สังคมสูงวัย ‘วิกฤต’ หรือ ‘โอกาส’ ของประเทศไทย | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุ (Aged Society) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ มาถึงปัจจุบันปี พ.ศ. ๒๕๖๗ ไทยมีสัดส่วนประชากรกลุ่มผู้สูงอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป ๑๓ ล้านคน หรือร้อยละ ๒๐ ของประชากรเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ขณะที่อัตราการเกิดของคนไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง คาดว่า จะขยับเป็นสังคมสูงอายุแบบสุดยอด (Super Aged Society)  หรือมีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ ๓๐ ในปี พ.ศ. ๒๕๗๖

ประเทศไทยจะรับมืออย่างไรกับสังคมสูงวัย ซึ่งไม่เฉพาะแต่การดูแลผู้สูงอายุ แต่หากมีผลกระทบถึงประชากรทั้งหมด เด็กเกิดใหม่ลดลง วัยแรงงานลดลง ส่งผลถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เศรษฐกิจ รายได้ ขณะที่ต้องใช้จ่ายเพิ่มขึ้น มีความเสี่ยงทางด้านการเงิน ฯลฯ  ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลผู้สูงอายุทั้งด้านสุขภาพ สวัสดิการ เศรษฐกิจ สังคม ประเทศญี่ปุ่นที่ “รวยก่อนแก่” ประเทศเศรษฐกิจดีมีรายได้สูงก่อนเข้าสู่สังคมสูงวัย ก็ยังประสบปัญหา แต่ประเทศไทย “แก่ก่อนรวย” เข้าสู่สังคมสูงวัยขณะที่ประเทศยังไม่พ้นกับดักรายได้ปานกลาง

วิกฤต 危机 ในภาษาจีนอ่านว่า "เหว่ยจี" มาจากสองคำ "เหว่ยเสียน" ที่แปลว่า "อันตราย" และ อักษรตัวหลัง คำว่า "จี" ที่มาจากคำว่า "จีฮุ่ย" 机会 ที่แปลว่า "โอกาส"  ในทุกวิกฤตมีอันตรายและโอกาสอยู่เสมอ

ประเทศไทยสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ในการสร้างเศรษฐกิจ รายได้ ระบบดูแลผู้สูงอายุ  สร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ เช่น

  • พัฒนาอุตสาหกรรมดูแลผู้สูงอายุ ชุมชน/หมู่บ้านผู้สูงอายุ การปรับปรุงที่อยู่อาศัย การจ้างงานผู้ดูแลผู้สูงอายุ การส่งเสริมให้เอกชนลงทุนดูแลผู้สูงอายุทั้งไทยและต่างชาติ 
  • ศูนย์กลางการแพทย์ผู้สูงอายุ เวชศาสตร์ชะลอวัย การดูแลผู้ป่วยระยะท้าย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ครุภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์(IoT) ให้ผู้สูงอายุใช้ อาหารเสริม อาหารเพื่อสุขภาพ ฯลฯ
  • มหาวิทยาลัย/สถาบันการศึกษา พัฒนาทักษะผู้สูงอายุ ตัวอย่างประเทศสิงคโปร์แจกคนละแสนจ่ายค่าลงทะเบียน ๔,๐๐๐ เหรียญให้ทุกคนที่อายุเกิน ๔๐ ปี มาเรียนอบรมเรื่อง AI
  • ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มการจ้างงานผู้สูงอายุ  

    ขอช่วยกันคิดต่อ ทั้งระบบการดูแลผู้สูงอายุ การพัฒนาคุณภาพประชากร และการสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้เป็นโอกาสของประเทศไทยรองรับสังคมสูงวัยโลก.
รูปภาพ
หมวดหมู่เนื้อหา