- 201 views
สช. จับมือ เขตสุขภาพที่ 3 เปิดพื้นที่ทางสังคม ‘สร้างสุขที่ปลายทาง : วางแผนและเตรียมความพร้อมของชีวิตเพื่อสุขที่ปลายทาง’ หวังสร้างการรับรู้-เกิดการเข้าถึงสิทธิตามมาตรา 12 พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 พร้อมทำความเข้าใจแนวทางการดูแลแบบประคับประคอง เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะท้ายของชีวิต
เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2566 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับเขตสุขภาพที่ 3 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดงาน สร้างสุขที่ปลายทาง “วางแผนและเตรียมความพร้อมของชีวิตเพื่อสุขที่ปลายทาง” ขึ้น ณ โรงแรมไม้หอมวิลล่า อ.เมือง จ.นครสวรรค์ เพื่อเปิดพื้นที่ทางสังคมให้ประชาชนเกิดการรับรู้เรื่องสิทธิด้านสุขภาพในการสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิตฯ ตามมาตรา 12 พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และนำความรู้ไปสื่อสารส่งต่อ ตลอดจนทราบแนวการปฏิบัติเพื่อให้เกิดการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพในการสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิต โดยมีผู้ที่สนใจ ทั้งประชาชน ผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) บุคลากรด้านสุขภาพ ตลอดจนสื่อมวลชน เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
พญ.วิพรรณ สังคหะพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เขตสุขภาพที่ 3 กล่าวเปิดงานและบรรยายพิเศษหัวข้อ “วางแผนและเตรียมความพร้อมของชีวิตเพื่อสุขที่ปลายทาง” ตอนหนึ่งว่าสังคมไทยกำลังเป็นสังคมที่มีจำนวนผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ไม่อาจรักษาให้หายเพิ่มมากขึ้น กลุ่มวัยแรงงานลดน้อยลง ภาระลูกหลานในการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ภาระค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ พบว่าเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทำให้เกิดการยื้อความตาย ทำให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้รับการรักษาที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ (Medical Futility) ได้รับความทุกข์ทรมานทั้งจากตัวโรคและจากการรักษาที่ไม่เอื้อต่อคุณภาพชีวิตที่ดี และเสียชีวิตอย่างทุกข์ทรมาน
อย่างไรก็ตาม วาระสุดท้ายของชีวิตเป็นสิ่งที่เกิดแน่นอนสำหรับทุกคน ทุกคนล้วนต้องการให้ชีวิตในระยะสุดท้ายได้รับการดูแลให้ปลอดจากความทุกข์ทรมานทางร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ การจากไปควรเป็นการจากไปตามธรรมชาติโดยไม่ต้องฝืน ไม่ห่วงกังวล และจากไปในบรรยากาศที่อบอุ่นในสภาพที่จิตเป็นอิสระและปล่อยวางจากความยึดมั่นทั้งปวง ดังนั้นการดูแลผู้ป่วยที่บ้านหรือในชุมชน รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมของครอบครัวในการดูแลผู้ป่วย และการสร้างการรับรู้ เข้าใจ และทัศนคติที่ดีในเรื่องการจากไปอย่างดีจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
