- 147 views
‘ความปลอดภัยของเมืองท่องเที่ยว’ เป็นหนึ่งในนโยบายเรือธงของรัฐบาลปัจจุบัน ภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว. คลัง และยังสอดคล้องกับเป้าหมายของ นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว รมว. สาธารณสุข (สธ.) ที่ต้องการขับเคลื่อนให้จังหวัดท่องเที่ยวปลอดจาก ‘อุบัติเหตุ’ และ ‘โรค’ พร้อมทั้งจัดตั้งพื้นที่นำร่องที่ จ. ภูเก็ต ภายใต้โครงการ ‘Safety Phuket Island Sandbox’
แน่นอนว่า เมื่อพูดถึงจังหวัดท่องเที่ยวในประเทศไทยของคนทั้งโลก ชื่อของ ‘จ. ภูเก็ต’ จะปรากฏขึ้นมาเป็นลำดับแรกๆ โดยก่อนที่โควิด-19 จะแพร่ระบาด จ. ภูเก็ต สามารถทำรายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึง 4.4 แสนล้านบาท และในปี 2566 จ. ภูเก็ต ยังก้าวเข้าสู่การปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ครบทั้งหมด 21 แห่ง
เมื่อโฟกัสมาที่ อบจ.ภูเก็ต พบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แห่งนี้มีต้นทุนทางด้านแนวคิดการพัฒนาที่ดี มีการมุ่งเน้นไปที่การจัดทีมสหสาขาวิชาชีพ อันประกอบด้วย แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล นักกายภาพ นักวิชาการสาธารณสุข แพทย์แผนไทย ฯลฯ ไปสนับสนุนการดูแลรักษาของ รพ.สต. ซึ่งถือเป็น ‘ด่านหน้า’ การให้บริการสุขภาพในพื้นที่
นั่นทำให้ภาพของรัฐบาล สธ. และ อบจ.ภูเก็ต สอดรับกันเป็นเส้นเรื่องเดียวกัน ช่วยหนุนเสริมกันและกันเพื่อให้นโยบาย ‘ความปลอดภัยของเมืองท่องเที่ยว’ เกิดเป็นรูปธรรม
กัลยา วัฒนเกษมเสวี ผู้อำนวยการกองสาธารณสุข อบจ. ภูเก็ต เล่าว่า อบจ. ภูเก็ต พร้อมสนับสนุนทรัพยากรให้กับ รพ.สต. อย่างเต็มที่ และจะมีการจัดบริการเชิงรุกให้กับผู้ป่วยตามบริบทของปัญหาในพื้นที่ เช่น ผู้มีปัญหาในการเคลื่อนไหว ผู้ป่วยติดเตียง ตลอดจนการวางแผนจัดซื้อยาเอง ซึ่งเป็นรากฐานของโครงการ ‘อยู่ที่ไหนก็ใกล้หมอ’ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้านี้
“ถ้า รพ.สต. ไหนมีความพร้อมเราก็จะมีแพทย์หมุนเวียนไปทุก 5 วัน โดยทำงานร่วมกับศูนย์การแพทย์ ของโรงพยาบาล อบจ. ภูเก็ต เพื่อลดความแออัดและแบ่งเบาภาระงานจากโรงพยาบาลใหญ่ในจังหวัด รวมถึงให้แพทย์มามีบทบาทในการให้บริการระดับปฐมภูมิ โดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รูปแบบของการจัดบริการเราเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง ให้ประชาชนเป็นคนกำหนดว่าเขาอยากได้อะไร” กัลยา ระบุ
ไม่เพียงเท่านั้น อบจ.ภูเก็ต ยังได้มุ่งควบคุมโรคระบาด ป้องกันปัญหาอุบัติเหตุทั้งทางบกและทางน้ำ โดยในปี 2566 นี้ อบจ.ภูเก็ต ยังได้จัดซื้อเรือตรวจการณ์ 1 ลำ รวมไปถึงการยกระดับศักยภาพศูนย์บริการท่องเที่ยว อบจ.ภูเก็ต หรือ ศูนย์ไข่มุก สำหรับดูและช่วยเหลือประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ประสบอุบัติเหตุทางทะเลอีกด้วย
แรงสนับสนุนจาก อบจ. ภูเก็ต หลังรับโอนภารกิจ รพ.สต. มาบริหารจัดการ ได้พลิกโฉม รพ.สต. ครั้งใหญ่ และกำลังถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นกรณีศึกษา ภายใต้ “โครงการการศึกษาและพัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่ออภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่นภายใต้บริบทการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล” ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
