ส่องทัศนะ รัฐ-ท้องถิ่น-ชุมชน บนแนวคิด ‘ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ’ ‘เมืองพัทยา’ จ่อสร้างรูปธรรมผ่านร่างธรรมนูญฯ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file

สช.ระดมตัวแทนรัฐ-ท้องถิ่น-ชุมชน ร่วมให้มุมมองการทำงานบนพื้นฐานแนวคิดทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ “Health in All Policies” ตัวแทนสภาพัฒน์ ย้ำแผน-นโยบายทุกหน่วยงานต้องเชื่อมโยงมาเรื่องสุขภาวะ ขณะที่เมืองพัทยาเตรียมจัดเวทีสมัชชาสุขภาพ-พัฒนาธรรมนูญสุขภาพขึ้นเป็นครั้งแรก หวังเป็นพื้นที่กลาง สร้างส่วนร่วมการจัดการสุขภาวะคนในเมือง
 

ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ


เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2565 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้มีการจัดเวทีเสวนา นานาทัศน์ Health in All Policies ในมุมมองขององค์กรยุทธศาสตร์” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเวทีสำคัญที่บอกเล่ามุมมองในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ หรือนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพของประชาชน บนแนวคิดทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ หรือ Health in All Policies (HiAP) จากตัวแทนภาคส่วนต่างๆ ภายในงาน “15 ปี สุขภาพแห่งชาติ พลังภาคีสร้างสังคมสุขภาวะ” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-28 ต.ค.2565
 

ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ


น.ส.มนต์ทิพย์ สัมพันธวงศ์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสังคม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เปิดเผยว่า สภาพัฒน์เองมีมุมมองเรื่องสุขภาพ ว่าไม่ใช่แค่เรื่องของร่างกาย แต่ยังเกี่ยวข้องกับสังคม ที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้คนทุกช่วงวัย คือในวัยเด็ก ที่มีสุขภาพดีเติบโตแข็งแรง ก็จะมีศักยภาพที่จะเรียนรู้ได้ต่อไป วัยทำงาน มีความสามารถต่อยอดการทำงาน ส่วนในวัยสูงอายุ หากสุขภาพดีก็ไม่เพิ่มเรื่องค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ และไม่เป็นภาระต่อครอบครัว
 

มนต์ทิพย์ สัมพันธวงศ์


ขณะเดียวกัน ในเรื่องของแนวคิด HiAP ก็ได้บรรจุไว้อยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่เน้นย้ำให้ทุกการดำเนินการใดๆ ของแต่ละองค์กร ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน ซึ่งทางสภาพัฒน์ได้ส่งต่อนโยบายเหล่านี้ไปยังหน่วยงาน องค์กรระดับปฏิบัติ ที่อยู่ในพื้นที่ด้วย

“แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 รวมไปถึงฉบับที่ 13 จะย้ำให้ทุกภาคส่วนตระหนักในเรื่องการออกแบบนโยบายที่ต้องเชื่อมโยงมายังสุขภาพ เพราะทุกเรื่องเกี่ยวข้องกันหมด เราจึงเห็นตัวอย่างของนโยบายต่างๆ จากภาครัฐ เช่น การกำหนดมาตรฐานสินค้าทางการเกษตรที่ต้องมีความปลอดภัย หรือนโยบายสนับสนุนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ที่คำนึงถึงกระทบต่อมลพิษทางสิ่งแวดล้อม” น.ส.มนต์ทิพย์ กล่าว

น.ส.มนต์ทิพย์ กล่าวอีกว่า การพัฒนาที่เป็นการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อให้ประเทศก้าวไปข้างหน้านั้น สิ่งที่เรามักพบเห็นควบคู่กันคือความขัดแย้งภายในพื้นที่ ดังนั้นความท้าทายคือจะทำอย่างไรเพื่อให้สิ่งเหล่านี้เกิดความสมดุล พื้นที่สามารถอยู่ร่วมกันกับการพัฒนาได้ ในขณะที่การพัฒนาก็ไม่ได้ทำลายพื้นที่ ซึ่งถือเป็นโจทย์ให้กับทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องในการทำงานเพื่อพัฒนาประเทศ พร้อมยกระดับในทุกมิติที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตประชาชนในอนาคต

นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา และกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในทุกนโยบายของเมืองพัทยา จะมีเรื่องของสุขภาวะเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งหมด โดยเฉพาะล่าสุดที่ สช. ได้เข้ามามีส่วนช่วยในการผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนพัทยา ในการจัดทำธรรมนูญสุขภาพเมืองพัทยาขึ้น เพื่อวางเป้าหมายร่วมกันและรับฟังความคิดเห็นจากคนพัทยาทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชน ผู้ประกอบการในพื้นที่ มาร่วมกันคิด ร่วมกันทำงานพัฒนา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเมืองพัทยา ทั้งสุขภาพกาย ใจ สังคม และปัญญา
 

ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์


ทั้งนี้ ภาคส่วนต่างๆ ของสังคมในเมืองพัทยา ได้เห็นตรงกันถึงประเด็นการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ และการดูแลผู้สูงอายุในเมืองพัทยา จึงตั้งเป้าให้มีการพัฒนาทั้งด้านบริการสุขภาพ และส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุ ให้มีกิจกรรมทางสังคม และยังส่งเสริมให้ผู้สูงอายุที่ยังมีกำลัง มีความสามารถ ได้มีอาชีพ หรือมีงานทำเสริมเพื่อสร้างรายได้ ไม่เป็นภาระลูกหลาน