“สถานการณ์ในปัจจุบัน มีผู้ป่วยระยะสุดท้าย 3 แสนคน ในจำนวนนี้มีเพียง 52.6% ที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ฉะนั้นสิ่งที่ต้องขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นก็คือการทำให้คนทุกกลุ่มวัยเข้าถึงการดูแลแบบประคับประคอง และครอบคลุมในทุกโรคที่เข้าสู่ภาวะสุดท้ายของชีวิต” พญ.วิพรรณ กล่าว
นอกจากนี้ ภายในงานเดียวกันนี้ ยังมีการจัดเวทีเสวนาหัวข้อ “เตรียมความพร้อมรับมือกับการตายดีในระยะสุดท้ายของชีวิต” โดยวิทยากรได้บอกเล่าถึงมุมมองทางกฎหมาย สิทธิสุขภาพบุคคลในวาระสุดท้าย การดูแลแบบประคับประคอง รวมถึงการเตรียมตัวตายดีตามแนวพุทธศาสนา
นายพิสิษฐ์ ศรีอัคคโภคิน ผู้ชำนาญการ สช. ในฐานะนักกฎหมาย กล่าวว่า ประเทศไทยมีกฎหมายรับรองสิทธิของผู้ป่วยในฐานะเจ้าของชีวิต ให้สามารถเลือกได้ว่าจะใช้ช่วงระยะสุดท้ายของชีวิตอย่างไร เปิดช่องให้ผู้ป่วยตัดสินใจเอง ซึ่งจากประสบการณ์พบว่าแต่ละคนมีความปรารถนาและความต้องการที่แตกต่างกัน บางคนต้องการให้ลูกหลานยื้อชีวิตอย่างถึงที่สุด บางคนบอกไม่ต้องการมอร์ฟีนเพื่อต้องการให้ตัวเองมีสติในวาระสุดท้าย หรือบางคนบอกว่าอยากจะจากไปที่บ้านของตัวเอง ฯลฯ ซึ่งตามมาตรา 12 พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ได้ระบุถึงสิทธิของผู้ป่วยในเรื่องนี้เอาไว้ให้ ‘เลือก’ ได้
นายพิสิษฐ์ กล่าวว่า การใช้สิทธิตามมาตรา 12 คือการสร้างสุขภาวะในระยะสุดท้ายของชีวิต ประชาชนมีสิทธิทำหนังสือเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน (Living Will) หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ โดยการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง
สำหรับการทำหนังสือแสดงเจตนานั้น 1. ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป สามารถทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ได้ สำหรับผู้ที่มีอายุต่ำกว่านี้ ควรให้พ่อแม่ผู้ปกครองที่ดูแลมีส่วนร่วมในการปรึกษาหารือกับแพทย์ 2. ต้องมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน 3. เขียนด้วยลายมือหรือพิมพ์ก็ได้ โดยต้องลงลายมือชื่อผู้ทำหนังสือแสดงเจตนา และลายมือชื่อพยานกำกับไว้ด้วย 4. สามารถเขียนหนังสือได้หลายฉบับ เมื่อเขียนแล้วเกิดเปลี่ยนใจสามารถยกเลิกได้ในภายหลัง โดยต้องระบุวันที่เขียนไว้และยึดเอาวันที่ล่าสุดเป็นหลัก 5. เก็บไว้ที่ตัวหรือแจ้งกับโรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษา หรือบอกคนในครอบครัวให้ทราบว่าได้เขียนหนังสือฯ
“การเขียนหนังสือแสดงเจตนาฯ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์ โดยแพทย์พยาบาลจะยังคงให้การดูแลรักษาแบบประคับประคอง ไม่ให้เจ็บปวดทรมาน ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยตามหนังสือแสดงเจตนาฯ ไม่ถือว่าละทิ้งผู้ป่วย และจะไม่มีความผิด ส่วนการใช้มอร์ฟีนนอกโรงพยาบาลนั้น หากได้รับการยินยอมจากแพทย์จะไม่มีความผิด แต่ถ้าเอาไปใช้เองยังถือว่ามีความผิดอยู่” นายพิสิษฐ์ กล่าว
