- 598 views
“คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ” เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิต ตาม “มาตรา 12 พ.ร.บ.สุขภาพฯ” มุ่งพัฒนาระบบ “การดูแลแบบประคับประคอง” เชื่อมโยงสู่ “ชุมชน” ผ่านระบบบริการปฐมภูมิ ดึงองค์กรทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมพัฒนาระบบการดูแล พร้อมผลักดันระบบการแสดงเจตนาแบบอิเล็กทรอนิกส์ “e-Living Will” สู่การรับรู้-เข้าถึงมากขึ้น
ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2567 ซึ่งมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ร่วมกันมีมติเห็นชอบแนวทางความร่วมมือในการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิต ตามมาตรา 12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 พร้อมมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นหน่วยงานประสานการดำเนินงานตามบทบาทภารกิจและกลไกของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
สำหรับกฎหมายมาตรา 12 ที่กำหนดสิทธิของประชาชนในการแสดงเจตนาเกี่ยวกับการรับบริการสาธารณสุขในวาระสุดท้ายของชีวิต มีจุดประสงค์เพื่อรับรองสิทธิของผู้ป่วยที่ต้องการตัดสินใจเกี่ยวกับตนเอง (Right to self-determination) เรื่องการตายอย่างสงบตามธรรมชาติ เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้การสื่อสารระหว่างผู้ป่วย ญาติ และฝ่ายผู้ให้การรักษามีความเข้าใจตรงกัน โดยมีการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) การวางแผนการดูแลล่วงหน้า (Advance care planning) และการแสดงเจตนาในระยะสุดท้ายของชีวิต (Living will) เป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบการสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิต
ในส่วนของทิศทางการสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิต สช. มีแนวทางที่จะสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคี สนับสนุนให้มีนโยบายจัดทำแผนงาน โครงการ ที่เกี่ยวข้องในเรื่องดูแลระยะสุดท้ายในชุมชน ขับเคลื่อนผ่านกลไกคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) และบูรณาการในแผนพัฒนาสุขภาพระดับพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เพื่อพัฒนาระบบการดูแลระยะสุดท้ายที่สามารถเข้าถึงบริการทางเลือกที่หลากหลาย และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่
นอกจากนี้ ยังจะมีการสนับสนุนให้หน่วยงานในพื้นที่ร่วมจัดระบบบริการดูแลระยะสุดท้ายกับหน่วยงานในภาคสุขภาพ ในรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสม ทั้งที่เป็นเครือข่ายกับโรงพยาบาล หรือการจัดบริการดูแลแบบเบ็ดเสร็จที่บ้าน หรือเป็นหน่วย Hospice Centre ในชุมชนที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในชุมชน
นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการ คสช. เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแนวโน้มอุบัติการณ์ของโรคร้ายแรงและโรคที่คุกคามต่อชีวิตเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการก้าวสู่สังคมสูงอายุ ท่ามกลางเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า ทำให้บางครั้งการรักษาในระยะสุดท้ายไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ (Medical Futility) แต่กลับสร้างความทุกข์ทรมานและเป็นภาระของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งครอบครัว ญาติ บุคลากรทางการแพทย์และระบบบริการสาธารณสุขโดยรวมอย่างมาก ซึ่งผลการศึกษาวิจัยพบว่าการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบการดูแลแบบประคับประคองร่วมกัน จะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายของครอบครัวและภาครัฐลดลงได้มาก สอดรับกับการยกระดับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคของรัฐบาล ที่กำหนดให้มีสถานชีวาภิบาลประจำท้องถิ่น เพื่อให้ผู้ป่วยในระยะสุดท้ายได้รับการดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
“การสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิต มีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบการดูแลแบบประคับประคองที่เชื่อมโยงจากโรงพยาบาลสู่ชุมชน (Community Based) ผ่านระบบบริการปฐมภูมิ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงระบบบริการดูแล และส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในระยะสุดท้ายของครอบครัวและระบบสุขภาพของภาครัฐลดลงได้” นพ.สุเทพ กล่าว
นพ.สุเทพ กล่าวว่า ล่าสุด สช. ได้พัฒนาระบบสารสนเทศการบริหารจัดการหนังสือแสดงเจตนาตามมาตรา 12 แบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ‘e-Living Will’ ขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการจัดทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ได้ทุกที่ทุกเวลา โดยสามารถใช้งานได้ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2567 เป็นต้นมา โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าใช้งานระบบได้ที่ https://e-livingwill.nationalhealth.or.th
ทั้งนี้ ในช่วงเริ่มต้นการใช้งานระบบมีสถานพยาบาลและภาคีเครือข่ายนำร่องลงทะเบียนเข้าร่วมการใช้งานระบบแล้วทั้งสิ้น 10 แห่ง ได้แก่ รพ.ราชพิพัฒน์, รพ.ลำพูน, รพ.พระจอมเกล้า, รพ.นครนายก, มหาวชิราลงกรณ์ ธัญบุรี, บริษัทชีวามิตร, เยือนเย็นวิสาหกิจ, กลุ่ม peaceful death, มูลนิธิพุทธวิธี วัดป่าโนนสะอาด และมีประชาชนที่สนใจทยอยลงทะเบียนจัดทำหนังสือแสดงเจตนาฯ (e-Living Will) เพิ่มขึ้น
สำหรับ สช. มีแผนการสื่อสารและประชาสัมพันธ์และสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการสนับสนุนให้หน่วยบริการสาธารณสุขทั่วประเทศเข้าร่วมขึ้นทะเบียนใช้งานระบบฯ เพื่อเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันและสามารถเข้าใช้งานในระบบ เรียกดูและให้การดูแลรักษาผู้จัดทำหนังสือแสดงเจตนาได้ รวมทั้งสื่อสารเชิญชวนให้ประชาชนในพื้นที่ได้เห็นความสำคัญและส่งเสริมให้มีการจัดทำหนังสือฯ (e-Living Will) โดยคาดว่าภายในปีงบประมาณ 2567 จะมีหน่วยบริการสาธารณสุขเข้าร่วมลงทะเบียนการใช้งานและประชาชนมีการลงทะเบียนจัดทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ครอบคลุมได้มากยิ่งขึ้น
ด้าน ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ประธานกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า แม้การสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิต ตามมาตรา 12 รวมถึงการดูแลแบบประคับประคอง จะเป็นหลักการที่ดีที่ช่วยลดภาระของครอบครัวและภาครัฐได้ และทางการแพทย์ก็สามารถให้คำอธิบายได้ว่านี่ไม่ใช่การฆ่าชีวิตใดๆ แต่อย่างไรก็ตามมองว่ายังมีประเด็นสำคัญที่จะต้องสื่อสารทำความเข้าใจกับสังคม อย่างในเชิงของศาสนาที่ว่าจะเป็น ‘บาป’ หรือไม่ รวมถึงในเชิงของสังคมไทยที่มองว่าจะเป็นการ ‘อกตัญญู’ หรือไม่
“เราอาจอาศัยบทบาทขององค์กรทางศาสนาเข้ามาช่วยให้คำอธิบายได้ อย่างพระท่านก็อาจอธิบายให้ประชาชนเข้าใจได้ว่าการตายดีในมิติพุทธศาสนาเป็นอย่างไร ถือว่าเป็นการอกตัญญูหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาที่หลายครอบครัวอาจเผชิญ เพราะลูกที่ให้การดูแลพ่อแม่ในระยะสุดท้ายส่วนใหญ่จะมีความเข้าใจ แต่ลูกที่ไม่ได้ดูแลมักจะไม่เข้าใจและพยายามยื้อให้ได้ หรือที่เรียกว่ากตัญญูหมื่นลี้ สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นละเอียดอ่อนที่ควรมีการร่วมกันให้ความรู้ความเข้าใจเพิ่มเติม” ศ.ดร.บรรเจิด กล่าว