“เมืองพัทยาจึงได้ทำโครงการ Smart Senior หรือการสูงวัยอย่างสมาร์ท และทันต่อสังคมเทคโนโลยี โดยในโครงการจะมีโรงเรียนผู้สูงอายุที่นำร่องนักเรียนสูงวัย 100 คน ให้ได้มีโอกาสรับความรู้การดูแลตัวเองที่สมาร์ทมากขึ้น หรือมีการสอนทักษะการทำงานสำหรับคนสูงวัยที่อยากทำงานต่อ พร้อมกับเชื่อมกับภาคเอกชนให้จ้างงานคนสูงวัยที่อยากทำงานต่อไปด้วย ซึ่งจะเปิดโรงเรียนกันในวันที่ 31 ต.ค.นี้” นายกเมืองพัทยา กล่าว

นายปรเมศวร์ กล่าวอีกว่า ส่วนอีกประเด็นสำคัญในด้านสุขภาวะและการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเมืองพัทยา จะมีการจัดสมัชชาสุขภาพเมืองพัทยาขึ้น ในวันที่ 26 ธ.ค. 2565 โดยมีประเด็นที่จะทำงานร่วมกันของภาคีเครือข่ายในเมืองพัทยา คือประเด็นธรรมนูญสุขภาพเมืองพัทยา และเรื่องหาบเร่แผงลอย ที่ถือเป็นอีกหัวใจหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับคนเมืองพัทยา ซึ่งเวทีสมัชชาสุขภาพฯ นี้จะเป็นพื้นที่กลางให้ทุกภาคส่วนของเมือง ได้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของในการจัดการเมืองให้ดียิ่งขึ้น

“ยอมรับว่าด้วยเมืองพัทยาเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก การบริหารจัดการทรัพยากรของพื้นที่จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากจัดการไม่ดี ไม่ครอบคลุม และไม่เท่าเทียม ก็จะยิ่งทำให้ทรัพยากรที่มีลดน้อยลงอยู่แล้ว ยิ่งไม่มีประสิทธิภาพมากเข้าไปอีก ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการเข้ามาจัดการร่วมกัน” นายปรเมศวร์ กล่าว

ขณะที่ ดร.นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล รองผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า HiAP เป็นอีกแนวคิดที่ สธ. พยายามส่งเสริมและขอความร่วมมือไปยังทุกหน่วยงาน ในการจัดทำนโยบายที่คำนึงถึงผลกระทบทางสุขภาพ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการขยายอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยจาก 75 ปี ให้ได้เป็น 85 ปีในอนาคต
 

สุรัคเมธ มหาศิริมงคล


สำหรับการจะไปถึงเป้าหมายดังกล่าวได้ จำเป็นจะต้องทำให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ในสุขภาวะที่ดี และที่สำคัญในส่วนของระบบบริการสุขภาพ ก็จะต้องใช้รูปแบบสร้างนำซ่อม คือเน้นการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค มากกว่าการรักษาพยาบาล เพราะต้องยอมรับว่า สธ. ไม่สามารถมีบุคลากรรักษาโรคต่างๆ ให้กับทุกคนได้เพียงพอ หากแต่ทุกคนจะต้องมีส่วนช่วยกันดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง

“สธ.มองทุกนโยบายเป็นเรื่องสุขภาพทั้งหมด แต่เราจะเลือกรูปธรรมบางนโยบายไปดำเนินการในระดับรัฐบาล เพื่อลงไปถึงทุกหน่วยงานของประเทศ จึงได้เลือกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เพราะเป็นนโยบายที่รัฐบาลวางเป้าหมายที่จะขับเคลื่อน ภายใต้ 17 ด้าน อาทิ ความไม่เท่าเทียม ปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งภาพอนาคตคือเราอยากให้คนไทยมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ และ สธ. เองก็จะมุ่งเน้นไปในการป้องกันโรค มากกว่าการรักษา โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรเพื่อปรับปรุงระบบสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น” ดร.นพ.สุรัคเมธ กล่าว

ด้าน นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กล่าวว่า ความเข้มแข็งของชุมชนจะสะท้อนถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชนนั้น ด้วยศักยภาพในการทำงานร่วมกันในระดับพื้นที่ ซึ่งการบ่งบอกว่าชุมชนใดมีความเข้มแข็งนั้น สามารถสะท้อนผ่าน 5 เรื่อง คือ 1. อาหารดี 2. อากาศดี 3. อารมณ์ดี 4. อยู่อาศัยดี และ 5. ออกกำลังกายดี
 

กฤษดา สมประสงค์


“ทั้ง 5 เรื่องจะเห็นได้ว่าเป็นสภาพแวดล้อมที่ดี ที่คนในชุมชนสามารถลุกขึ้นมาจัดการได้เอง ซึ่งองค์ประกอบดังกล่าวจะทำให้เกิดผลกระทบที่ดีตามมา เช่น มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ซึ่งก็จะหารายได้ที่มั่นคงได้มากขึ้น เมื่อมีการจัดการรายจ่ายได้ลดลง ชีวีตก็มีคุณภาพดีมากขึ้น” นายกฤษดา กล่าว

ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ยังกล่าวอีกว่า ได้วางเป้าหมายการทำงานร่วมกันกับภาคีเครือข่าย และเห็นตรงกันว่าภายในปี 2579 กระบวนการทำงานอย่างมีส่วนร่วมจะช่วยให้ชุมชนเข้มแข็ง โดยเฉพาะการเรียนรู้ที่จะใช้พื้นที่ของชุมชนเป็นตัวตั้งต้นการพัฒนา แล้วจึงสานพลังของทุกภาคส่วนในการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะกับการจัดการที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม

 

รูปภาพ
ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