พญ.กมลทิพย์ ประสพสุข นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ ศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์ กล่าวว่า จากประสบการณ์เป็นวิสัญญีแพทย์จึงได้เห็นปลายน้ำของการรักษาผู้ป่วย คือพบว่าผู้ป่วยระยะสุดท้ายโดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับความทุกข์ทรมานมากจากการผ่าตัด และหลังผ่าตัดส่วนหนึ่งก็จะเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย ต้องใช้ยามอร์ฟีนระงับปวด ในบางเคสพบว่าผู้ป่วยใช้ยาที่โรงพยายาลเยอะมาก แต่เมื่อเลือกกลับไปอยู่ที่บ้านกับลูกหลานภายใต้การวางแผนกันอย่างดีระหว่างแพทย์กับครอบครัว กลับพบว่าผู้ป่วยใช้ยาที่ลดลงแต่สามารถเบาปวดลงได้และตายดีได้จริงๆ จึงมีความสนใจในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง
พญ.กมลทิพย์ กล่าวว่า การดูแลเพื่อให้ตายดี หมายถึงการดูแลเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีจนถึงวาระสุดท้าย โดยดูแลทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ และจิตวิญญาณ และนำไปสู่การตายดี แต่หากไม่มีการเตรียมตัวตายดีในวาระสุดท้าย สิ่งที่มักจะพบคือผู้ป่วยจะถูกนำส่งโรงพยาบาลเมื่ออาการแย่ลง จากนั้นโรงพยาบาลก็จะรับไว้ให้นอนโรงพยาบาล ญาติก็จะขอให้แพทย์ทำการรักษาอย่างเต็มที่ แพทย์ก็จะใช้ทุกวิถีทางในการรักษาและอาจใช้เทคโนโลยียื้อชีวิตเอาไว้ให้ได้มากที่สุด และสุดท้ายผู้ป่วยก็จะเสียชีวิตที่โรงพยาบาล
สำหรับการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative Care) ในระยะท้ายของชีวิต มีหลักการสำคัญคือ ต้องมี ‘การดูแล’ คือไม่ใช่ว่าไม่ทำอะไรเลย แต่ต้องดูแลโดยมุ่งไปที่การประคับประคองไม่ใช่มุ่งไปที่จะรักษาโรคให้หาย โดยเน้นการมีชีวิตอยู่ในระยะท้ายอย่างมีคุณภาพ ไม่ทำการเร่งหรือทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเร็วกว่าธรรมชาติของโรค ที่สำคัญคือต้องมีการ ‘วางแผนการดูแลล่วงหน้า’ (Advance Care Planning) ถือเป็นการดูแลทั้งผู้ป่วยและครอบครัว โดยเชื่อมต่อการดูแลระหว่างโรงพยาบาลกับบ้าน
“สิ่งที่ต้องใช้ในการดูแลประคับประคองคือศาสตร์ผสมผสาน ประยุกต์ร่วมกันทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและทางเลือกให้สอดคล้องกับศาสนาและความเชื่อของผู้ป่วย ใช้ความเอาใจใส่เป็นสำคัญ คนที่ดูแลต้องมองลึกถึงจิตใจของผู้ป่วย อาจจะใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการทรมาน เช่น ยาบรรเทาอาการปวด และจะไม่ใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อยื้อชีวิต โดยที่ไม่ได้เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วย” พญ.กมลทิพย์ กล่าว
พระวุทธ สุเมโธ พระธรรมวิทยากร จากกลุ่มอาสาคิลานธรรม กล่าวถึงการเตรียมตัวตายดีตามแนวทางพระพุทธศาสนา หรือการตายอย่างสันติ ตอนหนึ่งว่า ความตายในทางกฎหมายนั้น คือการสิ้นสภาพบุคคล กล่าวคือ สิทธิเสรีภาพ หน้าที่ ความรับผิดชอบ และทรัพย์สิน ของบุคคลนั้นจะสิ้นสุดลง แต่ในทางพุทธศาสนาแล้ว การตายคือการดับลงของจิต หากจิตสุดท้ายดับลงแล้วไม่มีปัจจัยที่ทำให้เกิดใหม่ ก็จะไม่เกิดอีก แต่หากมีปัจจัยที่ทำให้เกิดก็ยังจะเวียนว่ายตายเกิดอยู่
สำหรับการตายดีทางพุทธศาสนามี 3 ภาพ กล่าวคือ 1. กายภาพ คือแข็งแรง หลับตาย ร่างกายครบ ศพสวย ไม่เจ็บป่วย ไม่ทุรนทุราย 2. สัมพันธภาพ คืออุทิศกาย ให้อภัย เคลียร์ใจ ไม่เป็นภาระ คนที่อยู่จะไม่ทะเลาะ ไม่เศร้าใจมากเกินไป 3. จิตภาพ คือสงบ ดวงตาเห็นธรรม มีสติ ไม่หลงตาย ไม่มีสิ่งค้างอาลัย จิตใจปล่อยวาง