- 255 views
สช. ชักชวนภาคีเปิดวงหารือ “แนวทางในการพัฒนาศักยภาพผู้อำนวยการกองสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนจังหวัด” หวังใช้เป็นกลไกสร้างการมีส่วนร่วมในระดับพื้นที่ด้วยหลักคิด “สุขภาพแบบองค์รวม” ยกระดับระบบบริการสุขภาพท้องถิ่น รองรับการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. สู่ อบจ.
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ผู้แทนองค์การบริหารส่วนจังหวัด และองค์กรภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ เช่น สธ. สปสช. สสส. ThaiHealth Academy เปิดวงหารือ การพัฒนาศักยภาพผู้อำนวยการและบุคลากรของกองสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนจังหวัด” เพื่อเตรียมความพร้อมรับการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. สู่ อบจ. หวังเสริมสร้างทักษะบุคลากรที่เข้าใจสุขภาพแบบองค์รวม ด้วยการจัดทำนโยบายสาธารณเพื่อสุขภาพผ่านการทำแผนพัฒนาสุขภาพระดับพื้นที่แบบมีส่วนร่วม และการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ ตอบสนองต่อปัญหาสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2565 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการประชุมปรึกษาหารือแนวทางในการพัฒนาศักยภาพผู้อำนวยการกองสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้าใจต่อแนวคิดสุขภาพแบบองค์รวมที่จะนำไปสู่การจัดทำแผนพัฒนาสุขภาพระดับพื้นที่แบบมีส่วนร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสร้างหลักสูตรการอบรม และเกิดเป็นเครือข่ายกองสาธารณสุข อบจ. ซึ่งถือเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยฯ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยัง อบจ. ที่กำลังจะเกิดขึ้น
นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังจะมีการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ไปยัง อบจ. ท้องถิ่นเองก็มีความตั้งใจในการรับภารกิจถ่ายโอนฯ ด้านบริการสุขภาพ โดยเฉพาะระบบบริการปฐมภูมิ ดังนั้นการจัดประชุมในครั้งนี้ได้เห็นความสำคัญถึงการบริหารจัดการระบบสุขภาพท้องถิ่นให้มีคุณภาพ และสามารถตอบสนองต่อประชาชนที่เป็นผู้ใช้บริการสุขภาพได้ภายในหลังวันที่ 1 ต.ค. 2565
อย่างไรก็ดี บุคลากรกองสาธารณสุข อบจ. ยังมีส่วนความรู้ที่จะต้องเพิ่มเติมอีก เช่น แนวคิดหรือวิธีการมีส่วนร่วม การบริหารจัดการระบบสุขภาพในพื้นที่ รวมไปถึงความรู้ในด้านนวัตกรรมหรือแนวคิดระบบสุขภาพแบบองค์รวมที่ต้องอาศัยกระบวนทัศน์หรือทฤษฎีใหม่ๆ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องนวัตกรรมในระบบสุขภาพ การบริหารระบบสุขภาพแนวใหม่ และปัจจัยสังคมที่กำหนดสุขภาพ
นพ.ปรีดา กล่าวย้ำว่า หากบุคลากรกองสาธารณสุข อบจ. มองระบบสุขภาพแบบองค์รวมและเห็นว่าปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพนั้นเป็นอย่างไรก็จะสามารถทำให้คิดแก้ไขปัญหาสุขภาพของคนในพื้นที่ได้อย่างตรงจุด ทำให้ประหยัดทรัพยากร และเวลา ท้องถิ่น
นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านกระจายอำนาจ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานมาร่วมหนุนการทำงานของท้องถิ่น แต่มีข้อห่วงกังวลเรื่องการบริหารจัดการตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ และเห็นด้วยหากสามารถกระจายไปในระดับเขตพื้นที่ ส่วนตัวอยากให้มีการประสานงานกันว่าหน่วยใดจะจัดประชุม หรืออบรมเรื่องใด เพราะขณะนี้ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขของ อบจ. ยังมีไม่มาก รวมไปถึงเจ้าหน้าที่กองสาธารณสุขบาง อบจ. มีเพียง 2 คนเท่านั้น หากจัดพร้อมกันก็อาจจะทำให้เกิดอุปสรรคได้
