ระบบสุขภาพไทยอีก 5 ปี เป็นอย่างไร ‘ธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3’ มีคำตอบ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file

    สวัสดีครับพี่น้องภาคีเครือข่ายที่รักทุกท่าน ... วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ประเทศไทยได้เริ่มต้นค่อยๆ เปิดประเทศอย่างเป็นทางการแล้ว ด้วยการยกเลิกมาตรการ Test and Go สำหรับผู้เดินทางเข้าไทย และกำลังเตรียมยกเลิก Thailand Pass สำหรับคนไทยในเร็วๆ นี้ ก่อนจะเปิดประเทศเต็มรูปแบบอย่างช้า 1 ก.ค. นี้ตามแผนประกาศโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น โดยเมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ประกาศลดระดับการเตือนภัยโควิด-19 ลง จากระดับ 4 เหลือระดับ 3 เพราะว่าแนวโน้มสถานการณ์การระบาดในภาพรวมดีขึ้น โดยขณะนี้มีถึง 54 จังหวัดที่การติดเชื้อเริ่มเป็นขาลง แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะทำให้ใคร “การ์ดตก” หรือ “ชะล่าใจ” นะครับ วัคซีนเข็มหลัก-เข็มกระตุ้น ยังเป็นอาวุธที่มีพลานุภาพที่สุดในเวลานี้

    พี่น้องภาคีเครือข่ายที่รักทุกท่านครับ เมื่อพูดถึง “อนาคต” แล้ว ผมขอใช้พื้นที่แห่งนี้แจ้งข่าวดีให้พวกเราทราบโดยพร้อมเพรียงกันด้วยว่า ขณะนี้ (ร่าง) ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ซึ่งเปรียบได้กับ เข็มทิศกำหนดอนาคตนโยบาย-ยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพของประเทศ ในระยะเวลา 5 ปีถัดจากนี้ ได้ผ่านฉันทมติของเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นฯ เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ที่ผ่านมา และผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 9 พ.ค. นี้เป็นที่เรียบร้อยแล้วนะครับ

   
ขั้นตอนต่อไปก็คือเสนอเข้าสู่การพิจารณาเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อทราบ และประกาศราชกิจจานุเบกษาต่อไป ซึ่งจะทำให้มีผลผูกพันทุกหน่วยงานของรัฐและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ถือเป็น soft power ที่เน้นการมีส่วนร่วมและเห็นชอบของทุกฝ่าย

   ที่จริงแล้ว ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพฯ มีความคล้ายคลึงกับ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ของสภาพัฒน์ นะครับ แต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ จะเน้นหนักไปที่เรื่องเศรษฐกิจ-สังคม ส่วนธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพฯ จะเน้นเรื่อง “ระบบสุขภาพแบบองค์รวม” ที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งในขั้นตอนการยกร่างและขั้นตอนการขับเคลื่อน โดยแผนสภาพัฒน์ และธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพฯ จะหนุนเสริมซึ่งกันและกัน และทั้งคู่จะถูกนำไปใช้เป็นกรอบในการจัดทำนโยบายของหน่วยงานรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

   ฉะนั้น ถ้าอยากรู้ว่าระบบสุขภาพของไทยใน 5 ปีข้างหน้านี้จะเป็นอย่างไร ให้ดูได้ที่เนื้อหาของธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพฯ ฉบับที่ 3 นี้ได้เลยครับ

   สำหรับธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพฯ ฉบับที่ 3 ท่านอาจารย์ ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ ในฐานะประธานจัดทำธรรมนูญฯ พร้อมคณะ ได้ร่างขึ้นโดยวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มที่กระทบต่อสุขภาพในอนาคต 5-10 ปี เช่น สังคมสูงวัย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเกิดโรคระบาดใหญ่และโรคอุบัติใหม่ การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ฯลฯ พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น

   
ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพฯ ฉบับที่ 3 จึงมุ่งเน้นที่เป้าหมาย “ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และช่วยพลิกฟื้นประเทศไทย” โดยมีเนื้อหาสำคัญ ได้แก่ ระบบบริการสุขภาพ (รักษา/ส่งเสริม/ป้องกัน/ฟื้นฟู) และปัจจัยสังคมที่กำหนดสุขภาพ ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดแบ่งเป็น 12 สาระหมวด เช่น เป้าหมายของระบบสุขภาพที่พึงประสงค์, หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, การบริการสาธารณสุขและควบคุมคุณภาพ, การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมทั้งการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เป็นต้น

   ในส่วนของ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เร็วๆ นี้จะมีการเตรียมความพร้อมร่วมกับเครือข่ายประชาสัมพันธ์จังหวัดและนักสื่อสารในพื้นที่  เพื่อทำความเข้าใจและเผยแพร่ผลักดันให้หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำเนื้อหาภายในธรรมนูญฯ ไปปรับใช้ ตลอดจนสานพลังให้เกิดเวทีขับเคลื่อนธรรมนูญฯ ระดับเขตและจังหวัด ควบคู่ไปกับการจัดทำแผนสนับสนุนการขยายผลเป็นธรรมนูญตำบล ธรรมนูญจังหวัด ธรรมนูญเฉพาะกลุ่มคน หรือธรรมนูญเฉพาะประเด็น ฯลฯ เพื่อให้ทุกพื้นที่ ทุกกลุ่มคนที่มีลักษณะเฉพาะที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย มีระบบสุขภาพที่ทุกคนเป็นเจ้าของ และเป็นธรรม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการพลิกฟื้นประเทศไทยจากวิกฤตโควิด-19 ครับ

รูปภาพ
หมวดหมู่เนื้อหา