หวังอนาคต ‘วัด’ มีส่วนจัดบริการสุขภาพ ร่วมดูแลผู้ป่วยระยะท้าย-หนุน ‘สถานชีวาภิบาล’ สอดรับภารกิจ ‘ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วงถกย่อยสมัชชาสุขภาพฯ ร่วมหารือบทบาท “พุทธศาสนา” กับการดูแลสุขภาวะระยะท้ายภายใต้นโยบาย “สถานชีวาภิบาล” เผยสอดคล้องตรงกันกับการเดินหน้า “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติฯ” ภาคีร่วมมองภาพ “วัด” ยุคถัดไปมีส่วนจัดบริการสุขภาพ สามารถให้การดูแลประคับประคอง พร้อมเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของสังคม

เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2566 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดเวทีเสวนาการจัดบริการการดูแลแบบประคับประคองและระยะท้ายของสถานชีวาภิบาลโดยองค์กรพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งภายในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 พ.ศ. 2566 ที่ ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการ คอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
 

สถานชีวาภิบาล


พระเทพเวที, รศ.ดร. (พล อาภากโร ป.ธ.9) รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เปิดเผยว่า แนวคิดการดำเนินงานนโยบายสถานชีวาภิบาล นับว่ามีความสอดคล้องกันพอดีกับความก้าวหน้าของโครงสร้างต่างๆ ที่มีมาเป็นลำดับ นับตั้งแต่การประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 4M คือ
1. Man มีการฝึกอบรมพระคิลานุปัฏฐาก หรือพระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด (อสว.)
2. Management มีการวางระบบสร้างความรู้ให้พระสงฆ์สามารถดูแลรักษาสุขภาพตนเองได้ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย รวมทั้งเป็นแบบอย่างของสังคมในเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพ 

3. Material โครงสร้างการสาธารณสงเคราะห์และสาธารณูปการ ซึ่งคณะสงฆ์กำลังปฏิรูปกิจการพุทธศาสนา การทำสถานที่วัดให้เป็น 5ส คือ สะสาง, สะดวก, สะอาด, สร้างมาตรฐาน และสร้างวินัย
4. Money เมื่อมีโครงการ นโยบายต่างๆ ที่จะมีงบประมาณเข้ามาร่วมสนับสนุนเพิ่มเติม ซึ่งทั้งหมดนี้เมื่อมีแนวคิดของสถานชีวาภิบาลเข้ามาแล้ว จึงเป็นเรื่องที่เข้ามาสอดคล้องกันได้พอดี

 

พระเทพเวที


พระเทพเวที กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่จะต้องพึงตระหนักเสมอ เมื่อให้พระเข้ามามีบทบาทในการดูแลสุขภาพเพิ่มมากขึ้นแล้ว คืออย่างไรก็ตาม พระเองก็ไม่ใช่นักวิชาชีพ ที่จะมีความรู้ความเชี่ยวชาญและสามารถปฏิบัติงานทดแทนบุคลากรทางวิชาชีพได้ จึงต้องรู้ว่าพระควรจะดูแลผู้ป่วยได้ระดับไหนอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งว่าพระไปแย่งงานสุขภาพ หรือเป็นเจ้าของสถานชีวาภิบาลเหล่านี้เสียเอง

“หากแบ่งงานเป็น 4 มิติสุขภาพ คือกาย จิต สังคม ปัญญา คนไข้ก็ต้องไปรักษาทางกายที่โรงพยาบาลก่อน หากไม่ไหวจึงกลับมาสู่การดูแลในสถานชีวาภิบาล โดยบทบาทความเชี่ยวชาญของพระคิลานุปัฏฐาก หรือพระคิลานธรรม ก็อาจมีส่วนช่วยเติมการดูแลในด้านจิตใจและปัญญา” พระเทพเวที กล่าว

พญ.เดือนเพ็ญ ห่อรัตนาเรือง กรรมการและเลขานุการร่วม กรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขาชีวาภิบาล กล่าวว่า การเข้ามาของนโยบายสถานชีวาภิบาลของรัฐบาล นับเป็นโอกาสที่เหมาะสมและสอดรับกับแนวทางการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยระยะท้าย ซึ่งจะทำให้เกิดระบบการดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงและผู้ป่วยระยะท้ายอย่างมีคุณภาพตลอดสายธาร นับตั้งแต่การดูแลในโรงพยาบาล ไปจนถึงการดูแลที่บ้านเมื่อเข้าสู่ช่วงชีวิตระยะท้าย อย่างไรก็ตามในกลุ่มผู้ป่วยบางส่วนที่อาจไม่สามารถรับการดูแลที่บ้านได้ หรือกลุ่มของพระสงฆ์ที่ไม่ได้พำนักที่บ้านแล้ว สถานชีวาภิบาลในวัดก็จะเป็นสถานที่ดูแลในช่วงสุดท้ายของชีวิต
 