ในโครงการนี้ ได้คัดเลือก รพ.สต. 2 แห่ง ประกอบด้วย รพ.สต.บ้านเกาะมะพร้าว และ รพ.สต.ราไวย์ ให้เป็นพื้นที่นำร่อง (Sandbox) เพื่อศึกษากลไกความร่วมมือระหว่าง อปท. กับหน่วยงานต่างๆ ใน จ. ภูเก็ต เพื่อต่อยอดจุดแข็งของแต่ละ รพ.สต. ตามบริบทและความต้องการของคนในพื้นที่ ซึ่งน่าสนใจว่ายังเป็นการสนับสนุนนโยบาย ‘ความปลอดภัยของเมืองท่องเที่ยว’ ด้วย
อย่างที่ รพ.สต.บ้านเกาะมะพร้าว ซึ่งได้เข้าร่วมกระบวนการกับ สช. และภาคี จนสามารถออกแบบแผนของพื้นที่เป็นร่างแผนปฏิบัติการการบริหารจัดการความเสี่ยงฉุกเฉินที่มีผลต่อสุขภาพ ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแบบยั่งยืนออกมาได้สำเร็จ โดยมีเป้าหมายคือการสร้าง ‘ระบบป้องกันความเสี่ยงโดยชุมชน’
พรเทพ เรืองเดช ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านเกาะมะพร้าว เล่าว่า จังหวะก้าวหลังจากนี้จะมีการดำเนินการต่อใน 5 ส่วน คือ 1. การประชุมออกแบบวางแผน และแผนงานระดับชุมชน รวมถึงส่งกลับข้อมูลเหล่านี้ให้ประชาชนรับรู้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น 2. จัดเวทีระดับภาคีเครือข่าย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น มูลนิธิ ผู้นำชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบลเกาแก้ว (อบต.เกาะแก้ว) อบจ.ภูเก็ต ฯลฯ เพื่อเติมเต็มในด้านการระดมทรัพยากร 3. การทบทวนถอดบทเรียนธรรมนูญสุขภาพที่มีอยู่ให้มีความสอดรับกับปัญหาสุขภาพปัจจุบันในพื้นที่ 4. การสร้างข้อบัญญัติในชุมชนเพื่อรองรับการเข้ามาในพื้นที่ของนักท่องเที่ยว และแรงงานต่างชาติ และ 5. การระดมทรัพยากรจากการทบทวนแก้ไขปัญหา
ทั้งหมดนี้เพื่อป้องกันและแก้ไข 4 ปัญหาที่ประชาชนในชุมชนสะท้อนออกมา ประกอบด้วย 1. ยาเสพติด/ผู้ป่วยจิตเวช 2. เหตุอาชญากรรมและความปลอดภัยในทรัพย์สิน 3. อุบัติเหตุทางถนน และ 4. ระบบส่งต่อผู้ป่วย
“ส่วนตัวผมอยากให้คัดเลือกคนในชุมชนมาเป็นแกนหลักในการดำเนินการ เพราะทุกคนในพื้นที่มีศักยภาพ มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน อีกทั้งจะทำให้การจัดการแก้ไขปัญหาในครั้งนี้มีความยั่งยืนด้วย ให้คนในชุมชนผู้ปฏิบัติหน้าที่รู้สึกภาคภูมิใจว่าสิ่งที่ทำนั้นส่งผลเป็นรูปธรรมจริงๆ สำหรับทั้งตัวผู้ปฏิบัติงานและผู้คนในชุมชน” ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านเกาะมะพร้าว ระบุ
เช่นเดียวกับที่ รพ.สต.ราไวย์ ที่ได้จัดทำแผนปฏิบัติการฯ จนกำหนดเป็นกิจกรรมเบื้องต้นได้ โดยจะมุ่งเน้นไปที่การ ‘ยกระดับบริการทันตกรรม’ ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนหยิบยกขึ้นมา แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. การให้บริการทันตกรรมนอกเวลาราชการเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการ โดยเฉพาะผู้ประกันตน รวมถึงทำ MOU กับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ระดับจังหวัด ให้หน่วยบริการสามารถเบิกได้ โดยไม่ต้องสำรองจ่าย 2. ส่งเสริมบริการด้านสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยจัดอบรมภาคีเครือข่าย เช่น ครู อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผู้ใหญ่ ฯลฯ ในการให้ความรู้ด้านสุขภาพช่องปากมากขึ้น
“ภายหลังจาก MOU หน่วยงานในพื้นที่แล้ว จะมีการพูดคุยอีกครั้งเพื่อความชัดเจนในวันที่ 21 (พ.ย 2566) ซึ่งคิดว่าตอนนั้นน่าจะชัดแล้วว่าจะแบ่งงานกันยังไง ใครทำอะไร” อุไร สมัครการ ผู้อำนวยการ รพ.สต.ราไวย์ เผย