นายกิตติพงษ์ เกิดฤทธิ์ ผู้ช่วยเลขาธิการศอบต.ผู้อำนวยการกองสาธารณสุข กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า สถ.มีภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการพัฒนาและให้คำปรึกษาแนะนำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในด้านการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น การบริหารงานบุคคล การเงิน การคลัง และการบริหารจัดการเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งและมีศักยภาพในการให้บริการสาธารณะ สำหรับเรื่องเตรียมการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. นั้น ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย (มท.) และ สถ. ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ส่วนเรื่องการพัฒนาศักยภาพบุคลากรกองสาธารณสุขของ อบจ. ต่าง ๆ นั้น หากเพิ่มบทบาทท้องถิ่นจังหวัด และท้องถิ่นอำเภอให้มีส่วนร่วมในเรื่องนี้ด้วย ก็จะเป็นประโยชน์ต่อโครงการเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากกลไกของท้องถิ่นจังหวัดมีความสำคัญที่จะร่วมผลักดันภารกิจนี้ไป นอกจากนี้ นอกจากนี้
ขณะนี้รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับเรื่องของการแก้ปัญหาความยากจนและเรื่องความเหลื่อมล้ำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งได้แก่ 1. ความยากจนทางด้านสุขภาพ 2. ความยากจนทางด้านการศึกษา 3. ความยากจนทางด้านรายได้ 4.ความยากจนทางที่อยู่อาศัยและการใช้ชีวิตประจำวัน และ 5. การเข้าถึงบริการของรัฐ ดังนั้น ถ้าภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมมือร่วมใจกันทำเรื่องนี้ให้สำคัญ ก็จะตอบโจทย์การแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพและด้านการเข้าถึงบริการของรัฐไปด้วย
รศ.ดร.ธัชเฉลิม สุทธิพงษ์ประชา อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า การยกร่างหลักสูตรอบรมเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ถ้าเป็นไปได้ก็อาจจะจัดให้มีการจับคู่การทำงานระหว่าง อบจ. และสถาบันวิชาการ เช่น จ.สุราษฎร์ธานีจับคู่กับมหาวิทยาลัยราชภัฏในพื้นที่ ซึ่งการวัดผลการอบรมนั้นจะต้องวัดกันในระยะยาว รวมไปถึงงานบางอย่าง เช่น แนวทางการทำแผนพัฒนาสุขภาพจากพื้นที่เป็นงานที่ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขทำคนเดียวไม่ได้ ฉะนั้นต้องมีเครือข่ายที่จะเข้ามาช่วยกันคิด
ขณะเดียวกัน เรื่องเทคโนโลยีทางสังคม หรือการบริหารเทคโนโลยี แนวคิดการบริหารภาครัฐแนวใหม่ รวมไปถึงการระดมทุนเพื่อสร้างความเป็นเจ้าของร่วมให้ประชาชนในพื้นที่ เปิดช่องทางให้ประชาชนร่วมเป็นเจ้าของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ร่วมกับ อบจ. เช่น การเปิดระดมทุน หรือการซื้อหุ้น ฯลฯ
“ประเด็นเหล่านี้เราต้องใส่เข้าไป การถ่ายโอนไปต้องดีขึ้นกว่าเดิมทุกเรื่อง และค่อยติดตามประเมินผลในระยะยาว” รศ.ดร.ธัชเฉลิม กล่าว
