มติสมัชชาอนามัยโลก ไทยพัฒนาร่วมกับสโลวีเนีย ได้รับการรับรองจากประเทศสมาชิก กลไก ‘การมีส่วนร่วมของสังคมในระบบสุขภาพ’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

1

 

“คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ” รับทราบผลการนำเสนอ “มติสมัชชาอนามัยโลก” สมัยที่ 77 ที่ประเทศไทยพัฒนาร่วมกับสโลวีเนีย และได้รับการรับรองจากประเทศสมาชิกแล้ว ข้อมติเรียกร้องให้นานาชาติ สร้างกลไก “การมีส่วนร่วมของสังคม” เพื่อสร้างระบบหลักประกันฯ - สุขภาวะดี โดยมี WHO ให้การสนับสนุนใน 6 ประเด็น

 

2

 

ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2567 ซึ่งมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และประธาน คสช. เป็นประธานการประชุม มีมติรับทราบผลการดำเนินงานของ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่เป็นตัวแทนประเทศไทยในการพัฒนา (ร่าง) มติสมัชชาอนามัยโลก เรื่อง การมีส่วนร่วมของสังคมเพื่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตลอดจนสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Social Participation for UHC, Health and Well-being) ร่วมกับประเทศสโลวีเนีย ก่อนจะนำเสนอให้ที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) สมัยที่ 77 เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2567 พิจารณา และได้รับการรับรองมติจากประเทศสมาชิก

 

สำหรับ มติสมัชชาอนามัยโลก ดังกล่าว มีสาระสำคัญคือ เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกดำเนินการสร้างการมีส่วนร่วมของสังคมให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน ด้วยหลัก 7 ข้อ ได้แก่ 1. เสริมสร้างขีดความสามารถของภาครัฐในการออกแบบและจัดกระบวนการมีส่วนร่วมของสังคมอย่างมีคุณภาพ 2. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างเสมอภาค หลากหลายและครอบคลุม โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบางและ/หรือคนชายขอบ 3. มุ่งมั่นให้การมีส่วนร่วมของสังคมส่งผลต่อการตัดสินใจด้านสุขภาพอย่างโปร่งใส ในทุกขั้นตอนของกระบวนการโยบายและในทุกระดับของระบบ 4. จัดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของสังคมอย่างสม่ำเสมอ โปร่งใส และต่อเนื่อง โดยใช้กลไกต่างๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากนโยบายสาธารณะและตัวบทกฎหมาย 5. จัดสรรทรัพยากรของภาครัฐอย่างเพียงพอและยั่งยืน เพื่อสนับสนุนให้การมีส่วนร่วมของสังคมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 6. เสริมสร้างขีดความสามารถของภาคประชาสังคม เพื่อให้สามารถเข้าร่วมการมีส่วนร่วมของสังคมได้ 7. สนับสนุนการทำวิจัย โครงการ/โปรแกรมนำร่อง ตลอดจนการติดตามและประเมินผลที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสังคม

นอกจากนี้ ในมติสมัชชาอนามัยโลกดังกล่าว ยังเรียกร้องให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ดำเนินการสนับสนุนเรื่องการมีส่วนร่วม ใน 6 ประเด็น คือ 1. สนับสนุนให้เกิดการลงมือปฏิบัติเพื่อการมีส่วนร่วมของสังคมอย่างสม่ำเสมอและยั่งยืน ทั้งในภาคส่วนสุขภาพ และนอกภาคสุขภาพ 2. พัฒนาแนวทางและเครื่องมือในการปฏิบัติงานเพื่อให้การมีส่วนร่วมของสังคมเข้มแข็งและยั่งยืน รวมถึงการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานภายในประเทศ และสนับสนุนการฝึกอบรมและให้ความรู้ทางวิชาการเมื่อประเทศสมาชิกร้องขอ

3. ให้จัดทำเอกสาร ตีพิมพ์ และเผยแพร่ประสบการณ์ของประเทศสมาชิกในการทำงานด้านนี้ 4. จัดให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานด้านนี้อย่างสม่ำเสมอ 5. บูรณาการการทำงานภายในองค์การอนามัยโลกทั้งสามระดับในเรื่องการมีส่วนร่วมของสังคม และ 6. รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามมตินี้ต่อสมัชชาอนามัยโลกใน พ.ศ. 2569, 2571 และ 2573