สำหรับเป้าหมายทั้ง 2 ของร่างแผนปฏิบัติการฯ มีหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่คอยเชื่อมประสานระหว่าง รพ.สต. กับภาคส่วนต่างๆ คือ อบต.เกาะแก้ว และ เทศบาลตำบลราไวย์ ซึ่งก็พร้อมที่จะสนับสนุนเต็มที่ โดย ก้องเกียรติ จิตต์เกื้อ นายก อบต.เกาะแก้ว กล่าวว่า แม้ อบต. จะไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาหรือมีหน้าที่กำกับดูแลทางสายงานโดยตรง แต่อะไรที่ รพ.สต. ประสานมา ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ หรืองบประมาณ ตลอดจนอะไรก็ตามที่สามารถช่วยได้ก็พร้อมจะช่วยเสมอ
ตัวอย่างเช่น ที่ผ่านมาเรื่องการส่งต่อผู้ป่วยที่เป็นหนึ่งในอุปสรรคในการส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาลในตัวเมืองก็ได้ปรับปรุงท่าเรือให้เอื้อต่อการลำเลียงมากขึ้น รวมถึงเพิ่มรถพยาบาลฉุกเฉิน รองรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเมื่อถึงฝั่ง
ด้าน อรุณ โสฬส นายกเทศมนตรีตำบลราไวย์ ก็บอกเช่นกันว่า ทางเทศบาลมีการทำงานร่วมกับ รพ.สต.ราไวย์ มาโดยตลอด กระทั่งหลังถ่ายโอนมาแล้ว ก็ได้มีการประสานไปที่ อบจ. ไปจนถึงการเชื่อมต่อกับภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อลดขั้นตอนในการดำเนินงานต่างๆ ของทางราชการให้น้อยลง และประชาชนได้รับบริการสุขภาพที่เร็วยิ่งขึ้น เพราะบางปัญหาเกี่ยวกับความเป็นความตายไม่สามารถรอได้
“ปฏิเสธไม่ได้ว่าการดูแลสุขภาพพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เราจะต้องทำร่วมกันระหว่าง รพ.สต. เทศบาล อบจ. อสม. เอกชนและภาคส่วนอื่นๆ อย่างหนึ่งในความสำเร็จที่มาจากงบกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น ของ สปสช. ที่สนับสนุนงบฯ มาที่ท้องถิ่นให้ดำเนินโครงการด้านการดูแลสุขภาพ ก็ได้ชุมชนและกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ที่ตื่นตัวช่วยกันทำเรื่องของบประมาณไปใช้ในการดูแลคนในจังหวัด และแก้ไขปัญทางสุขภาพในพื้นที่” นายกเทศมนตรีตำบลราไวย์ ระบุ
ขณะที่ เจริญ ถิ่นเกาะแก้ว สมัชชาสุขภาพจังหวัดภูเก็ต ผู้ขับเคลื่อนให้เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วม อธิบายว่า ช่วงที่ผ่านมาทั้ง 2 พื้นที่ แสดงให้เห็นถึงการสร้างความร่วมมือและความสำคัญของกระบวนการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการให้บริการสุขภาพของพื้นที่อย่างชัดเจน ที่สำคัญคือทำให้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็น อบต. สมาชิกสภา อบต. ผู้นำท้องถิ่น ประชาชนที่มารับบริการที่ รพ.สต. ได้สะท้อนความต้องการของตนเองจริงๆ และเกิดความรู้สึกร่วมในการเป็นเจ้าของระบบสุขภาพ
นอกจากนี้ ด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วมในครั้งนี้ภายใต้โครงการวิจัย ยังทำให้เกิดผลผลิต คือ ร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย และการขับเน้นให้เห็นถึงช่องทางที่จะขยับจากการจัดการปัญหาจากพื้นที่นำร่องใน 2 รพ.สต. ให้ไปสู่ภาพใหญ่ระดับจังหวัด ซึ่งอาจทำให้เกิดโครงสร้างบทบาทในการให้บริการสุขภาพท้องถิ่น ที่ทุกภาคีเครือข่ายทั้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) โรงพยาบาลต่างๆ รพ.สต. ฯลฯ มามีส่วนร่วมมากขึ้น
“สมัชชาสุขภาพภูเก็ตเราได้ใช้กระบวนการของการมีส่วนร่วมมาเป็นประเด็นหลักในการขับเคลื่อนและสนับสนุนในครั้งนี้ และเป็นโอกาสดีที่มีสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นภาควิชากการคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ได้เข้ามามีบทบาทและทำงานร่วมกัน” เจริญ กล่าว