‘เลือกตั้ง ปี ๖๖’ โอกาสประเทศไทย สร้างพันธสัญญา ‘พรรคการเมือง’ ผลักดัน ‘หลักประกันรายได้ถ้วนหน้า’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

        เริ่มต้นปีใหม่ด้วยมงคลฤกษ์ ในนามของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ผมขอเป็นตัวแทนของ ‘พี่น้องสุชน’ กล่าวสวัสดีปีใหม่อย่างเป็นทางการ และขออวยพรให้พี่น้องภาคีเครือข่ายที่เคารพรักทุกท่านประสบความสุขความเจริญ มีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรงตลอดปี ๒๕๖๖ ร่วมกันเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะอีกหลายภารกิจ ที่เราจะมาช่วยเดินหน้าไปด้วยกันต่อจากนี้ครับ

        
สำหรับกิจกรรมใหญ่ที่เพิ่งผ่านพ้นไป อย่างงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๕ พ.ศ.๒๕๖๕ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๑-๒๒ ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้บรรลุผลอย่างเสร็จสมบูรณ์ตามเป้าประสงค์ ท่ามกลางบรรยากาศความร่วมมือร่วมใจของสมาชิกผู้เข้าร่วมทั่วประเทศ ซึ่งนอกจากรูปธรรม ๓ มติสมัชชาสุขภาพแล้ว เรายังได้เห็นภาพการให้ถ้อยแถลงประกาศเจตนารมณ์ ร่วมขับเคลื่อนสังคมสู่ “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย” ซึ่งถือเป็นพันธสัญญาที่พวกเราทุกภาคส่วนจะร่วมกันขับเคลื่อนต่อไปครับ

        และถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ในปีนี้สมาชิกสมัชชาสุขภาพฯ ได้ให้ฉันทมติต่อ มติ ๑๕.๓ หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ซึ่งถือเป็นเรื่องเชิงระบบ-โครงสร้างใหญ่ ที่เกี่ยวข้องกับทุกชีวิตบนผืนแผ่นดินไทย โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยกำลังเดินเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ซึ่งถ้าไม่มีนโยบายที่ชัดเจนและการจัดการเชิงระบบรองรับที่ดีพอจะเกิดผลกระทบต่อทั้งระบบงบประมาณ เศรษฐกิจ สังคม และปัญหาด้านสุขภาพของประเทศ

        หลักคิดสำคัญของเรื่องนี้คือ ผู้สูงวัยเป็นผู้มีคุณค่าไม่ใช่ “ภาระ” เพราะพวกเขายังมีศักยภาพ สามารถสร้างรายได้ ดูแลลูกหลาน สร้างผลผลิตต่างๆ ได้ แต่ขณะเดียวกันเราก็จำเป็นจะต้องสร้างระบบที่เอื้อให้เกิดการดูแลพวกเขาเหล่านั้น พร้อมทั้งปลูกฝังระบบการออมของผู้คนให้เกิดขึ้นตั้งแต่วัยหนุ่มสาว เพื่อสร้างรากฐานที่ยั่งยืนของคุณภาพชีวิตทุกคนในอนาคต

        กรอบทิศทางนโยบายภายใต้มตินี้ จึงเป็นข้อเสนอภายใต้ ๕ เสาหลักที่จะต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน ประกอบด้วย ๑. การพัฒนาผลิตภาพประชากร การมีงานทำ และมีรายได้จากการทำงานที่เหมาะสมตลอดช่วงวัย ๒. การออมระยะยาวเพื่อยามชราภาพที่ครอบคลุม เพียงพอ และยั่งยืน ๓. เงินอุดหนุนและบริการสังคมที่จำเป็นจากรัฐ ๔. การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพโดยเฉพาะบริการสุขภาพระยะยาว (Long-term care) ๕. การดูแลโดยครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่น

        อย่างไรก็ตาม งานเร่งด่วนคือข้อ ๓ หรือการสร้างระบบสวัสดิการ/ บำนาญ/ หลักประกันรายได้ถ้วนหน้า ให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ มีความซับซ้อน ต้องทำงานกันหลายมิติ จึงไม่แปลกที่อาจจะมีการตั้งคำถามขึ้นมาว่า ประเทศไทยจะทำได้หรือไม่ จะใช้เงินจากไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเผชิญวิกฤตโควิด-19 ที่งบประมาณจำนวนมากถูกใช้ไปกับการควบคุมและป้องกันโรค

        คำตอบอาจเทียบเคียงอดีตให้เห็นภาพ จากกรณีการสร้าง ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) และพัฒนาเป็นระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็เกิดขึ้นหลังประเทศไทยเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ ปี ๒๕๔๐ หรือวิกฤตต้มยำกุ้งเช่นกัน ทว่าด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์และจังหวะก้าว โดยมีหัวใจอยู่ที่ความรู้-กระบวนการการมีส่วนร่วมทุกระดับ-วิสัยทัศน์ ความกล้าหาญทางการเมือง ที่สุดแล้ว เรื่องที่หลายคนมองว่าเพ้อฝัน เรากลับพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถทำได้จริง และทำได้ดีจนเป็นตำนานกล่าวถึงของนานาประเทศ

        พี่น้องภาคีเครือข่ายที่เคารพรักทุกท่านครับ การเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี ๒๕๖๖ จึงถือเป็นโอกาสดีของประเทศไทย ที่ประชาชนจะได้ร่วมกันส่งเสียง เรียกร้อง ตลอดจนแสดงออกถึงภาพฝันการพัฒนาอันพึงประสงค์ ให้นักการเมือง-พรรคการเมืองที่ขันอาสาเข้ามาบริหารประเทศ ได้รับทราบและหยิบยกมติสมัชชาสุขภาพดังกล่าวนี้ไปประกอบการจัดทำเป็นนโยบาย และประกาศเป็นสัญญาณประชาคมกับประชาชน

        ฉะนั้นในปีนี้ จึงถือเป็นโอกาส-จังหวะที่ดี ที่เราสามารถอาศัยช่วงกิจกรรมการหาเสียง เปิดพื้นที่กลางเพื่อเป็นเวทีในการส่งเสียงสะท้อน และทำให้เจตนารมณ์ร่วมของสังคมเรื่องนี้ ก้าวไปสู่การเป็นเจตจำนงทางการเมืองของพรรคต่างๆ ที่จะสร้างพันธสัญญาในการนำไปทำให้เกิดขึ้นจริง เป็นเรื่องที่พวกเราจะช่วยกันต่อไป เพื่อให้คนไทยทุกคนมีหลักประกันรายได้ถ้วนหน้า ไม่มีใครถูกทอดทิ้ง และรับประโยชน์ด้วยกันในอนาคตครับ

        สำหรับการสร้างระบบหลักประกันรายได้ถ้วนหน้าเพื่อคุณภาพชีวิตเมื่อเข้าสู่วันสูงอายุ  เป็นเรื่องที่อยู่ในการพูดคุยของสังคมมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว ทั้งภาคประชาชน เยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการอย่างชัดเจน ขณะที่ภาควิชาการเองก็มีผลการศึกษาและหาทางออกเอาไว้แล้ว ส่วนภาครัฐ-หน่วยงานต่างๆ ก็มีการจัดวางระบบย่อยไว้แล้วพอสมควร เพียงแต่ทั้งหมดนี้ยังขาดการสานพลังทุกภาคส่วนเข้ามาทำงานในภาพใหญ่ร่วมกัน ซึ่งตรงนี้เป็นบทบาทหน้าที่หลักของ สช. และภาคีเครือข่าย ที่พวกเราจะร่วมกันทำให้สำเร็จครับครับ

รูปภาพ