หรือชื่อใหม่คือ “ระบบสุขภาวะทางจิตเพื่อสังคมไทยไร้ความรุนแรง” เป็นประเด็นที่สืบเนื่องจากปรากฏการณ์ความรุนแรงในสังคม เหตุการณ์กราดยิงที่สร้างความสะเทือนขวัญให้กับประชาชน ตลอดจนเรื่องภาวะความเครียด อาการซึมเศร้า ที่สังคมเริ่มให้ความสำคัญกับความหมายของสุขภาพจิต ในเชิงของการส่งเสริมป้องกันมากยิ่งขึ้น
นพ.สมชาย กล่าวว่า ในเบื้องต้นขอบเขตของประเด็นนี้ จะสร้างระบบการอภิบาลระบบสุขภาพจิต โดยปรับนิยามของสุขภาพจิต (mental health) สู่สุขภาวะทางจิต (mental well-being) มุ่งเน้นในการเตรียมระบบที่เอื้อให้ประชาชนมีสุขภาวะทางจิต อันจะนำไปสู่การป้องกันการเกิดความรุนแรง
ขณะที่ประเด็น “การบริหารจัดการน้ำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรม” เป็นความสืบเนื่องจากสถานการณ์อุทกภัย น้ำท่วม ไม่ว่าจะในช่วงปีที่ผ่านมา หรือย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2554 ที่ก่อให้เกิดภาพความเหลื่อมล้ำของการบริหารจัดการน้ำ ขณะที่ผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ก็เป็นความกังวลถึงเหตุการณ์ภัยแล้ง น้ำหลาก น้ำท่วม ที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต ดังนั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำจะเป็นไปได้อย่างไร
ในส่วนของประเด็น “การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ” สืบเนื่องจากหลังสถานการณ์โควิด-19 ที่ซ้ำเติมผลกระทบ ขยายช่องว่างความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ประกอบกับสภาพของสังคมผู้สูงอายุ ที่สั่นคลอนความมั่นคงในชีวิตของประชาชน ซึ่งภาครัฐได้ใช้กระบวนการเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นส่วนหนึ่งของการกระจายรายได้ที่ กระจายความเจริญไปในพื้นที่ต่างๆ จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างความมั่นใจในการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเชิงลบจากโครงการพัฒนาอย่างที่เคยเกิดขึ้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติแต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาประเด็น ที่มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ/วิชาชีพ และภาคประชาสังคม/ชุมชน จำนวน 2 คณะ ได้แก่ คณะที่ 1 ประเด็นการพัฒนาระบบสุขภาวะทางจิตร่วมกับการป้องกัน และลดความรุนแรงในในสังคมไทย โดยมีอธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นประธาน และ คณะที่ 2 ประเด็นการบริหารจัดการน้ำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรม โดยมีเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธาน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.
โทร. 02-8329141