รศ.ดร.นพ.นันทวัช สิทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า การอบรมหลักสูตรดังกล่าวอาจจะต้องมีหลายรอบ ในระหว่างทางก็ควรจะเก็บปัญหาหรือความต้องการที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้หลักสูตรการอบรมในรอบต่อไปตอบโจทย์และประณีตมากขึ้น คงต้องเป็นแผนระยะยาวที่ใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี เมื่อแข็งแรงแล้วจึงค่อยดำเนินงานในโจทย์ต่อไป
อย่างไรก็ดี การเรียนการสอนควรมีส่วนร่วมจากหน่วยงาน หรือองค์กรในพื้นที่ ซึ่งวิธีการนั้นสามารถออกแบบให้มีส่วนร่วมได้ รวมไปถึงควรจะต้องมีการผลลัพธ์ที่ได้จากการเรียนรู้ และมีการประเมินด้วย ขณะเดียวกันหากต้องการเน้นเครือข่ายก็อาจจะต้องออกแบบกลไกเครือข่ายที่สามารถทำให้มีการประสานงานกันต่อได้ในระยะยาว ไม่ใช้เครือข่ายจากธรรมชาติที่ได้จากการอบรม
พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก ที่ปรึกษาสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวเสริมว่าเรื่องเห็นด้วยกับเรื่องนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ และปัจจัยกำหนดสุขภาพ นอกจากระดับปัจเจกบุคคลแล้ว เรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่คาดหวัง และเห็นโอกาสมากถึงการถ่ายโอน รพ.สต. ไปยังที่มี อบจ. จะทำให้ รพ.สต. ให้ความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้น แต่หลายคนยังกังวลว่าประเด็นตรงนี้จะหายไป ทุกคนอาจจะต้องมาช่วยกันคิด ซึ่งเรื่องพัฒนาศักยภาพเป็นสิ่งจำเป็น และต้องมีการเติมเต็มวิธีการและแนวคิดใหม่ๆ ตลอดจนมีจำเป็นต้องมีหลักสูตรการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สำหรับการอบรมในช่วงเริ่มต้นอยากให้คณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) ได้รับรู้ เนื่องจากมีองค์ประกอบของทั้งส่วน อบจ. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สปสช. เขต หรืออาจจะรวมไปถึง คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ (อปสข.) รวมไปถึงอยากให้มีการจัดการพัฒนาบุคลากรในระดับเขตที่อยู่ในพื้นที่จริงเพื่อให้มีการทำความรู้จักกันในเขต ซึ่งอาจจะมอบหมายให้สถาบันการศึกษาในพื้นที่เข้ามามีส่วนช่วยในการดำเนินงาน
สุดท้ายที่ประชุมมีข้อสรุปร่วมกันว่า ประการแรก เร่งจัดอบรมผู้อำนวยการกองและบุคลากรกองสาธารณสุข อบจ. ทั่วประเทศ โดยในช่วงเดือน ก.ค. 2565 เป็นหลักสูตรระยะที่ 1 ขอบเขตเรื่องแนวคิด ทฤษฎี สุขภาพแบบองค์รวมและการจัดทำแผนพัฒนาสุขภาพระดับพื้นที่แบบมีส่วนร่วม เดือน ส.ค. 2565 หลักสูตรระยะที่ 2 ขอบเขตเรื่องเน้นการลงพื้นที่ศึกษาดูงานและการเขียนแผนพัฒนาสุขภาพระดับพื้นที่แบบมีส่วนร่วม เดือน พ.ย. 2565 หลักสูตรระยะที่ 3 ขอบเขตเรื่องการติดตาม ประเมินผลแบบมีส่วนร่วม ประการที่สองจัดทำบันทึกความร่วมมือองค์กรภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพหนุนพัฒนาระบบบริการสุขภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ สช. สถ. สธ. สสส. สปสช. สบช. สวรส. สพฉ. สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ประการสุดท้ายที่ประชุมเห็นความสำคัญที่จะต้องมีการพัฒนาศักยภาพกลไก กสพ. และ รพ.สต. ที่ถ่ายโอนไปอยู่กับ อบจ. โดยขอความร่วมมือให้ สช. ร่วมกับ สถ. และหน่วยงานภาคีเครือข่ายเร่งจัดทำหลักสูตรการอบรมหลักสูตรให้กับ กสพ. และรพ.สต. ที่ถ่ายโอนไปยังอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.
โทร. 02-8329141