3

 

นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการ คสช. เปิดเผยว่า ระบบสุขภาพของประเทศไทยมีความโดดเด่นและเข้มแข็ง เนื่องจากได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคประชาสังคมตั้งแต่สาธารณสุขมูลฐาน เช่น การพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้มีศักยภาพ จนกลายเป็นกำลังสำคัญในระบบสุขภาพที่มีจำนวนกว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศ โดยเฉพาะเมื่อมี พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ส่งผลให้การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนยกระดับขึ้นจากเพียงการร่วมดำเนินการ มาสู่การร่วมคิดและร่วมตัดสินใจ

“จะเห็นได้จากกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมที่ สช. ดำเนินการ เปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น และพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพที่ซับซ้อนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและนักวิชาการได้ ผ่านกลไกต่างๆ อย่างสมัชชาสุขภาพ ธรรมนูญสุขภาพ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นความโดดเด่น และเป็นแบบอย่างที่สามารถนำไปเป็นแนวทางให้กับการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประเทศอื่นๆ ได้” นพ.สุเทพ กล่าว

 

สำหรับการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 77 ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 พ.ค. 1 มิ.ย. 2567 ซึ่งมีผู้แทนจาก 194 ประเทศสมาชิกเข้าร่วมประชุม ณ สำนักงานสหประชาชาติ (Palais Des Nations) นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยนอกจากเวทีพิจารณารับรองมติต่างๆ แล้ว สช. ยังได้ร่วมจัดประชุมคู่ขนาน (Side Event) เรื่อง “ขับเคลื่อนหลักการสู่การปฏิบัติ...สร้างการมีส่วนร่วมของสังคม” ในวันที่ 28 พ.ค. 2567 เพื่อเรียกร้องให้นานาประเทศนำมติดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ พร้อมเปิดตัววารสารวิชาการ Eurohealth ฉบับพิเศษ เรื่อง การมีส่วนร่วมของสังคม (Eurohealth: the value proposition for social participation) ที่ สช. ร่วมเขียนอีกด้วย

 

3

 

ขณะที่ ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ประธานกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สช. ได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ “เป้าหมาย ทิศทาง หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550” ขึ้นเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2567 ซึ่งมี นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เพื่อหารือ แลกเปลี่ยน และร่วมกันกำหนดประเด็นนโยบายสาธารณะสำคัญของประเทศที่ คสช. จะหนุนเสริมการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่

ศ.ดร.บรรเจิด กล่าวว่า ผลการเวิร์คช็อปดังกล่าวพบว่าประเด็นสำคัญอันดับแรกคือเรื่อง ‘การกระจายอำนาจและชุมชนเข้มแข็ง’ โดยการเพิ่มบทบาทให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งจะมีความสำคัญอย่างมากในระบบสุขภาพ ฉะนั้นทิศทางในระดับสากลจากมติสมัชชาอนามัยโลกเรื่องนี้ จึงสอดคล้องในทางเดียวกันกับการขับเคลื่อนภายในประเทศ ที่ คสช. จะหนุนเสริมการดำเนินงานในแต่ละองค์ประกอบต่อไป

45

 

ด้าน น.ส.ณนุต มธุรพจน์ หัวหน้ากลุ่มงานความร่วมมือระหว่างประเทศ สช. กล่าวว่า ในส่วนของแผนการดำเนินงานภายหลังจากที่ไทยได้มีส่วนร่วมพัฒนามติสมัชชาอนามัยโลกเรื่องนี้ไปแล้ว ก็จะกลับมาจัดทำ ‘แผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนมติฯ’ ในประเทศ โดยจะจัดประชุมหารือกับภาคีเครือข่ายนานาชาติ ในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ที่จะจัดขึ้นในช่วงเดือน พ.ย. 2567 ซึ่งจะเชิญองค์กรภาคียุทธศาสตร์ต่างประเทศ มาศึกษาดูงานกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมภายในงานด้วย

 

รูปภาพ