- 425 views
ที่ประชุม “บอร์ดพยาธิใบไม้ตับ-มะเร็งท่อน้ำดี” เห็นชอบแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่อพัฒนาแนวทาง-ระบบการตรวจคัดกรองปัสสาวะด้วย “ชุดตรวจ OV-RDT” หวังเป็นวิธีสำคัญช่วยสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันโรค พร้อมเสนอขยายแผนยุทธศาสตร์ฯ ต่อเนื่องอีก 10 ปี มุ่งกำจัดปัญหา-ลดอัตราความชุกให้เหลือไม่เกิน 1% ตามเป้าเดิม
เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการประชุมคณะกรรมการสนับสนุนและติดตามการดําเนินงานเพื่อหยุดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ครั้งที่ 2/2567 ซึ่งมี นพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธาน โดยที่ประชุมได้พิจารณาร่างคำสั่งแต่งตั้ง ‘คณะทำงานพัฒนาแนวทางการคัดกรองและรักษาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี’ เพื่อทำหน้าที่พัฒนาและยกร่างแนวทางคัดกรองและรักษาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในแต่ละขั้นตอนให้เป็นแนวทางเดียวกัน สอดคล้องกับความก้าวหน้าของความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ
สำหรับการแต่งตั้งคณะทำงานฯ ชุดดังกล่าว เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2567 ซึ่งมีมติให้แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อวางแนวทางในการดำเนินงานการตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีด้วย ‘ชุดตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับแบบสำเร็จรูปชนิดเร็ว (OV-Rapid Diagnosis Test : OV-RDT) โดยใช้ปัสสาวะ’ พร้อมขยายการใช้ประโยชน์ของชุดตรวจฯ ให้กว้างขวางมากขึ้น เพื่อสนับสนุนการดำเนินการหยุดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี
นพ.วิชัย เปิดเผยว่า ชุดตรวจ OV-RDT โดยใช้ปัสสาวะ ถือเป็นนวัตกรรมการตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับที่ง่าย และสะดวกกว่าการตรวจคัดกรองรูปแบบเดิมที่ใช้อุจจาระ จึงเชื่อว่าจะเป็นจุดพลิกผันสำคัญต่อการควบคุมโรคมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาด้านสุขภาพที่สำคัญของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน โดยปัจจุบันทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้พิจารณาให้เป็นสิทธิประโยชน์ในการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง ที่จะมีการกระจายไปยังหน่วยบริการเพื่อให้เกิดการคัดกรองที่ครอบคลุมต่อไป
นพ.วิชัย กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามการกระจายชุดตรวจ OV-RDT ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดกลุ่มเสี่ยงที่จะตรวจคัดกรอง ระบบบริหารจัดการผู้ป่วยภายหลังการตรวจคัดกรอง การเข้าสู่ระบบการรักษา รวมไปถึงประเด็นด้านการควบคุมคุณภาพมาตรฐาน กำลังการผลิต และราคาของชุดตรวจ เป็นต้น ทางคณะกรรมการฯ จึงเห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ ที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ องค์การเภสัชกรรม สถาบันวิชาการ สปสช. ฯลฯ มาร่วมวางแนวทางในการดำเนินงานต่อไป
"พยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี หากตรวจพบเร็ว รักษาเร็ว ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยหายดีได้ การกระจายชุดตรวจนี้จึงเป็นโอกาสที่เราจะควบคุมโรคได้ดีขึ้น และสามารถบรรลุเป้าหมายในการยุติปัญหานี้ได้สำเร็จ” นพ.วิชัย กล่าว
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ยังได้มีการพิจารณาถึงการทบทวนเพื่อจัดทำ ‘แผนยุทธศาสตร์กำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี’ ฉบับใหม่ ซึ่งกองโรคติดต่อทั่วไป สธ. เตรียมที่จะจัดทำขึ้นหลังจาก ‘แผนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2559-2568’ ฉบับเดิมใกล้ครบกำหนด โดยที่ประชุมได้มีข้อเสนอในเบื้องต้นให้มีการดำเนินแผนยุทธศาสตร์ฯ ต่อเนื่องไปอีก 10 ปี พร้อมยังคงเป้าหมายในการลดอัตราความชุกของโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งในท่อน้ำดีในคนและในปลา ให้เหลือไม่เกินร้อยละ 1 เนื่องจากผลการดำเนินงานล่าสุดถึงปี 2566 ยังคงมีตัวเลขอยู่ที่ร้อยละ 3.22
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ยังได้ร่วมรับทราบถึงผลการประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ที่กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ได้มีการจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 พ.ค. 2567 โดยมีบุคลากรที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 30 จังหวัดเสี่ยงสูง เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนปัญหา อุปสรรค รวมถึงข้อเสนอแนะการดำเนินงานกำจัดปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ตลอดจนแลกเปลี่ยนบทบาทของภาคีที่จะร่วมกันหนุนเสริมการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่
ด้าน นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการฯ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ควรจะมีการทำต่อไปคือการประเมินผลและรวบรวมตัวเลขให้ได้ ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราพบผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีลดลงเท่าไร หรือเจอในระยะไหน สัดส่วนที่เสียชีวิตลดลงอย่างไร เพื่อเป็นประโยชน์กับการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงในส่วนของการตรวจคัดกรองเอง ก็จะต้องมีการกำหนดให้ชัดเจนระหว่างการตรวจพบทางปัสสาวะ อุจจาระ หรือการ Ultrasound ว่าจะมีวิธีการดำเนินการต่ออย่างไร
“การตรวจในแต่ละประเภทยังให้ผลที่แตกต่างกันอยู่มาก หากจะบอกว่าทำไมเมื่อตรวจพบแล้วไม่เข้าสู่ขั้นตอนการรักษาเป็น Standing Order ให้ยา Praziquantel (พราซิควอนเทล) ไปเลย ปัญหาคือภาระในการจัดหายาจะไปอยู่ตรงไหน รวมถึงเรื่องของผลข้างเคียงจากการให้ยานั้นมีมากหรือน้อยอย่างไร เรื่องพวกนี้เป็นสิ่งที่เราต้องมาทบทวนกันต่อไป อยากทำข้อมูลตรงนี้ให้ชัดเจน เพื่อให้เกิด Guideline ที่สมบูรณ์แบบได้ต่อไป” นพ.ภาณุมาศ ระบุ