‘ถอด-สร้าง-พัฒนา’ นวัตกรรมทางสังคม สู่การเสริมพลังความเข้มแข็งชุมชน รองรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขอนาคต | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
นวัตกรรมทางสังคม

... ปรานอม โอสาร

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เป็นปีที่ต้องเผชิญกับความท้าทาย สับสน และไม่แน่นอน จากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีการระบาดอย่างรุนแรงในพื้นที่เปราะบางต่างๆ โดยเฉพาะชุมชนเขตเมืองที่มีผู้คนอยู่อาศัยอย่างแออัด ท่ามกลางความเปราะบางด้านต่างๆ หลายชุมชนแสดงให้เห็นถึง ความเข้มแข็งในการจัดการกับวิกฤตได้เป็นอย่างดี ปรากฎการณ์โควิด-19 เปรียบเสมือนเป็นตัวเร่ง พิสูจน์ และทดสอบระบบสาธารณสุขประเทศไทยในการรับมือกับภาวะฉุกเฉินที่ผ่านมา จึงควรค่าต่อการศึกษาประสบการณ์ บทเรียนสำคัญจากพื้นที่ชุมชนต่างๆ อันเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่จะนำไปต่อยอด ขยายผล หรือวางแผนรับมือวิกฤตสุขภาพในอนาคตต่อไป
 

ปรีดา แต้อารักษ์

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และกลุ่มวิจัยสังคมและสุขภาพ(สวสส.) สำนักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรม “การยุติโรคระบาดด้วยนวัตกรรม” (Ending Pandemics through Innovation : EPI) ตามแผนพัฒนาขีดความสามารถด้านสาธารณสุขรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน

ที่มุ่งดำเนินกิจกรรมสำคัญ ๓ กิจกรรม ได้แก่ ๑. พัฒนาต้นแบบชุมชนเข้มแข็งด้วยนวัตกรรมโดยเครือข่ายชุมชนทั่วประเทศ ๒. พัฒนากลุ่มผู้มีพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพให้มีขีดความสามารถในการดูแลชุมชนที่เกี่ยวข้องกับโรงงาน ๓. พัฒนากลไกเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ ที่ทำงานด้านการป้องกันและควบคุมโรคโดยให้มีกลไกการทำงานเชื่อมประสานข้อมูล กิจกรรมการทำงานร่วมกันในด้านวิชาการและปฏิบัติการในลักษณะกัลยาณมิตร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข (ฉบับปรับปรุง) กิจกรรมปฏิรูปประเทศ 1 (Big Rock) คือ การปฏิรูปการจัดการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขรวมถึงโรคระบาดระดับชาติและโรคอุบัติใหม่ เพื่อความมั่นคงแห่งชาติด้านสุขภาพ

สำหรับเนื้อหาฉบับนี้จะขอเล่าถึง “แผนพัฒนาต้นแบบชุมชนเข้มแข็ง” ด้วยนวัตกรรมโดยเครือข่ายชุมชนทั่วประเทศ ที่มีการคัดเลือกพื้นที่ชุมชนเขตเมืองและมีความเปราะบางทางสังคมที่กระจายในแต่ละภูมิภาค ได้แก่ ชุมชนแหลมสนอ่อน จังหวัดสงขลา ตำบลชีทวน จังหวัดอุบลราชธานี ชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย (ชุมชนพัฒนาการบึงขวาง ชุมชนรุ่งมณีพัฒนา ชุมชนต้นสน (เพชรเกษม ๗๑) ชุมชนล๊อค ๑-๒-๓ ชุมชนพัฒนาใหม่ ชุมชนริมคลองวัดสะพาน ชุมชนสุขสวัสดิ์ ชุมชนเพชรบุรี ชุมชนปุรณาวาส ชุมชนร่วมเกื้อ ชุมชนเทพกุญชร) ชุมชนแรงงานข้ามชาติตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร ชุมขนมิตรภาพและชุมชนเหล่านาดี จังหวัดขอนแก่น ชุมชนหัวฝายและชุมชนกำแพงงาม จังหวัดเชียงใหม่ ชุมชนตลาดสี่มุมเมือง จังหวัดปทุมธานี อันเกิดจากการวิเคราะห์พื้นที่ร่วมกับหน่วยงานภาคียุทธศาสตร์ จากความพร้อม ความสนใจของชุมชนที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการ

กระบวนการพัฒนาระบบเฝ้าระวังและตอบสนองต่อสภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขโดยชุมชนมีส่วนร่วม พัฒนาขึ้นจากแนวคิดหลัก ๓ แนวคิด คือ ๑. แนวคิดการเสริมพลังชุมชน (Community Empowerment) ๒. แนวคิดภัยพิบัติกับการรับมือแบบมีส่วนร่วมโดยชุมชน ๓. แนวคิดระบบสุขภาพชุมชน

ภายใต้เครื่องมือสำคัญในการพัฒนาชุมชน ๕ รูปแบบ ได้แก่ ๑. เครื่องมือทบทวนทุนชุมชน นำเครื่องมือ ๗ ชิ้น ทางมานุษยวิทยา ๒. เครื่องมือการจัดการความซับซ้อน (Cynefin) ๓. เครื่องมือต้นไม้ระบบสุขภาพชุมชน ๔. เครื่องมือ Outcome Mapping ๕. เครื่องมือการติดตามและประเมินผลเพื่อการเรียนรู้และพัฒนา (ARE) ที่โหนดพี่เลี้ยง (สถาบันวิชาการ มูลนิธิหรือสมาคมที่ทำงานใกล้ชิดกับชุมชน) ใช้เป็นแนวทางการทำงานร่วมกับชุมชน โดยประกอบด้วยกระบวนการสำคัญ ดังนี้

กระบวนการที่ ๑ ประกอบด้วยขั้นตอน ดังนี้ (๑) การคัดเลือกและพัฒนาทีมจัดการความรู้ชุมชน (๒) การทบทวนทุนจากประสบการณ์ภัยพิบัติสุขภาพ ทบทวนทุนเดิมของชุมชนไปพร้อม ๆ กับการถอดบทเรียนสถานการณ์โควิด 19 ด้วย “เครื่องมือทบทวนทุนชุมชน” ใน มิติ ได้แก่ ๑. ประวัติศาสตร์ (เวลา) ๒.แผนที่เดินดิน (สถานที่/พื้นที่) ๓. ผังองค์กร (ผู้คน) และ ๔. ระบบสุขภาพชุมชน (การแพทย์พหุลักษณ์) เป็นการประมวลข้อมูลพื้นฐาน ของชุมชนที่มีอยู่เดิม ได้แก่ ทรัพยากรคน องค์ความรู้ ภูมิปัญญา วิธีการจัดการและรับมือกับภัยพิบัติในอดีต เป็นต้น มาวิเคราะห์ระดับปัญหาของสถานการณ์ด้วย เครื่องมือการจัดการความซับซ้อน (Cynefin)” จากปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีตว่าชุมชนมองปัญหาภัยพิบัติแต่ละปัญหาอยู่ในระดับใด เพื่อให้เห็นองค์ประกอบของการจัดการว่าทำไมชุมชนจึงเลือกวิธีการจัดการแบบนั้น ๆ ในช่วงเวลาดังกล่าว โดยการฉายภาพผ่าน “ต้นไม้ระบบสุขภาพชุมชน” และนำมาสังเคราะห์เป็นข้อมูลพื้นฐานชุมชนที่ได้จากการถอดบทเรียนและจัดทำตารางองค์ประกอบระบบสุขภาพชุมชน

กระบวนการที่ ๒ การจัดการวิกฤตสุขภาพ ณ ปัจจุบันของชุมชน ประกอบด้วยขั้นตอน ดังนี้ (๑) วิเคราะห์ระดับสถานการณ์ปัญหา (๒) การกำหนดเป้าหมายและความต้องการของชุมชน (๓) การออกแบบต้นไม้ระบบสุขภาพชุมชนและกำหนดผลลัพธ์ (๔) การดำเนินการและการติดตามเพื่อประเมินผลเพื่อการเรียนรู้และพัฒนา

ท้ายที่สุดแล้ว ผลผลิตที่จะได้จากกระบวนการครั้งนี้ คือ “ต้นไม้ระบบสุขภาพชุมชน” ของแต่ละชุมชนที่เรียกว่าเป็น “นวัตกรรมทางสังคม” เพื่อนำไปเป็นส่วนสำคัญในการจัดทำเป็น “คู่มือกลาง” เพื่อนำไปขยายผลไปสู่ชุมชนอื่น ๆ ในการเตรียมความพร้อมเพื่อตอบสนองต่อการรับมือภัยพิบัติฉุกเฉินในอนาคต

นวัตกรรมทางสังคม