- 304 views
โรคพยาธิไบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญและเรื้อรังของประเทศไทย พบจำนวนประชากรที่ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวนผู้ติดเชื้อโดยประมาณ 8,000,000 – 10,000,000 คน และในจำนวนนี้มีประชากรป่วยเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดีรายใหม่ประมาณปีละ 14,000 – 20,000 ราย
เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 มูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี ร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 7 - 10 ได้จัดงานมหกรรมพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เนื่องในวันมะเร็งท่อน้ำดีโลก ประจำปี 2567 ณ ศาลาเสา 112 ต้น วัดพุทธวนาราม (วัดป่าวังน้ำเย็น) ตำบลเกิ้ง อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม โดยมี พระวชิรญาณวิศิษฏ์ วิ. (หลวงพ่อสุริยันต์ โฆสปัญโญ) รับเป็นประธานดำเนินงานฝ่ายสงฆ์ และดร.สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้เกียรติเป็นประธานฝ่ายฆราวาส
ดร.สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีไว้ว่า ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือของประเทศไทย มีวัฒนธรรมการบริโภคที่คล้ายกัน คือ การรับประทานอาหารแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะเมนูอาหารที่ทำมาจากปลาเกล็ดขาววงศ์ปลาตะเพียน ผมได้ทราบข้อมูลจากการทำงานของสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี ที่ทำงานร่วมกับทุกภาคีเครือข่ายโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขพบว่า จากการตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับโดยการตรวจปัสสาวะ ในพื้นที่ 29 จังหวัด มีอัตราผู้ป่วยที่ติดเชื้อประมาณ 42% และข้อมูลล่าสุดในพื้นที่ 4 จังหวัด ร้อยแก่นสารสินธ์ ที่ดำเนินการตรวจโดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น มีอัตราการติดเชื้ออยู่ที่ประมาณ 37% ซึ่งจังหวัดมหาสารคามมีอัตราการติดเชื้อสูงสุดใน 4 จังหวัดนี้ และประชาชนที่ติดเชื้อเหล่านี้ก็มีโอกาสพัฒนาไปเป็นมะเร็งท่อน้ำดี
การจัดกิจกรรมงานมหกรรมการตรวจคัดกรองโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เนื่องในวันมะเร็งท่อน้ำดีโลก ประจำปี 2567 ที่จัดขึ้นในวันนี้ เป็นงานที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการตระหนักรู้ถึงภัยของโรคนี้ และประชาชนในจังหวัดมหาสารคามที่ได้รับการตรวจคัดกรองในวันนี้จะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และควรมีกิจกรรมเช่นนี้อีกในทุกๆ จังหวัด ผมขอชื่นชมทุกฝ่ายที่ได้ร่วมปฏิบัติหน้าที่อย่างดีเยี่ยม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมมือเพื่อให้โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีหมดไปในไม่ช้านี้
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีไว้ว่า โรคมะเร็งท่อน้ำดี เป็น 1 ใน 5 โรคที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา โดยมีการกำหนดนโยบาย Quick win ดำเนินการตรวจคัดกรองโรคพยาธิใบไม้ตับ จำนวน 100,000 ราย ภายใน 100 วัน ค้นหาผู้ป่วยในพื้นที่เสี่ยงสูงและให้การรักษาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งท่อน้ำดี และการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งท่อน้ำดีด้วยอัลตร้าซาวด์ในประชาชนกลุ่มเสี่ยงอายุ 40 ปีขึ้นไป ผลการดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าว ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้รับการคัดกรองพยาธิใบไม้ตับ จำนวนรวม 117,246 ราย คิดเป็นร้อยละ 117.25 และได้รับการคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดี จำนวน 10,632 ราย มาตรการหลักในการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี คือ การคัดกรองโรค เพื่อค้นหา ให้การรักษา และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งในปัจจุบันมีการพัฒนานวัตกรรมการตรวจวินิจฉัยพยาธิใบไม้ตับด้วยวิธีใหม่ โดยใช้ตัวตรวจจับจำเพาะหรือโมโนโคลนอลแอนติบอดี (monoclonal antibody) ที่มีความจำเพาะต่อพยาธิใบไม้ตับและเป็นสารตรวจจับสิ่งคัดหลั่ง หรือแอนติเจนของพยาธิใบไม้ตับในปัสสาวะ หรือ OV-Rapid Diagnostic Test (OV-RDT) ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นการพัฒนาต่อยอดจากการตรวจวิธีเดิมให้มีรูปแบบที่ง่ายขึ้น ใช้เวลาสั้นลง และสะดวกต่อการใช้ในภาคสนาม ปัจจุบันได้มีการนำไปใช้ในพื้นที่เสี่ยงสูง 30 จังหวัด ให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ และได้มีการพัฒนาในส่วนของรถพระราชทานตรวจคัดกรองมะเร็งตับและท่อน้ำดีด้วยอัลตร้าซาวด์เคลื่อนที่เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงสามารถเข้าถึงบริการการตรวจคัดกรองอย่างรวดเร็ว และครอบคลุมมากยิ่งขึ้นอีกด้วย การดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีภายใต้ระบบการดูแลสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมในการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ และประสบความสำเร็จ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในการลดการป่วยและลดการตายด้วยโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีอย่างยั่งยืน
การจัดงานในครั้งนี้ นอกจากนี้จะมีการมอบนโยบายแล้วยังมีการตรวจคัดกรองโรคพยาธิใบไม้ตับ และการทอดผ้าป่ามหากุศลเพื่อระดมทุนจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับการตรวจคัดกรองและรักษาผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี และสนับสนุนการดำเนินงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ดำเนินการคัดกรองและวินิจฉัยโรคพยาธิใบไม้ตับโดยการตรวจแอนติเจนในปัสสาวะทั้งระบบ ElISA และระบบ Rapid Diagnostic Test (RDT) ดำเนินการคัดกรองและการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงโรคมะเร็งท่อน้ำดีโดยระบบ Telaconsultation Ultrasonography System อบรมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปและแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวทั่วประเทศให้สามารถใช้อัลตร้าซาวด์เพื่อคัดกรองกลุ่มเสี่ยงมะเร็งท่อน้ำดี อบรมศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคตับ ทางเดินน้ำดีและตับอ่อนจากทั่วประเทศ สร้างเครือข่ายโรงพยาบาลเพื่อการรักษาโรคมะเร็งท่อน้ำดี สร้างเครือข่ายเพื่อแก้ปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีผ่านโครงการอำเภอต้นแบบ (OV-CCA District Model) สร้างเครือข่ายเพื่อแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีเข้าสู่การเรียนการสอนในโรงเรียนทั้งในระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษาและการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สนับสนุนการดำเนินโครงการอาหารปลอดภัยเพื่อลดการปนเปื้อนพยาธิใบไม้ตับ เช่น โครงการปลาร้าปลาส้มปลอดภัย สนับสนุนการดำเนินงานโครงการจัดการสิ่งปฏิกูลเพื่อลดการแพร่เชื้อพยาธิใบไม้ตับ (บ่อบำบัดอุจจาระ) และการสร้างแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน (Clinical practice Guildeline; CPG) เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง ตรวจคัดกรอง ตรวจวินิจฉัย และบริหารจัดการผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีอีกด้วย.