เดือนเพ็ญ ห่อรัตนาเรือง


พญ.เดือนเพ็ญ กล่าวว่า เมื่อต่อไปวัดจะมีบทบาทในการเป็นสถานที่ดูแล ก็จะต้องมีองค์ประกอบของบุคคลผู้ดูแลที่สำคัญอย่างพระคิลานุปัฏฐาก เสมือนกับเป็น Caregiver ช่วยดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิง ในขณะเดียวกันก็ยังจะมีบุคลากรด้านสาธารณสุขที่ยังลงพื้นที่ไปร่วมดูแลด้วยเช่นกัน แต่สิ่งสำคัญที่เป็นเป้าหมายสูงสุดตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 คือการให้ประชาชนทุกคนได้มีสิทธิในการเลือกที่จะได้รับการดูแลในระยะท้ายได้ ตามความประสงค์ของตนเองที่ได้แสดงเจตนาเอาไว้

ขณะที่ น.ส.นงลักษณ์ ยอดมงคล ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในบทบาทของ สปสช. แม้จะมีภารกิจหลักที่มุ่งเน้นการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) แต่ก็ยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบบริการ ชุดสิทธิประโยชน์ รวมทั้งการยกระดับขีดความสามารถของภาคส่วนต่างๆ ในการเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนระบบบริการสุขภาพ ผ่านกลไกต่างๆ อย่างกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) เป็นต้น
 

นงลักษณ์ ยอดมงคล


“ในส่วนของการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย หรือการดูแลแบบประคับประคอง สปสช. ไม่ได้สนับสนุนงบประมาณไปที่หน่วยบริการอย่างเดียวเท่านั้น แต่ในวันนี้เราก็พยายามที่จะหนุนเสริมองค์กรพระพุทธศาสนา รวมถึงองค์กรอื่นๆ ที่มีความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน เครือข่ายวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือภาคประชาชนในพื้นที่ มาเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมจัดบริการสุขภาพ ทั้งการส่งเสริม รักษา ฟื้นฟู ตลอดจนการดูแลประคับประคอง โดยเป็นไปตามมาตรา 3 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545” น.ส.นงลักษณ์ กล่าว

ด้าน นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 5-6 ปีของการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 ภายใต้ความร่วมมือของภาคีภาคส่วนต่างๆ ทั้งด้านศาสนา สุขภาพ การศึกษา ฯลฯ จนกระทั่งได้มีการทบทวนและปรับปรุงเนื้อหาธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ ฉบับใหม่ที่ประกาศใช้ล่าสุดในปี 2566 นี้ ภาพที่เห็นการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจนคือสิทธิด้านสุขภาพของพระสงฆ์ จากเดิมที่เคยเป็นช่องว่าง ปัจจุบันได้รับการดูแลที่ดีขึ้นจนทัดเทียมกับฆราวาสทั่วไป
 

สุทธิพงษ์ วสุโสภาพล


ทั้งนี้ มีผลการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น การตรวจสอบสิทธิพระภิกษุและสามเณรเพื่อเข้ารับบริการสาธารณสุข มากกว่า 1.6 แสนรูป มีการตรวจคัดกรองสุขภาพพระภิกษุและสามเณรกว่า 8 หมื่นรูป มีความร่วมมือจับคู่ 1 วัด 1 โรงพยาบาลเพื่อดูแลสุขภาพพระสงฆ์ไปได้กว่า 9,600 แห่ง หรือคิดเป็นมากกว่า 90% มีพระคิลานุปัฏฐาก จำนวนกว่า 1.3 หมื่นรูป มีวัดส่งเสริมสุขภาพที่ผ่านเกณฑ์การประเมินรับรองกว่า 1.8 หมื่นแห่ง มีวัดร่วมพัฒนาชุมชนคุณธรรม จำนวนกว่า 4,900 แห่ง เป็นต้น

“ต่อไปเมื่อมีสถานชีวาภิบาล ก็จะเป็นอีกหนึ่งบทบาทขององค์กรสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม ตามหมวด 1 ของธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ โดยเฉพาะการสร้างเสริมสุขภาวะระยะท้ายของชีวิต รวมทั้งเรื่องของสิทธิการแสดงเจตนาว่าจะรับบริการสุขภาพ หรือต้องการการดูแลอย่างไรเมื่อวาระสุดท้ายของชีวิตมาถึง ซึ่งในอนาคตผู้คนจะสามารถทำหนังสือแสดงเจตนานี้ได้ทั้งที่โรงพยาบาล กระทั่งวัด โดยเราจะมีภาคส่วนที่เข้ามาสานพลังเป็นภาคี เพื่อร่วมขับเคลื่อนงานนี้กันได้มากขึ้น” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.

โทร. 02-8329141

 

รูปภาพ
สถานชีวาภิบาล